‘พญ.ธิดากานต์ รุจิพัฒนกุล’ สื่อสารเรื่องสุขภาพแบบเข้าใจง่ายผ่านโซเชียลมีเดีย

พญ.ธิดากานต์ รุจิพัฒนกุล หรือ หมอผิง นับว่าเป็นอีกหนึ่งอินฟลูเอนเซอร์ในวงการสุขภาพบ้านเรา เพราะนอกจากหน้าที่หลักอย่างการเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในด้านศาสตร์ชะลอวัยแล้ว ด้วยความหลงใหลในตัวหนังสือ เธอจึงสวมอีกหนึ่งบทบาทในฐานะนักสื่อสารมวลชนที่เลือกใช้โซเชียลมีเดียเป็นช่องทางในการส่งต่อวิชาความรู้ให้แก่สาธารณชนในวงกว้าง การเกิดขึ้นของแพลทฟอร์มออนไลน์ของเธอ ไม่ว่าจะเป็นทวิตเตอร์และอินสตาแกรม @thidakarn รวมทั้งเพจเฟซบุ๊คและสำนักพิมพ์ในชื่อเดียวกันอย่าง Pleasehealth ซึ่งเป็นทั้งไบเบิ้ลและแหล่งข้อมูลด้านสุขภาพที่เชื่อถือได้มากที่สุด ณ เวลานี้ มีจุดเริ่มต้น พัฒนาการ และปลายทางตลอดจนตัวตนและทัศนคติของคุณหมอ ทั้งในแง่สุขภาพ สถานการณ์ในโลกของข้อมูลข่าวสาร ตลอดจนการทำงานให้แก่สังคมนั้นเป็นอย่างไร บทสนทนาหลังจากนี้ จะตอบคำถามทั้งหมดให้ได้รู้กัน

แพลทฟอร์มสุขภาพฉบับย่อผ่านทวิตเตอร์ @thidakarn

“จำได้ว่า หมอเริ่มต้นให้ความรู้สุขภาพตอนที่ทวิตเตอร์เริ่มฮิตใหม่ๆ ซึ่งช่วงแรกก็กะเล่นเพื่อตามข่าวสาร ไม่ค่อยได้ทวีต แต่จะเน้นไปที่การฟอลโล่มากกว่า แต่หลังจากที่มีคนไข้ของหมอเริ่มเข้ามาทวีตหาเรา สอบถามเกี่ยวกับเรื่องสุขภาพต่างๆ ทำให้เริ่มมีคนเห็นว่าเราเป็นหมอ แล้วก็เล่นทวิตเตอร์ด้วย ซึ่งช่วงนั้น แพลทฟอร์มนี้อาจยังไม่มีคนที่เป็นหมอมาเล่นจริงๆ จังๆ เมื่อเริ่มมีคนถามและหมอตอบไป จึงเลยเริ่มมีคนตามเพิ่มขึ้น ซึ่งหมอก็เขียนหนังสืออยู่แล้ว เลยคิดว่า จริงๆ ถ้าเราเขียนหนังสือได้ แล้วเรามีความรู้เรื่องสุขภาพที่อยากจะสื่อให้คน ทำไมจะต้องจำกัดอยู่แค่ในหนังสือล่ะ ทำไมเราไม่ใช้โซเชียลมีเดียเป็นอีกเครื่องมือในการให้ความรู้ไปด้วย ซึ่งพอเวลาเราเห็นข่าวสุขภาพที่น่าสนใจหรืออ่านงานวิจัยอะไรที่มีประโยชน์ จึงลองทวีตดู ผลปรากฏว่าก็มีคนชอบสไตล์นี้เหมือนกัน นี่จึงเป็นที่มาของการให้ความรู้ด้านสุขภาพที่เกิดขึ้น”


สร้างคู่มือความรู้ด้านสุขภาพที่ถูกต้องแบบรอบด้านแก่ประชาชน

หากคุณลองกดค้นหาในแพลทฟอร์มอย่างทวิตเตอร์ @thidakarn คุณก็จะพบกับความรู้ต่างๆ ที่ครอบคลุมตั้งแต่ความรู้จากวารสารทางการแพทย์ เรื่องข่าวสารสุขภาพจากต่างประเทศ ความเชื่อและความเข้าใจผิดๆ ในสังคม ที่คุณหมอจะจับมาย่อย จากนั้นจึงเล่าสู่กันฟังด้วยภาษาและเครื่องมือที่ง่ายขึ้น

“หมอพยายามย่อยข้อมูลให้กระชับ อ่านง่าย และจบภายใน 140 ตัวอักษร
หรือหากเป็นข้อมูลที่ย่อยมาแล้วหมอจะเลือกมาจากแหล่งที่มาที่เชื่อถือได้
เช่น เว็บไซต์ขององค์การอนามัยโลก ไปจนถึง public health ของ Harvard”

“โดยปรับจากภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทยแล้วก็ให้เครดิตข้อมูลนั้นๆ หรือว่าอาจจะเพิ่มข้อมูลที่คิดว่าเป็นจะเป็นประโยชน์หรือเป็นสิ่งที่คนไทยน่าจะสนใจเพิ่มเข้าไปด้วย บางครั้งก็จะมีการตอบปัญหาเรื่องของกระแสสังคมว่าเขาคุยอะไร เพราะว่าเราก็เป็นคนทั่วไปที่อยากคุยกับเขาในเรื่องที่อยู่ในความสนใจของสังคมด้วยเหมือนกัน เพราะว่าหมอก็มองว่าจริงๆ แล้ว คนเป็นหมอไม่ได้จำเป็นต้องมีด้านเดียว เราเองก็มีด้านอื่นๆ ด้วย”

รูปแบบความรู้ที่เลือกให้สอดคล้องผ่านแพลตฟอร์มที่แตกต่าง

“แต่ละแพลตฟอร์มที่หมอเลือกจะนำเสนอข้อมูลและความรู้ที่แตกต่างกัน ทั้งในเชิงเนื้อหาและรูปแบบเลยนะ สำหรับทวิตเตอร์ หมอจะไม่มีการแพลนอะไรเป็นกิจจะลักษณะมากนัก เหมือนช่องทางนี้จะเป็นแอคเคาน์ส่วนตัวของเราเลย เล่นอยู่คนเดียว ซึ่งสามารถทำไปเรื่อยๆ ของเราคนเดียวได้ หลักๆ ก็จะทวีตในเชิงทฤษฎีเป็นส่วนใหญ่ พอขยับมาที่อินสตาแกรม หมอเลือกใช้แพลทฟอร์มนี้ในการสื่อสารเรื่องของอาหารสุขภาพ ซึ่งหมอเชื่อว่าถ้าเราทำในเชิงปฏิบัติให้คนเห็นได้ด้วยก็น่าจะดี แล้วประกอบกับหมอเองก็ชอบทำอาหาร เลยลองทำแล้วลงในอินตาแกรม เป็นอาหารเช้าของเรา จุดประสงค์แรกเริ่มเลยคือแค่อยากให้คนเห็นความสำคัญของอาหารเช้า พอทำไปทำมาก็สนุกขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นกิจวัตรของเราไปแล้ว หมอพยายามทำอาหารเช้าในเมนูที่ไม่ค่อยซ้ำกันลง เพื่อให้คนเข้ามาดูเห็นได้ว่าอาหารเช้ามีหลากหลายได้นะ ซึ่งถ้าเขาได้เห็นก็สามารถนำไปทำตามหรือประยุกต์ตามที่เขาสามารถทำได้เหมือนกัน”

PleasehealthBooks เพจที่ว่าด้วยการเล่าเรื่องยากให้ง่าย 

“เนื่องจากข้อมูลในทวิตเตอร์มีความยาวที่จำกัด แต่บางเรื่อง บางประเด็น เราอยากจะเล่ายาวๆ หรือบางเรื่องหากสามารถย่อยข้อมูลผ่านสื่อที่สื่อสารออกไปได้ง่าย คนก็จะเข้าใจและซึมซับความรู้เหล่านี้ได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะในการสื่อสารความรู้ยากๆ เนื้อหาแนวนี้จึงถูกเล่าเรื่องผ่านเฟซบุ๊คกับเพจที่มีชื่อว่า PleasehealthBooks อย่างงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ก็จะมีการนำเอาอินโฟกราฟิกหรือโมชั่นกราฟิกเข้ามาช่วย โดยหัวข้อที่ผ่านมาก็มีอยู่หลายๆ เรื่องด้วยกันนะคะ ล่าสุดหมอเพิ่งเล่าเกี่ยวกับเรื่องของไขมันประเภทต่างๆ ซึ่งมีการวิจัยว่า จริงๆ แล้วไขมันประเภทไหนแน่ที่ดีกับสุขภาพ น้ำมันหมูดีกว่าน้ำมันพืชจริงไหม? อะไรดีกว่ากันแน่? ซึ่งก็มีงานวิจัยหนึ่งที่เปิดเผยว่า ถ้าระหว่างไขมันทรานส์ ไขมันไม่อิ่มตัวเชิงขยาย ไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยว ไขมันอิ่มตัว อะไรกันแน่ที่ดีกับสุขภาพในระยะยาว เป็นกราฟและเป็นงานวิจัยภาษาอังกฤษค่อนข้างยาก หมอก็ทำเป็นกราฟง่ายๆ และย่อยออกมาให้อ่านและทำความเข้าใจง่ายขึ้น ซึ่งเรื่องไขมันก็สรุปนะว่าไขมันทุกชนิดไม่ใช่ว่าดีหรือแย่ไปเสียหมด เพียงแต่เราต้องรู้จักแยกประเภท แล้วก็รู้จักปริมาณที่เหมาะสม ไขมันอิ่มตัวทานได้แต่ต้องมีปริมาณที่พอเหมาะ ไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยวจะดี กินได้ไม่ต้องกลัว หรืออย่างเรื่องไข่ที่ยังมีคนเข้าใจและเถียงกันเยอะว่า ตกลงว่าไข่กินได้หรือไม่ได้ ไข่เป็นผู้ร้ายหรือพระเอกกันแน่? ซึ่งไข่ไม่ได้แย่แต่จะอยู่ที่ปริมาณการกินที่เหมาะสมและวิธีการกินด้วย เช่น ถ้าเราเปรียบเทียบระหว่างไข่ต้มกับไข่ดาว ก็คนละเรื่องกัน ถูกไหม ฉะนั้นถ้าคุณบอกว่าคุณกินไข่ทุกวัน แต่คุณกินไข่ดาวทอดทุกวัน ก็ต่างกับคุณกินไข่ต้มทุกวันแล้ว เพราะฉะนั้น ทุกเรื่องจะอยู่กับหลายๆ บริบท แต่ทั้งหมดทั้งมวลไม่ว่าเรื่องอะไรก็ตาม การอยู่ในทางสายกลางคือดีที่สุด”

ประเทศไทยกับอุปสรรคในการเข้าถึงข้อมูลสุขภาพ

“จริงๆ หมอว่าอุปสรรคหลักเลยคือเราอาจยังมีแหล่งข้อมูลให้อ้างอิงไม่มากพอ ตอนนี้คนรู้แล้วล่ะว่าในอินเตอร์เน็ตหาความรู้ได้ แต่เมื่อเขาจะเสิร์ชหาแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้อย่างภาครัฐหรือว่ามหาวิทยาลัยอาจจะไม่ขึ้นในลำดับต้นๆ ในขณะที่เพจขายสินค้าหรือชุมชนออนไลน์อาจเด้งขึ้นมาก่อน ซึ่งความรู้ในช่องทางเหล่านี้ไม่ได้แปลว่าผิดท้ังหมด แต่จะมีถูกบ้างผิดบ้าง เป็นความรู้แบบบอกต่อๆ กันมา ฟังเขาเล่ามา นี่จึงทำให้การได้รับและส่งต่อข้อมูลที่ถูกต้องมีเปอร์เซ็นต์น้อยลง”

“ตัวอย่างที่เห็นได้คือข้อมูลที่ผิด แต่เป็นข้อมูลที่ฟังหรืออ่านแล้วสนุกเพลิดเพลิน
ก็จะถูกแชร์ไปไกลและกว้างกว่าข้อมูลที่ถูกต้องและเชื่อถือได้”

“ซึ่งบางครั้งไม่สนุกหรือหวือหวาเท่า เช่น การรับประทานตามกรุ๊ปเลือด ซึ่งมาจากหนังสือฝรั่งเล่มหนึ่ง ที่เขียนโดยผู้ให้บริการทางการแพทย์ แต่ไม่ได้เป็นแพทย์นะคะ สิ่งที่เขาเขียนมาจากประสบการณ์ส่วนตัว แต่ในทางวิทยาศาสตร์เราเรียกข้อมูลเหล่านี้ว่าเป็นหลักฐานแบบ anecdotal evidence คือเป็นหลักฐานที่มาจากประสบการณ์ส่วนตัว แบบที่ฉันเคยพบ แล้วฉันก็เล่าให้ฟังนะ ซึ่งหลักฐานแบบนี้ไม่ได้ถือว่าเป็นหลักฐานที่เชื่อถือได้ ขณะเดียวกันก็เคยมีคนที่พยายามทำงานวิจัยเพื่อที่จะหาว่ากรุ๊ปเลือดและอาหารมีความสัมพันธ์กันจริงไหม? ซึ่งก็ไม่พบความสัมพันธ์ใดๆ เราจึงสรุปว่าถ้าจากงานวิจัยเชิงที่ถือว่ามีนัยสำคัญทางสถิติเราไม่พบความสัมพันธ์ระหว่างกรุ๊ปเลือดกับสุขภาพ มีแค่ประสบการณ์ส่วนตัวของคนหนึ่งที่เขียนหนังสือเท่านั้น”

สร้างวัฒนธรรมการ ‘ตรวจสอบ’ เพื่อช่วยกลั่นกรองความผิดพลาด

“วัฒนธรรมที่อยากให้ทำกันและหมอคิดว่าจะช่วยได้ก็คือ เวลาเราจะแชร์ข้อมูลหรืออะไรก็ตาม อันดับแรก – ตัวเราเองก็คงต้องตรวจสอบก่อนว่าเรากำลังแชร์จากแหล่งข้อมูลไหน สอง – จะดีมากเลยหากเราแปะแหล่งที่มาของความคิดหรือคำพูดของเรา หรืออะไรก็ตามแต่ สำหรับหมอเอง ทุกครั้งที่ทวีตก็จะมีการใส่แหล่งข้อมูลของต้นฉบับไว้ให้ทุกครั้งเพราะหมอก็รู้ว่าบางทีเราอาจจะอ่านและย่อยผิดก็ได้ ซึ่งหากคนอ่านเข้ามาอ่านพร้อมกับตรวจสอบข้อมูลไปด้วย ตัวเนื้อหานั้นก็จะถูกแก้ไขให้ถูกต้อง ซึ่งท้ายที่สุดประโยชน์ก็จะเกิดขึ้นกับคนอ่านทุกคน หรือว่าบางคนที่อยากไปอ่านต่อ เขาก็สามารถทำได้ หรือในเฟซบุ๊คเอง หมอก็พยายามบอกแหล่งอ้างอิงที่เป็นงานวิจัยจริงๆ ลงไปด้วย เพื่อให้คนที่อยากจะค้นคว้าต่อสามารถเข้าไปอ่านได้ ซึ่งหมอคิดว่าถ้าเวลาเราทำอย่างนี้ได้ น่าจะช่วยได้มาก”

เมื่อการใช้ชีวิตสัมพันธ์กับโรคของคนไทย

ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกระบุไว้ว่า ตลอดช่วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมา กลุ่มโรคไม่ติดต่อ (NCDs) เป็นสาเหตุการตายอันดับหนึ่งของคนไทย โดยมีคนไทยป่วยเป็น โรค NCDs ถึง 14 ล้านคน เสียชีวิตปีละกว่า 300,000 คน และคาดว่ามีแนวโน้มที่จะเพิ่มมากขึ้นในทุกๆ ปี และส่วนใหญ่เสียชีวิตก่อนอายุ 60 ปี

“กลุ่มโรค NCDs หรือโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของโรคเบาหวาน ความดัน หลอดเลือดหัวใจ คอลเลสเตอรอลสูง โรคเหล่านี้เกิดจากหลายปัจจัย ทั้งทางพันธุกรรมและการใช้ชีวิต ทีนี้เนื่องจากการใช้ชีวิตของคนไทยที่เปลี่ยนไปมากขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งในระยะหลัง เรารับวัฒนธรรมการกินแบบตะวันตกมากขึ้น นี่ทำให้คนไทยมีแนวโน้มที่จะมีปัญหาอ้วนลงพุงมากขึ้น แล้วโรคเหล่านี้จะเป็นแพ็คเกจที่มาด้วยกัน ในการรักษาหลายๆ โรคต้องยอมรับนะคะว่าช่วงเวลาที่มาเจอคุณหมอแค่แป๊บเดียว แต่ช่วงเวลาที่เหลือขึ้นอยู่กับว่าคุณจะใช้ชีวิตอย่างไร ทำตัวอย่างไร ตรงนี้สำคัญกว่า ซึ่งจริงๆ ก็ไม่ใช่เรื่องยากเลยนะคะ เพราะสุขภาพที่ดีคือเรื่องของอาหาร การออกกำลังกาย การพักผ่อนให้เพียงพอและมีคุณภาพ รวมถึงเลี่ยงปัจจัยก่อโรค ไม่ว่าจะบุหรี่ เหล้า ไม่เครียด เป็นเบสิคของการดูแลสุขภาพซึ่งหมอเชื่อว่าเราทุกคนรู้กันอยู่แล้ว ถ้าให้หมอแนะนำ วิธีการปรับตัวของคนไทยลองเริ่มต้นจากที่บ้าน จากตัวเองดู ซึ่งหากเราทำได้ นั่นแหละคือวิธีที่ยั่งยืนที่สุด”

การดูแลสุขภาพที่มีคุณภาพ ต้องไม่ฝืนธรรมชาติ

“หมอคิดว่าการดูแลสุขภาพต้องทำเป็นธรรมชาติของตัวเราเอง เพราะธรรมชาติของคนแต่ละคนไม่เหมือนกัน ทั้งพันธุกรรม ไลฟ์สไตล์ ความชอบ ถ้าเราฝืนไปทำแบบคนอื่นแต่ไม่ใช่แบบที่เราชอบ ก็ทำได้ไม่นาน การสุดโต่งทางใดทางหนึ่งมากเกินไป หมอคิดว่าเราจะหาความยั่งยืนได้ยาก ทั้งรูปแบบการกิน การพักผ่อน การออกกำลังกาย ก็ไม่ควรเยอะไปหรือน้อยไป แต่ควรจะเข้ากับชีวิตประจำวัน นิสัย ลักษณะทางกายภาพของเรา”

หลากหน้าที่กับการสมดุลชีวิตในวันนี้ของหมอผิง

“หมอทำงานเยอะก็จริง แต่ว่าทุกๆ งานเป็นงานที่เราชอบ อย่างการเป็นคุณหมอก็เป็นสิ่งที่เราเรียนมา ซึ่งตัวเนื้องานของหมอต้องยอมรับว่าเป็นสาขาวิชาที่ไม่ได้เครียดมาก ในส่วนของการเขียนหนังสือหรือการทำคอนเทนต์ต่างๆ ในโซเชียลมีเดียก็เป็นความฝันของหมอตั้งแต่เด็ก เพราะฉะนั้น ถึงเราจะทำนอกเวลางาน เช่น เรากลับจากโรงพยาบาลมากลางคืนแทนที่เราจะดูทีวี ก็มานั่งทำสิ่งเหล่านี้ ซึ่งไม่ได้รู้สึกว่ามันเป็นงานหรือว่าเครียด เหมือนจะเป็นงานอดิเรกของเราด้วยซ้ำ หรือแม้แต่อินสตาแกรมก็เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเรา ถึงเราจะไม่ถ่ายรูปลงอินสตาแกรม หมอก็จะทำอาหารเช้าดีๆ ให้ตัวเรากินอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น พอเราไม่ได้คิดว่าเป็นงานแต่เป็นสิ่งที่รัก ก็เลยไม่ได้รู้สึกว่าเหนื่อย แค่นี้เองค่ะ”

สร้างประโยชน์ = สร้างความสุข

ทุกวันนี้ ความสุขของคุณหมอเกิดขึ้นก็เมื่อได้ทำอะไรบางอย่าง และได้เห็นคนที่นำไปใช้เกิดประโยชน์กับพวกเขาได้จริง “อันนี้จะมีความสุขมากๆ เช่น เวลามีคนมาบอกว่า เขาเก็บคำตอบที่เราทวีตตอบในทวิตเตอร์ไว้ในมือถือและจะหยิบขึ้นมาอ่านทุกครั้งที่เขาเครียด นั่นทำให้หมอรู้สึกว่า เราคงได้ทำตัวเป็นประโยชน์กับสังคมนี้บ้างแล้วล่ะ”

ตามหาพรสวรรค์ สะสมพรแสวง เครื่องมือในการยกระดับคุณภาพสังคม

“ในความคิดของหมอ หมอเชื่อว่าทุกคนมีพรสวรรค์อะไรบางอย่างที่ติดตัวมานะ เพียงแต่ว่าบางคนอาจจะยังหาไม่เจอ สำหรับใครที่ยังไม่เจอ หมอก็แนะนำว่าให้ทดลองหลายๆ อย่าง ลองเรียนรู้ประสบการณ์ใหม่ๆ แล้วสุดท้ายคุณจะเจออะไรสักอย่างที่ใช่เรา เป็นสิ่งที่เราทำแล้วรู้สึกว่าทำไมเราทำเท่าไหร่ก็ไม่เหนื่อย ทำไมเราทำออกมาได้ดีจังเลย โดยที่เราไม่ได้รู้สึกว่าเราจะเป็นจะตาย นั่นแหละคือสิ่งที่ใช่สำหรับเรา”

“วันใดที่รู้แล้วว่าพรสวรรค์ของเราคืออะไร คุณลองหาวิธีในการใช้สิ่งนั้นมาเป็นเครื่องมือ
ในการสื่อสารหรือทำอะไรบางอย่างออกไปให้กับคนอื่นดู”

“แน่นอนว่าเราก็สามารถใช้ความสามารถและทักษะที่มาจากการสั่งสมของประสบการณ์ในชีวิตไปช่วยคนอื่นได้เช่นกัน อย่างตัวหมอเอง จนถึงตอนนี้ก็ยังชอบไปเรียนนู่นเรียนนี่อยู่เรื่อยๆ เลย เพราะหมอรู้สึกว่าการเรียนจะให้อะไรกับเรา อย่างการเขียนหนังสือ หมอไม่เคยเรียนจริงจังนะ แต่ถ้ามีใครเปิดคอร์สเขียนบทหนัง หมอก็จะไปลงเรียน เห็นนักเขียนดังเปิดคอร์สสอนการเขียน ถึงเราเคยเขียนหนังสือแล้ว แต่เราก็รู้สึกว่าเรายังเขียนไม่ดี เราก็ไปเรียนเพิ่ม หรือบางทีหมอก็ไปเรียนอะไรแปลกๆ ไปฝึกเรียนภาษาคอมพิวเตอร์ ฝึกเรียนอะไรก็ไปลงกับเขาด้วย (หัวเราะ) แล้วใช้ทักษะ พรสวรรค์ หรือสิ่งที่เราทำได้ดี เป็นพลังงานเพื่อส่งสิ่งดีๆ ให้คนอื่นต่อไป”

เดินหน้าภารกิจเพื่อสังคม

นอกจากการทำหน้าที่หลักอย่างการเป็นแพทย์อย่างเต็มความสามารถแล้ว สิ่งที่คุณหมอผิงวางแผนไว้ในอนาคตคือการทำงานที่ได้ตอบแทนสังคมมากกว่านี้ “หมอคิดว่าสักวันหนึ่ง หมออยากจะทำอะไรที่ได้ทำให้กับคนอื่นหรือให้กับสังคมมากกว่าที่ทำอยู่ทุกวันนี้ หมออยากให้สิ่งนี้เป็นเนื้อเป็นหนัง เป็นกิจจะลักษณะมากขึ้นไปอีก แต่ก็ต้องดูต่อไปว่าจะเป็นอะไร ซึ่งในส่วนของเครื่องมือที่ใช้ในการสื่อสาร หมอมองว่าคงจะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ตามยุคตามสมัย แต่ก่อนหนังสือ ทุกวันนี้เป็นยุคของโซเชียลมีเดีย และไม่มีใครบอกได้ว่าอนาคตสื่อที่ใช้จะมีหน้าตาเป็นยังไง อีก 10 ปี เราอาจจะไม่ใช้เฟซบุ๊ค และอาจจะมีแพลตฟอร์มอื่นเกิดขึ้นเพื่อมาสื่อสารกัน ที่นี้ในมุมมองของหมอถ้าเราคิดว่าเราเป็นคนที่อยากเป็นนักสื่อสาร เราก็ต้องพยายามเรียนรู้ที่จะสื่อสารในแพลทฟอร์มใหม่ๆ ที่สังคมมันไปในทิศทาง เราต้องปรับตัวตลอดเวลานะหมอว่า (ยิ้ม)”




ภาพ: Zuphachai Laokunrak, Facebook: PleasehealthBooks, Facebook: Pleasehealth
อ้างอิง:Facebook: PleasehealthBooks, Facebook: Pleasehealth, Twitter: thidakarn, www.cigna.co.th

สุดาพร จิรานุกรสกุล

อดีตบรรณาธิการบทความนิตยสาร art4d magazine ปัจจุบันเป็นนักเขียนอิสระให้กับนิตยสารออนไลน์ด้านสถาปัตยกรรม ออกแบบ ศิลปะ สังคม และสุขภาพ ควบคู่ไปกับการสอนโยคะ พิลาทิส และติ๊กตอกเกอร์ดาวรุ่ง

See all articles