ภัยใกล้ตัวที่เรามองข้ามมากที่สุดอย่างหนึ่งก็คือเรื่องอาหารการกิน สารคดีเรื่อง Poisoned นี้จะเป็นอุทาหรณ์ให้เราพึงระวังก่อนจะเลือกซื้อสินค้าที่จะเอากลับไปทำกับข้าวหรือจะกินอาหารตามร้าน เพราะไม่มีใครดูแลตัวเราได้ดีไปกว่าตัวเราเอง
ประเทศสหรัฐอเมริกาดินแดนที่ประกาศตัวว่าเป็นแหล่งวัตถุดิบอุตสาหกรรมอาหารที่ปลอดภัยที่สุดในโลก ทว่ามีข้อมูลตรงกันข้ามให้ฉงนกับคำกล่าวนั้นเป็นจริงหรือ ในเมื่อประชาชน 48 ล้านคนในประเทศป่วยจากโรคที่มีสาเหตุจากอาหาร และทุกสี่นาทีจะมีคนถูกนำส่งโรงพยาบาลเนื่องมาจากการบริโภค ข่าวเกี่ยวกับการระบาดของโรค รวมถึงมีผู้เสียชีวิตตามมาอีกมาก ไม่ว่าจะเป็นภาวะไตวายเพราะสตรอว์เบอร์รีออร์แกนิกที่มีสารปนเปื้อน หรือเนื้อไก่ที่มีเชื้อซาลโมเนลลา (Salmonella) ที่เกิดจากการซื้อขายข้ามรัฐ
ประมาณปี 2019 เกิดเหตุการณ์ระบาดของเชื้ออีโคไลโดยไม่ทราบสาเหตุ และเด็กจำนวนมากต้องเข้ารับการรักษาโดยเร่งด่วนรวมถึงมีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์นี้ด้วย การสืบหาแหล่งที่มาพบว่าการรับประทานแฮมเบอร์เกอร์จากร้านดังเจ้าหนึ่งทำให้เกิดการติดเชื้อขึ้น ย้อนไปก่อนหน้านั้นว่าเนื้อที่เอามาทำอาหารมาจากไหน นั่นคือโรงงานผลิตเนื้อสดขายที่ปราศจากวิธีการตรวจสอบเรื่องความสะอาด และในบางกรณีเป็นเรื่องยากที่จะจำกัดการติดเชื้อเช่นเนื้อบดที่มาจากเนื้อสัตว์หลายตัวปนกัน ภาครัฐได้ออกกูฏระเบียบในการทำอาหารใหม่สำหรับร้านอาหาร โดยเพิ่มความร้อนในอุณหภูมิที่เชื่อว่ากำจัดเชื้อโรคได้ แต่กลับพบหลักฐานว่าร้านอาหารปฏิเสธที่จะทำตามนั้น เพียงต้องการรักษาสูตรอาหารของตนให้น่ารับประทาน ท้ายสุดกรณีนี้จบลงที่บริษัทผู้ผลิตต้องยอมจ่ายค่าชดเชยให้ครอบครัวผู้เสียชีวิตไปเป็นเงินหลายล้านเหรียญ และรัฐบาลออกกฎหมายเอาผิดเด็ดขาดกับผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ที่มีสารปนเปื้อน ซึ่งเหมือนจะเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ
ทว่าเป็นที่น่าตกใจยิ่งกว่าเพราะปัจจุบันเชื้อโรคอีโคไลและสารปนเปื้อนอื่น เช่น ซาลโมเนลลา ไม่ได้อยู่แค่ในผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์เท่านั้น แต่ระบาดมาในพืช ผัก และผลไม้ด้วย สาเหตุหลักก็คือการทำฟาร์มเลี้ยงสัตว์ขนาดใหญ่นั้นอยู่ติดกับแปลงเพาะพืช ผัก ขนาดใหญ่ในอุตสาหกรรมการเกษตรด้วย น้ำที่ใช้สำหรับปลูกพืชผลก็แทรกซึมมาจากมูลสัตว์เหล่านั้น นี่เหมือนจะเป็นวิกฤตเพียงภายในประเทศสหรัฐเท่านั้น แต่เปล่าเลยเพราะผลิตภัณฑ์อาหารรวมทั้ง ผลผลิตทางการเกษตรทั้งหลายของสหรัฐฯ ถูกส่งออกไปยังประเทศต่างๆ และเหตุการณ์เช่นเดียวกันนี้เกิดขึ้นในที่ต่างๆ ทั่วโลก
เราจะมีทางออกอย่างไรกับปัญหานี้ โดยมากบริษัทผู้ผลิตมักยืนยันว่าสินค้าของตนปลอดภัย ภาครัฐก็พูดเสมอว่ามีกฎหมายที่รัดกุมเพียงพอ แต่เหตุการณ์การระบาดของโรค รวมทั้งข่าวผู้ป่วยและการติดเชื้อจากอาหารยังมีให้เห็นในหน้าสื่อเป็นประจำ ผู้ผลิตรับผิดชอบต่อชีวิตผู้คนน้อยกว่าผลประโยชน์ทางธุรกิจ ผู้บริโภคจำเป็นต้องดูแลตัวเองโดยการเลือกซื้อและปรุงอาหารอย่างถูกสุขอนามัย บางทีอาจต้องรวมตัวเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เป็นประโยชน์ให้แก่กัน ช่วยกันกระจายข่าวเพื่อกระตุ้นผู้รับรับผิดชอบทั้งหลายให้คำนึงถึงบทบาทหน้าที่ของตนอย่างจริงจัง
อ้างอิง: www.netflix.com, www.delish.com, www.imdb.com