‘คุณหมอเบญจพร ตันตสูติ’ กับเพจ ‘เข็นเด็กขึ้นภูเขา’ ที่ว่าด้วยเรื่องสุขภาพจิตเด็ก วัยรุ่น และครอบครัว

Reading Time: 3 minutes
4,323 Views

‘ความเครียด ความวิตกกังวล ปัญหายาเสพติด อกหัก รักคุด ท้องไม่พร้อม ติดโซเชียล ติดเกม ฯลฯ’ สารพันปัญหาที่พัฒนามาพร้อมกับเด็กและเยาวชนทุกยุคทุกสมัย ยิ่งในช่วงเวลาที่เทคโนโลยีได้สร้างสื่อกลางซึ่งทำให้การเข้าถึงข้อมูลทุกอย่างทำได้เพียงแค่ปลายนิ้วแบบนี้ การเกิดขึ้นของปัญหาใหม่ๆ และผลลัพธ์ที่รุนแรงยิ่งเพิ่มมากขึ้นเป็นทวีคูณ

‘เข็นเด็กขึ้นภูเขา’ เพจที่ก่อตั้งขึ้นโดย คุณหมอเบญจพร ตันตสูติ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น ที่นำเอาความรู้ในเรื่องจิตวิทยาเด็กและครอบครัวมาถ่ายทอดผ่านกรณีศึกษา การสะท้อนมุมมองและวิเคราะห์พฤติกรรมต่างๆ ของคน โดยเฉพาะเด็กๆ จากละคร ตลอดจนเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม ก็เพื่อช่วยลดปัญหาข้างต้นกับความเชื่อที่ว่า ปัญหาไม่ควรถูกซุกไว้ใต้พรม แต่เป็นสิ่งที่สามารถจัดการและป้องกันได้ หากพ่อแม่ ผู้ใหญ่ และคนในสังคมมีความรู้ที่เหมาะสมและพร้อมที่จะร่วมแก้ไขร่วมกัน

‘เข็นเด็กขึ้นภูเขา’ เพจที่ว่าด้วยเรื่องสุขภาพจิตเด็ก วัยรุ่น และครอบครัว

“‘เข็นเด็กขึ้นภูเขา’ เกิดขึ้นเมื่อหลายปีก่อน ตอนนั้นหมอได้เป็นสมาชิกของโครงการจิตแพทย์รุ่นเยาว์ ซึ่งอาจารย์ที่สอนจิตแพทย์รุ่นเยาว์ให้สมาชิกช่วยกันคิดโครงการเพื่อสังคมตามที่สนใจ กลุ่มของหมอช่วยกันคิดเรื่องการทำเพจเพื่อสื่อสารกับสังคมในเรื่องสุขภาพจิตเด็ก วัยรุ่น และครอบครัว ด้วยเรามองเห็นว่าจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นของไทยในปัจจุบันมีจำนวนไม่เพียงพอต่อความต้องการ เพราะเด็กที่มีปัญหาสุขภาพจิตมีมากขึ้นทุกวัน ดังนั้น หมอคิดว่าการป้องกันและจัดการตั้งแต่ก่อนมีปัญหาจึงมีความสำคัญ คือไปจัดการที่การเลี้ยงดู ให้ความรู้พ่อแม่ว่าจะเลี้ยงดูลูกอย่างไรให้เหมาะสมและป้องกันปัญหาที่ตามมา รวมถึงบางครั้งก็ให้ความรู้เกี่ยวกับสุขภาพจิตของผู้ใหญ่เพื่อที่จะได้ช่วยเหลือให้ผู้ใหญ่มีความเข้มแข็งและมีความรู้ความเข้าใจเพียงพอที่จะไปดูแลเด็กและวัยรุ่นต่อไปด้วย”

             

สร้างสรรค์เนื้อหาจากสถานการณ์ในสังคม    

“ในการนำเสนอเนื้อของเพจจะมาจากหลายๆ ส่วน บางครั้งจากภาพยนตร์หรือละครที่เราดู จากสถานการณ์จริงที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน หรือคนไข้ที่เราตรวจว่าเราเจอปัญหาแบบนี้ แล้วเราก็คิดว่าปัญหานี้มีความสำคัญและหากนำมาประยุกต์ให้ความรู้กับสังคมก็น่าจะมีประโยชน์ แต่ในกรณีของคนไข้จะไม่สามารถนำเรื่องราวทั้งหมดของคนไข้มาเขียนได้ เพราะจะเป็นการละเมิดสิทธิได้ ส่วนใหญ่หมอก็จะดัดแปลงมาจากเรื่องที่พบเห็นเพื่อไม่ให้กระทบกับบุคคลที่สาม ซึ่งหมอนำเสนอผ่านเฟซบุ๊คและทวิตเตอร์ เคยคิดเหมือนกันว่าอยากจะทำยูทูป แต่ว่าไม่ถนัดเรื่องภาพเคลื่อนไหวเป็นคลิปเท่าไหร่ ซึ่งผลตอบรับของการทำเพจนอกจากยอดที่เป็นตัวเลข หมอไม่ได้วัดผลที่เป็นการศึกษาแบบชัดเจนว่าคนอ่านชอบไม่ชอบอย่างไร แต่บางโพสต์ก็จะมีผลตอบรับที่ดี เราได้เห็นการมีส่วนร่วมในแง่ของการแสดงความคิดเห็นและกดแชร์โพสต์ที่เราเขียนไปสู่สาธารณชน และบางคนเขียนมาทางข้อความว่าได้นำความรู้ไปใช้แล้วได้ผลในการแก้ปัญหา หมอก็รู้สึกว่าสิ่งที่เราเขียนคงมีจะประโยชน์อยู่บ้าง ตอนนี้มีคนส่งคำถามมาหลังไมค์ทางกล่องข้อความเยอะมาก ซึ่งไม่ค่อยมีเวลาตอบ ต้องถือโอกาสขอโทษคนที่ส่งคำถามและยังไม่ได้คำตอบนะคะ”

        

เช็คให้ชัวร์ก่อนกดแชร์

“ในปัจจุบันการใช้อินเตอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียมีความสะดวกรวดเร็ว เราทุกคนที่มีโซเชียลมีเดียที่สามารถทำหน้าที่เป็นสื่อได้และส่งผ่านข้อมูลที่มีไปสู่สาธารณะชน ดังนั้น หมอคิดว่าเราควรมีความรับผิดชอบ ไม่ว่าจะผ่านการเขียนของเราหรือส่งต่อข้อมูลในสิ่งที่เป็นความจริง ไม่ใช่ความเท็จ รวมทั้งไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อบุคคลอื่น ขณะที่คนอ่าน เมื่อเราพบเห็นข้อมูลต่างๆ ในโซเชียลมีเดียก็ควรจะต้องกลั่นกรองให้ดีก่อนที่จะกดไลค์กดแชร์ ตรงนี้เป็นเรื่องของการรู้เท่าทันสื่อ ซึ่งผู้ใหญ่ก็ควรเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับเด็กและวัยรุ่นเพื่อจะได้สอนเขาได้”

ในดำมีขาว ในขาวมีดำ ไม่มีอะไรดีไปเสียหมด

“ตอนนี้ปัญหาสุขภาพจิตที่พบมากในวัยรุ่นก็คือปัญหาจากการใช้สื่ออินเตอร์เน็ตและโซเชียลมีเดีย แน่นอนว่าความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีมีข้อดี แต่ในขณะเดียวกัน ผลกระทบที่ตามมาจากการใช้โซเชียลมีเดียก็มีไม่น้อย ทั้งการใช้งานที่มากเกินไป ใช้จนติด เช่น ติดเกม ติดโซเชียล ปัญหา cyberbullying หรือการกลั่นแกล้งรังแกในโลกออนไลน์ อย่างการปล่อยข่าวลือ การดูถูก ดูหมิ่น เหยียดหยามผ่านอินเตอร์เน็ต หรือปัญหา digital footprint หมายถึง การโพสต์หรือคอมเม้นท์ที่ไม่เหมาะสมลงไปในอินเตอร์เน็ตหรือโซเชียลมีเดีย และตรงนั้นจะเป็นประวัติติดตัวผู้ใช้งานซึ่งมีผลกับการทำงานในอนาคต เพราะสมัยนี้ บริษัทและมหาวิทยาลัยบางแห่งสืบประวัติจากการใช้งานอินเตอร์เน็ตและโซเชียลมีเดีย”

“ส่วนปัญหาสุขภาพจิตที่พบบ่อย นอกจากเรื่องการใช้โซเชียลมีเดีย ก็คือภาวะซึมเศร้า ความเครียด ความกดดันจากการเรียน หรือมีปัญหากับเพื่อน ปัญหาพฤติกรรม เดี๋ยวนี้เราพบเด็กวัยรุ่นที่มีประวัติการทำร้ายตัวเอง เช่น กรีดแขนมากขึ้น วัยรุ่นที่มีพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศ เป็นต้น

นอกจากนี้ ปัญหาของเด็กและวัยรุ่นที่สังคมและพ่อแม่ผู้ปกครองมักมองข้าม แต่จริงๆ ควรได้รับการใส่ใจก็มีอยู่หลายเรื่องนะคะ เราจะเห็นได้ว่า สังคมและพ่อแม่ผู้ปกครองในปัจจุบันอาจจะมุ่งเน้นในเรื่องของการประสบความสำเร็จด้านการเรียนของลูก จนบางครั้งอาจจะลืมปลูกฝังคุณสมบัติที่สำคัญในการใช้ชีวิต เช่น การจัดการปัญหาเฉพาะหน้า การช่วยเหลือตัวเองเมื่อเจอกับอุปสรรค ความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น เรื่องของความภาคภูมิใจในตัวเองหรือ Self-esteem ซึ่งเราพบว่าเด็กไทยมากมายในปัจจุบันที่อาจจะประสบความสำเร็จด้านการเรียน แต่ล้มเหลวเรื่องของการใช้ชีวิตจนมีปัญหาสุขภาพจิตที่ส่งผลไปถึงการเจริญเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในอนาคตได้”

สอนเพื่อสร้างความเข้าใจและเสพสื่ออย่างเหมาะสม

“การเข้าถึงสื่อสำหรับเด็กและวัยรุ่นในปัจจุบันสะดวกและง่ายดายขึ้นมาก เพราะสื่อมีมากมายโดยเฉพาะสื่ออินเตอร์เน็ต และสื่อก็มีความหลากหลาย บางครั้งมีเรื่องของความรุนแรงและเนื้อหาที่อาจจะต้องการคำแนะนำจากผู้ใหญ่ สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือบางครั้งเด็กก็เข้าถึงสื่อพวกนี้เองในวัยที่ยังไม่เหมาะสม บางครั้งพ่อแม่ให้สื่อเหล่านี้เป็นพี่เลี้ยงลูก หมอคิดว่าสิ่งที่สำคัญคือผู้ใหญ่ควรจะต้องค่อยๆ สอนเขาให้เข้าใจและเสพสื่ออย่างเหมาะสม ตอนแรกก็คงต้องดูไปด้วยกัน อย่างเช่น ดูคลิปในยูทูปต่างๆ ถ้าเป็นเด็กเล็ก พ่อแม่ควรจะนั่งดูไปกับลูกด้วย จะได้คุยกันว่าดูตรงนี้แล้วลูกคิดอย่างไร เด็กเดี๋ยวนี้ชอบดูยูทูป ซึ่งก็มีตัวอย่างที่ดีและไม่ดี พ่อแม่ต้องบอกและสอนว่าสิ่งไหนควรหรือไม่ควรทำตาม

ขณะที่ผู้ปกครองกับโรงเรียนควรจะปลูกฝังความรู้เท่าทันสื่อ คือเรื่องของการใช้งานอย่างเหมาะสมหรือที่เรียกว่า media literacy ในเด็กและวัยรุ่น ก่อนที่จะให้เขาเข้าสู่โลกของอินเตอร์เน็ตและโซเชียลมีเดีย คือก่อนที่จะซื้อโทรศัพท์มือถือหรือแท็บเล็ตให้เขา ก็ควรจะต้องปลูกฝังตรงนี้ก่อนและก่อนที่จะปลูกฝังได้ ผู้ใหญ่ก็ต้องเข้าใจในเรื่องนี้ให้ดีพอ แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือบางครั้งผู้ใหญ่ก็ยังไม่ได้เข้าใจในเรื่องนี้เท่าที่ควร”

‘เปิดรับ ปรับมุมมอง’ กุญแจสำคัญสู่ความเข้าใจเรื่องสุขภาพจิต 

“ในอดีตอาจจะมีความกลัวในการมาหาจิตแพทย์มากกว่าในปัจจุบัน แต่ยุคนี้ด้วยการที่มีข่าวสารข้อมูลและสื่อต่างๆ อย่างเช่นเพจเฟซบุ๊คที่ให้ความรู้เกี่ยวกับสุขภาพจิต หมอคิดว่าก็ทำให้ภาพของจิตแพทย์ในสายตาประชาชนดูไม่น่ากลัวและเข้าถึงยากอย่างในอดีต และคิดว่าทำให้เกิดการเปิดรับมากขึ้น แต่ก็ยังต้องการการเปิดรับที่มากกว่านี้ เพราะฉะนั้น จิตแพทย์ที่ทำงานด้านสื่อสารข้อมูลในเชิงป้องกันก็คงจะต้องทำงานหนักมากยิ่งขึ้น ซึ่งสิ่งที่จะทำให้การรักษาด้านจิตใจเป็นเรื่องปกติสามัญในมุมมองของคนในสังคมก็คือความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องของสุขภาพจิตและโรคทางจิตเวช ซึ่งตรงนี้ก็คงเป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในเรื่องการสื่อสารข้อมูลสู่ประชาชน รวมถึงผู้ที่เป็นสื่อสารมวลชนที่จะนำเสนอข้อมูลด้วย เพราะบางครั้งคนในสังคมก็มองว่าคนที่ป่วยเป็นจิตเวช หมายถึง คนบ้า คิดถึงแต่หลังคาแดง แต่จริงๆ แล้ว เรื่องสุขภาพจิตและจิตเวชมันกว้างกว่านั้นมาก”

‘จิต กาย สังคม’ ส่วนผสมสู่การสร้างสุขภาพที่ดี

“ที่สำคัญคือจิตใจจะดีได้เราต้องมีร่างกายที่แข็งแรงและสุขภาพดีก่อน อย่างแรกก็คือ การดูแลสุขภาพ เริ่มที่การพักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่ถูกสุขลักษณะ การออกกำลังกาย ทำกิจกรรมงานอดิเรกอย่างเหมาะสม มีสมดุลในการใช้ชีวิตและการทำงาน รวมถึงสมดุลของการดูแลตัวเองและคนรอบข้าง ตรงนั้นก็จะช่วยทำให้สุขภาพจิตพื้นฐานดีพอสมควร ที่สำคัญการมีสังคมรอบข้างที่เกื้อหนุน การมีคนที่เราใกล้ชิดพูดคุยไว้วางใจ เป็นปัจจัยป้องกันที่ดีค่ะ”

เมื่อเราทุกคนต่างเป็นฟันเฟืองที่เชื่อมต่อและส่งผลให้สิ่งต่างๆ ขับเคลื่อนไปได้

“หมอดีใจที่หมอได้ทำให้สังคมส่วนหนึ่งมีความเข้าใจเรื่องของสุขภาพจิตและจิตเวชเด็กและวัยรุ่น รวมถึงเรื่องของครอบครัวมากขึ้น และยังดีใจที่งานเขียนของหมอมีคนสนใจและติดตาม ทำให้คนที่มีปัญหามีช่องทางในการหาข้อมูลเบื้องต้นเพื่อที่จะดูแลจัดการปัญหาก่อนที่จะลุกลามบานปลาย และน่าจะเป็นประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวมได้บ้างในแง่ของสุขภาพจิต ซึ่งผลตอบรับจากผู้ปกครองหรือผู้อ่านเพจว่าเขาได้ประโยชน์หรือได้นำข้อมูลไปใช้และช่วยเขาได้อย่างไรบ้าง ก็ทำให้เรามีกำลังใจในการทำงานต่อไป ในอนาคตสำหรับตัวเพจ หมอไม่ได้วางแผนในระยะยาว แต่จะทำทุกวันให้ดีที่สุด สิ่งที่ตั้งใจก็คือจะพยายามลงบทความในเพจทุกวัน ถ้าบางครั้งไม่มีเวลาเขียน ก็อาจจะเอาบทความเก่ามาลงใหม่ โครงการต่างๆ ที่คิดจะทำก็คือการเขียนหนังสือต่อไปเรื่อยๆ อยากจะนำบทความที่เขียนลงในเพจมารวบรวมให้เป็นระบบระเบียบมากขึ้น เพื่อให้สามารถส่งไปยังในสังคมวงกว้างมากขึ้น โดยเฉพาะการกระจายสู่ประชาชนที่ไม่ได้ใช้โซเชียลมีเดียด้วย”

ภาพ: Sawita Sangnampetch, Facebook: kendekthai


ING
ING
อดีตนักเขียนและบรรณาธิการบทความนิตยสาร art4d magazine ปัจจุบันเป็นนักเขียนอิสระให้กับนิตยสารออนไลน์ด้านสถาปัตยกรรม ออกแบบ ศิลปะ สังคม และสุขภาพ ควบคู่ไปกับการสอนโยคะและพิลาทิส II After receiving her bachelor degree of art from the Faculty of Archaeology, Silpakorn University in Bangkok, Sudaporn worked as a contributing editor and editorial manager at art4d magazine, a Bangkok-based architecture, design and art magazine from 2004-2017. At present, Sudaporn is working as freelance writer and storyteller contributing various kinds of features from art, design, architecture, graphic, social entrepreneur and healthcare. She is also certified yoga instructor, certified Balanced Body® mat and reformer pilates instructor plus Polestar Pilates trained instructor where she establish her inner peacefulness and self-awareness through the practices and teaching.