จนถึงทุกวันนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัญหาขยะถือเป็นปัญหาสำคัญที่สร้างความเดือดร้อนให้กับมนุษย์มากเป็นลำดับต้นๆ และนับวันยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ความท้าทายประการสำคัญสำหรับมนุษย์ในยุคนี้และในอนาคต คือการจะจัดการกับปัญหาขยะนี้ได้อย่างไร ซึ่งหนึ่งในความพยายามที่สำคัญคือ ‘การกำจัดโดยไม่กำจัด’ นั่นคือ การนำขยะกลับมาหมุนเวียนใช้ใหม่ที่กำลังได้รับความนิยมขึ้นเรื่อยๆ
การนำขยะหรือเศษวัสดุมาหมุนเวียนใช้ใหม่นอกจากจะลดการใช้พลังงานและมลพิษที่เกิดขึ้นจากการกำจัดแล้ว ยังช่วยเพิ่มมูลค่าของเศษขยะให้สูงขึ้น จนเกิดเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เป็นที่มาของกระบวนการที่เรียกว่า ‘อัพไซเคิล’ (Upcycle) ซึ่งในปัจจุบันมีโครงการออกแบบหลายแห่งที่ได้นำวัสดุที่ได้จากการอัพไซเคิลมาเป็นส่วนประกอบหลักในการก่อสร้าง โดยหนึ่งในนั้นคือบ้านหลังนี้ที่ออกแบบโดย ออกแบบโดย Een Til Een บริษัทสัญชาติเดนมาร์ก
วัสดุหลักที่ใช้ในการสร้างบ้านชีวนิเวศ (Biological House) หลังนี้ ส่วนใหญ่เป็นวัสดุที่ผ่านกระบวนการอัพไซเคิล ไม่ว่าจะเป็น ไม้ที่ใช้ในส่วนของโครงสร้างและผนัง ซึ่งใช้เทคนิคที่เรียกว่า Kebony ในการนำไม้เนื้ออ่อนมาทำการอบด้วยไอน้ำและทำการอัดขึ้นรูปให้เป็นไม้เนื้อแข็ง เป็นการนำเศษวัสดุที่ปกติใช้ในงานโครงสร้างไม่ได้ให้เกิดประโยชน์ นอกจากนี้ยังมีการนำเศษวัสดุทางการเกษตร ทั้ง เศษหญ้า เศษฟาง หรือสาหร่าย มาผ่านกระบวนการอัพไซเคิลกลายเป็นวัสดุก่อสร้าง และใช้ในส่วนต่างๆ ของตัวบ้าน
การที่ตัวบ้านหลังนี้ มีการใช้วัสดุก่อสร้างที่มาจากเศษขยะเหลือใช้ นอกจากจะช่วยลดมลพิษจากการกำจัดขยะเหล่านั้นแล้ว การสร้างวัสดุใหม่ขึ้นจากเศษขยะที่มีอยู่แล้ว ยังช่วยลดการสกัดทรัพยากรจากธรรมชาติเพื่อนำมาสร้างวัสดุใหม่ ซึ่งถือเป็นการช่วยลดการทำลายธรรมชาติอีกทาง
อ้างอิง: designboom, worldarchitecturenews