‘เปรม พฤกษ์ทยานนท์’ เพจ ‘คุณลุงซาเล้งกับขยะที่หายไป’ สื่อสารเรื่องการรีไซเคิลที่แท้ทรู

“ผมไม่ได้ถามตัวเองนะว่าเราเกิดมาเพื่ออะไร แต่ผมถามตัวเองว่าตอนนี้เราเกิดมาแล้วสามารถทำอะไรได้ดีที่สุด ถ้าผมเป็นครู ก็คงจะเป็นการสอนนักเรียนให้ดีที่สุด แต่เมื่อผมอยู่ตรงนี้ ผมอยากจะทำงานตัวเองอย่างเต็มที่และเป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่จะทำให้กับโลกนี้ได้ นั่นก็คือการให้ความรู้เรื่องขยะและการรีไซเคิล”

จากความตั้งใจของ เปรม พฤกษ์ทยานนท์ ผู้เติบโตขึ้นมาท่ามกลางธุรกิจรับซื้อของเก่าที่อยากส่งต่อข้อมูลและความรู้ที่เขามีต่อผู้อื่น จึงนำไปสู่การก่อตั้งเพจอย่าง ‘คุณลุงซาเล้งกับขยะที่หายไป’ เมื่อราว 1 ปีก่อน และเพจน้องใหม่ที่ให้ความรู้เรื่องการแยกและรีไซเคิลขยะ ซึ่งลูกเพจต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า ‘ช่างละเอียดและเข้าใจง่าย’ นั้น ได้ซ่อนเรื่องราว ความมุ่งมั่น และความเชื่อของเปรมที่ว่า ‘การรีไซเคิลไม่ใช่แค่การทิ้งให้ถูกถัง หรือแค่ช่องทางการแปลงขยะให้เป็นทอง แต่มันได้รวมขั้นตอนตั้งแต่ต้นทางที่วัตถุดิบชิ้นนั้นเกิดขึ้นจนกระทั่งมีชีวิตใหม่อีกครั้ง พร้อมๆ ไปกับการที่เราได้เป็นส่วนหนึ่งในการดูแลและรักษาทรัพยากรบนโลกนี้ร่วมกันต่างหาก’

สร้างพื้นที่กลาง สื่อสารเรื่องการรีไซเคิลที่แท้ทรู

คุณลุงซาเล้งกับขยะที่หายไป เกิดขึ้นมาประมาณ 1 ปีแล้ว ด้วยพื้นฐานของผมที่มาจากธุรกิจรับซื้อของเก่า โดยผมอยู่กับธุรกิจนี้มาตั้งแต่เกิดและมีความผูกพันอยู่ พอวันหนึ่งที่ต้องกลับมาช่วยงาน ก็เลยค้นหาว่าธุรกิจนี้มีดีอย่างไร เพื่อที่จะรักในสิ่งที่กำลังจะทำว่าอย่างนั้นเถอะ ท้ายที่สุดก็พบว่า นี่เป็นธุรกิจที่ผมให้คำนิยามว่าเป็น 4 win ได้เลยนะ คือคนขายขยะได้เงิน คนซื้อขยะอย่างผมก็นำไปทำกำไรได้ โรงงานสามารถใช้ในการลดต้นทุนการผลิต และสิ่งแวดล้อมก็ได้ประโยชน์ ไม่มีข้อเสียและไม่ทำร้ายใคร ผมจึงหลงรักมัน พอหลงรักแล้ว ก็พยายามทำความเข้าใจขยะทุกอย่างที่มีในโลกว่าเราควรจะทำอะไรกับขยะแต่ละประเภท

ปัญหาหนึ่งที่พบเลยคือคนทั่วไปไม่เข้าใจในเรื่องการแยกขยะ ไม่รู้ว่าการรีไซเคิลที่ถูกต้องไม่ใช่แค่ว่าคุณใส่ถังให้ถูกสี แต่เป็นกระบวนการทั้งหมดที่เมื่อไปถึงโรงงานแล้วสามารถรีไซเคิลได้จริง ขายได้จริง มีคุณค่าของของสิ่งนั้นจริงๆ ผมเลยคิดอยากจะสื่อสารสิ่งที่ผมมีให้คนทั่วไปได้รับทราบ เลยมาดูว่าตัวเองสามารถทำอะไรได้บ้าง นี่จึงเป็นที่มาของเพจ ‘คุณลุงซาเล้งกับขยะที่หายไป’ โดยแรกเริ่มผมวางแผนไว้ว่าจะโพสเรื่องการแยกขยะวันละชิ้น พอทำไปได้สัก 1 ปี ก็เริ่มพัฒนาเนื้อหาให้หลากหลายมากขึ้น โดยมีทั้งเรื่องสิ่งแวดล้อม รวมถึงการรณรงค์ต่างๆ แต่ก็ยังจำกัดกรอบว่าต้องเกี่ยวข้องกับขยะ เพื่อให้คนสามารถรับรู้ สร้างความตระหนัก หรือหากจะลงมือแยกขยะ ก็สามารถรู้ได้ว่าจะต้องแยกอย่างไร ใช้วิธีการใดได้บ้าง เป็นต้น”

รีไซเคิลถูกวิธีนั้นสำคัญไฉน

“การรีไซเคิลแบบใส่ถังเฉยๆ ไม่ใช่การรีไซเคิลนะครับ ซึ่งปัญหาที่ผมพบคือแม้ว่าเราจะแยกขยะแล้วก็ตาม แต่สุดท้าย ขยะเหล่านั้นก็จะถูกนำไปรวมกัน ไม่ว่าจะเป็นแม่บ้านหรือคนเก็บขยะ เพราะบางส่วนขายไม่ได้ บางส่วนต้องแยกก่อน แล้วพอมาปนกันในถัง ก็ไม่มีใครมีเวลามานั่งแยกให้คุณ บางทีขยะเปื้อนหรือปนกันมากๆ เขาก็ทิ้งเลย ไม่เอาแล้ว เพราะฉะนั้น จะรีไซเคิลให้ได้ถึงแก่นก็ต้องไปถึงคนที่เขาให้มูลค่าของมัน คือโรงงานรีไซเคิล ต้องถามว่าเขาต้องการอย่างไร เขาแยกอย่างไร เขาใช้อย่างไร แบบนั้นการรีไซเคิลจึงจะสัมฤทธิ์ผลจริงๆ ผมอยากให้การรีไซเคิลสามารถเชื่อมต่อจากต้นทางไปถึงปลายทางได้เลย”

Green2Get แอพพลิเคชั่นที่ว่าด้วยการรีไซเคิลในระดับโลคอล 

“ตอนนี้ผมกำลังพัฒนาแอพพลิเคชั่นที่ชื่อว่า Green2Get อยู่ โดยฟังก์ชั่นหลักของมันในตอนแรกคือเมื่อคุณแยกขยะแล้ว คุณสามารถโทรเรียกคนมาเก็บได้เลย แต่ต่อมาผมพัฒนาให้เป็นไปในลักษณะของการจับคู่ระหว่างคนซื้อและคนขาย ขณะเดียวกันก็ยังอยากมองภาพกว้างในเรื่องการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติด้วย จึงจะทำเป็นแพลทฟอร์มให้ความรู้คน ตั้งแต่การเริ่มต้นแยกขยะไปจนถึงการขาย เป็นแพลทฟอร์มที่สามารถแมทชิ่งกันเป็นเส้นได้ โดยผมจะเริ่มจากการให้ผู้บริโภคสามารถเพิ่มขยะเข้าไปในระบบผ่านบาร์โค้ดของสินค้า เช่น คุณมีสินค้าตัวหนึ่งแล้วคุณไม่รู้ว่าคุณจะแยกอย่างไร คุณก็สแกนบาร์โค้ดซึ่งถ้ามันมีในระบบแล้ว ก็จะขึ้นเลยว่าตัวประกอบด้วยอะไรบ้าง แยกอย่างไร แต่ถ้ายังไม่มี คุณก็สามารถเพิ่มเข้าไปได้เป็นฐานข้อมูล ซึ่งก็จะทำให้ฐานข้อมูลใหญ่ขึ้นและสามารถนำไปต่อยอดได้”

คนไทยกับความตื่นตัวเรื่องขยะและการแยกขยะ

“ผมว่าคนไทยตื่นตัวมากขึ้นกว่าเดิมเยอะเลย ยิ่งปีที่ผ่านมามีการรณรงค์เรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ที่สำคัญคือคนหันมาสนใจและใส่ใจแบบจริงๆ จังๆ ถ้าเปรียบเทียบให้เห็นภาพนะ ตอนที่ผมเริ่มทำเพจได้ประมาณสัก 2 อาทิตย์ ไม่มีสักคอมเม้นต์เลย จะมีก็แค่คนกดไลค์นิดๆ หน่อยๆ น่าจะหลักร้อย คอมเม้นต์แรกของเพจ ผมจำได้เลยนะ “ไม่มีใคร ขนาดนั้นสิ” (หัวเราะ) ผมโพสต์เกี่ยวกับการแยกกระป๋องกระดาษที่ก้นเป็นเหล็ก ผมบอกว่าคุณต้องฉีกนะ คุณถึงจะรีไซเคิลได้ มีคนตอบมาคนเดียว แต่ดูตอนนี้สิ มีคนมาถาม มาตอบ มาโชว์ในเพจว่าเขาแยกขยะแล้วนะเป็นแบบนี้นะ บางคนก็โพสต์รูปว่าที่เขาเก็บขวดพลาสติกมา 3 เดือน ได้ถุงเบ้อเริ่ม และแสดงให้เห็นว่าตอนนี้คนไทยก็เริ่มให้ความสำคัญแล้วกับการรีไซเคิลมากขึ้นแล้ว”

การจัดการขยะที่ดีเริ่มต้นได้จากการเปลี่ยนมุมมองที่มีต่อขยะ

“อย่างแรกเลย เราต้องเปลี่ยนแนวคิดที่เรามีต่อขยะก่อน ผมใช้กฎว่า ห้ามเรียกมันว่า ‘ขยะ’ เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่คุณเรียกว่าขยะแล้ว มันจะลงไปอยู่ในถังขยะ ถ้าลองสังเกต การทิ้งขยะของพวกเราจะเร็วมากเลยนะ ไม่เกินหนึ่งวินาที ถ้าเราเริ่มมองว่านี่ไม่ใช่ขยะ แต่คือวัตถุดิบ บรรจุภัณฑ์เป็นสิ่งที่ยังมีประโยชน์ต่อโลกใบนี้อยู่ เราก็จะไม่ทิ้งแบบมั่วซั่ว เราจะแคร์มากขึ้น เราจะเริ่มคิดว่า ถ้าอย่างนั้น เราจัดการได้ไหม เราสามารถทำอะไรกับมันได้บ้าง หรือเวลาเราจะทิ้งอะไรก็ตามเราจะระมัดระวังมากขึ้น”

เลือกเพียงหนึ่งอย่างเพื่อต่อยอดสู่สิ่งที่ท้าทายกว่า

“ถ้าให้ผมแนะนำไป คุณไม่ต้องแยกทั้งหมดทุกชนิดก็ได้ มันแยกไม่ได้ ตัวผมเองก็ยังแยกไม่ได้เลยทุกวันนี้ แต่คุณสามารถเลือกชนิดที่คุณคิดว่าแยกง่ายสำหรับคุณ ที่คุณเอาอยู่เพียงชนิดเดียวก่อน เช่น คุณอยากแยกขวดน้ำ ชาตินี้คุณลองสัญญากับตัวเองว่าจะไม่ทิ้งขวดน้ำลงถังขยะทั่วไปแล้ว แต่จะรีไซเคิลมัน หรือถ้าคุณใช้กระดาษเยอะ ก็ลองสัญญากับตัวเองว่าฉันจะเก็บกระดาษดู หรือถ้าคุณกินนมเปรี้ยวทุกวัน คุณอาจจะมีถังใส่ขวดนมเปรี้ยว ลองอย่างเดียวก่อนในสิ่งที่คุณใช้เยอะๆ คุณก็หาถังมาใส่สิ่งนั้น เริ่มแค่นี้ก่อนนะ พอนานวันเข้า เมื่อคุณสามารถทำได้ 1 อย่างแล้ว คุณอาจจะอยากลองเก็บอย่างอื่นด้วย ผมคิดว่าการเริ่มต้นจากการย้อนดูวิถีชีวิตตัวเองเป็นสิ่งที่ง่ายและทำได้จริง แล้วค่อยไปจัดการว่าเราอยากจะแยกอะไร อย่างไรต่อไป”

https://www.facebook.com/3WheelsUncle/videos/a.227264538022326/227264738022306/?type=3&theater

ลดการใช้ = ลดจำนวนขยะ

“สำหรับคนทั่วไปที่อยากมีส่วนช่วยลดจำนวนขยะ ผมคิดว่าการจัดการขยะที่ดีที่สุดก็คือการลดการใช้ ซึ่งแค่นี้จะเบาตัวไปได้เยอะเลยนะ ตัวผม ผมเริ่มจากการพกปิ่นโต เวลาไปซื้อข้าวจะให้เขาใส่ปิ่นโต ซึ่งนั่นกลายเป็นว่าผมรู้สึกดีนะที่ได้ทำอย่างนั้น แล้วด้วยบ้านผมทำธุรกิจเก็บของเก่า เชื่อไหมว่าตั้งแต่เกิดมา ผมไม่เคยทิ้งขยะให้เทศบาลเลย เพราะผมรู้ว่าทุกอย่างมีคุณค่า ถ้าจะทิ้งก็คือนำไปถมที่ เพราะฉะนั้น การทิ้งขยะจะสร้างความรู้สึกไม่ดีต่อตัวเอง พอผมเริ่มใช้ปิ่นโต จากที่เคยถือถุงแกงมา ตอนนี้เราไม่ต้องทิ้งแล้ว แค่ล้างก็จบ ดังนั้น อย่าไปกดดันตัวเองว่าฉันจะต้องแยกได้ทุกอย่างในโลก เพราะแค่คุณเริ่มต้น นั่นคือเป้าหมายที่ดีแล้ว”

‘พลาสติก’ ปัญหาที่ยังรอทางแก้

“จนถึงตอนนี้ พลาสติกก็ยังเป็นปัญหาทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก ผมคิดว่าปัจจัยหนึ่งเพราะพลาสติกมีความหลากหลายสูง ไม่สามารถแยกได้ด้วยตา พลาสติกมีเป็นร้อยเกรด แต่ละเกรดก็ไม่สามารถรีไซเคิลด้วยกันได้ เพราะฉะนั้น การรวมพลาสติกในระดับร้อยชนิดมาไว้ในถังเดียวกัน นั่นคืองานหิน ที่เราเห็นว่ายุโรป อเมริกา หรือญี่ปุ่นเองก็ตาม มีระบบการรีไซเคิลที่ดี เอาจริงๆ แล้ว พวกเขาไม่ได้แคร์พลาสติกเลยนะ เขาเอามารวมกันแล้วส่งออก อย่างอเมริกา สิ่งที่เขาคัดออกมาได้ เขาจะคัดแค่สิ่งที่ง่าย เช่น กระดาษและขวดน้ำพลาสติก นอกนั้นก็จะรวมกัน แล้วก็ส่งไปให้ประเทศโลกที่สามให้ไปคัดและแยกเอง ญี่ปุ่นจะส่งมาที่มาเลเซีย บ้านเมืองเขาเลยสะอาด แล้วถามว่าทำไมมาเลเซียหรือไทยถึงรับ เพราะว่าเราสามารถคัดออกมาเป็นของดีได้ แล้วก็ทิ้งที่เหลือไป ทางแก้จริงๆ ต้องอาศัยคนที่มีความรู้ รวมถึงการคัดแยกที่ต้นทาง ถามว่าเครื่องมือหรือเทคโนโลยีช่วยไหม ก็มีที่กำลังพัฒนากันอยู่ แต่ค่อนข้างช้าและยากนะ ตอนนี้มีให้ AI แยกขยะแล้ว แต่เอาจริงนะ ตัวผมที่เป็นคนแยกขยะ เวลาเจอยังต้องมานั่งดูอย่างละเอียดเลย เพราะขวดบางชนิดก็เหมือนกันมาก ต้องใช้การเผา แล้วดมกลิ่นก็มี แล้วคุณจะให้ AI ที่ไหนมานั่งเผา มันไม่ได้หรอก มันละเอียดเกินไป”

‘ความร่วมมือ’ กุญแจสู่ความสำเร็จ

“ภาครัฐสำคัญที่สุดนะ ถ้าภาครัฐไม่ขยับ คนอื่นก็ทำอะไรลำบาก เพราะต้องอาศัยกฎหมายเยอะ อย่างเช่นต่างประเทศที่เขาใช้ถุงพลาสติกกันน้อย เพราะว่าภาครัฐบอกว่า คุณเก็บค่าถุงพลาสติกสิ ที่อังกฤษก็เก็บ กลายเป็นว่าสามารถลดได้ 90% ภายในเดือนเดียว บางอย่างก็ต้องเริ่มจากความเต็มที่ของภาครัฐ ผมคิดว่าประชาชนก็พร้อมจะช่วย

ส่วนสถานการณ์ตอนนี้ก็เป็นเรื่องน่าดีใจที่เราได้เห็นเอกชนเข้ามาร่วมขับเคลื่อน มีองค์กรใหญ่ๆ หลายองค์กรเริ่มตระหนักแล้ว แต่มีอย่างหนึ่งที่ผมอยากให้เขาทำมากๆ ก็คือการช่วยผู้บริโภคในการแยกขยะ เช่น คุณลองเพิ่มข้อมูลที่เอื้อให้คนสามารถรีไซเคิลได้ง่ายขึ้นได้ไหม อย่างบรรจุภัณฑ์ต่างๆ คุณสามารถระบุได้ไหมว่าเป็นพลาสติกแบบไหน รีไซเคิลได้ไหม นี่เป็นรายละเอียดเล็กๆ ที่ช่วยในการคัดแยกได้เยอะเลย ซึ่งตรงนี้ภาครัฐเองก็ต้องบังคับด้วย เพื่อให้ฝั่งเอกชนทำเหมือนๆ กัน ซึ่งถ้าภาครัฐ เอกชน และประชาชนมาร่วมกันทั้งหมด ทุกอย่างก็เป็นไปได้”

มุ่งที่เป้าหมายอย่างไม่คาดหวัง จึงไม่พบความล้มเหลว

“เอาจริง ๆ ผมไม่ได้ไปจัดการกับความล้มเหลวอะไรในเรื่องเพจที่คนสนใจน้อยในช่วงแรก อาจเพราะเป้าหมายของผมไม่ได้จะทำเพื่อยอดไลค์หรือคำชม แต่ภารกิจก็คือไม่ว่าอย่างไรก็แล้วแต่ ผมจะต้องส่งสารให้คนทั่วไปรับรู้เกี่ยวกับขยะและการรีไซเคิลให้ได้วันละ 1 โพสต์ ผมสัญญากับตัวเองแบบนั้น ซึ่งพอทุกอย่างค่อยๆ ดีขึ้น คนสนใจมากขึ้น มีการนำสิ่งที่ผมโพสไปลองปรับใช้ มีการแลกเปลี่ยนความรู้กัน เลยกลายเป็นว่าผลที่ได้เกินความคาดหวังของเราไปเยอะเหมือนกัน”

ยืดอกรับจุดบกพร่อง แก้ไขสิ่งผิดพลาด เปลี่ยนปัญหาไปสู่ทางออก 

“ตัวผมคิดเสมอว่าตัวเองไม่ได้เป็นศูนย์กลาง ผมยอมรับว่ายังไม่เก่ง แต่ผมอยากเก่ง ผมพร้อมมากที่จะเปิดรับคำแนะนำและการแลกเปลี่ยนความรู้ผ่านคุณลุงซาเล้งฯ จำได้ว่าเคยมีโพสต์หนึ่งเรื่องกล่องข้าวเซเว่น ซึ่งเป็นพลาสติกชนิด PP แบบเดียวกับกล่องข้าว Lock&Lock ซึ่งในความเข้าใจของผมแปลว่ามันรียูสได้เหมือนกัน ผมก็เขียนลงไปแบบนั้น มีลูกเพจท่านหนึ่งเข้ามาติงอย่างหนักเลยว่าถ้าเขียนแบบนี้จะทำให้คนเข้าใจผิดได้ นั่นทำให้ผมไปหาข้อมูลเพิ่มเติมว่าสองอย่างนี้ไม่เหมือนกันอย่างไร ผมก็มาเพิ่มคำอธิบาย บอกข้อเสีย ขอโทษลูกเพจ เพราะผมทำผิดจริงๆ ซึ่งอะไรแบบนี้ที่เกิดขึ้นผมชอบนะ เพราะทำให้ผมได้เรียนรู้จากข้อผิดพลาดสู่การทำสิ่งนั้นให้ถูกต้อง ผมได้ความรู้เพิ่ม แล้วก็สามารถไปส่งผ่านความรู้ที่ถูกต้องจริงๆ เพื่อประโยชน์กับคนอื่นด้วย”

ผลตอบแทนที่ได้คือความรู้

“ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นมากที่สุดก็คือตัวผมเอง ต้องบอกว่าตัวผมเองไม่ได้เป็นสายกรีน ผมเป็นสายแยกขยะ ก่อนหน้านี้ผมไม่สนใจว่าวันๆ หนึ่งจะซื้ออะไร ถุงพลาสติกอาจจะไม่รับบ้าง แต่ไม่ได้ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญในชีวิต สิ่งที่ผมทำคือผมรีไซเคิล ผมรู้ว่าแยกอย่างไร แยกแล้วไปไหน เมื่อลูกเพจที่เข้ามาส่วนใหญ่เป็นสายรักสิ่งแวดล้อมที่จริงจังและตั้งใจมาก สิ่งที่ลูกเพจฟีดแบคกลับมาจุดประกายให้ผมมีมุมมองที่เปลี่ยนไป ผมอยากพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้นและทำให้ตอนนี้ตัวผมเองก็ตระหนักเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้นกว่าเดิมด้วย

การได้ทำเพจนี้ สิ่งที่ผมได้คือการรู้จักคนที่มีความคิดเหมือนกัน และรู้สึกดีใจมากว่ายังมีคนแบบนี้อีกเยอะมาก ตัวผมได้ความรู้เรื่องการแยกขยะและการรีไซเคิลระหว่างการทำงานกับโรงงานแยกขยะจริงๆ ส่วนหนึ่ง จากการไปลงคอร์สส่วนหนึ่ง แต่ความรู้ที่ดีที่สุดมาจากตอนเปิดเพจะนี่แหละ เมื่อเทียบกับการทำงานตลอด 1 ปีที่ผ่านมากับผมความรู้ที่ได้รับ เรียกว่าคุ้มแสนคุ้มแล้ว และตัวผมเองน่าจะเป็นคนที่ได้ความรู้จากเพจมากที่สุดแล้วนะ (ยิ้ม)”

ภาพ: Saran Sangnampetch, Facebook: 3WheelsUncle
อ้างอิง: Facebook: 3WheelsUncle

สุดาพร จิรานุกรสกุล

อดีตบรรณาธิการบทความนิตยสาร art4d magazine ปัจจุบันเป็นนักเขียนอิสระให้กับนิตยสารออนไลน์ด้านสถาปัตยกรรม ออกแบบ ศิลปะ สังคม และสุขภาพ ควบคู่ไปกับการสอนโยคะ พิลาทิส และติ๊กตอกเกอร์ดาวรุ่ง

See all articles