ก่อนหน้านี้ Creative Citizen เพิ่งเสนอเรื่องกระเป๋าเป้แบ็กแพ็กแบรนด์จากสวิตเซอร์แลนด์ที่นำเอาต้นกล้วยมาใช้เป็นวัสดุหลัก ล่าสุด บ้านเราซึ่งเป็นแหล่งปลูกต้นกล้วยมากมายก็มีงานโปรดักต์สวยๆ ที่ทำมาจากกาบกล้วย ต้นกล้วย และใบตอง เหมือนกัน นั่นคือแบรนด์ C-sense Bananamache’ ซึ่งแว่วว่าในงาน Craft Bangkok 2019 ที่เพิ่งผ่านไป กลายเป็นอีกหนึ่งแบรนด์ที่ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า
จริงๆ แล้ว C-sense Bananamache’ โดย ปิยะนุช ชัยธีนะยานนท์ เริ่มนำเอากาบกล้วยแห้ง ใบตองแห้ง มาใช้เป็นวัสดุหลักในการทำภาชนะใส่ของ-อาหาร และข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ เพื่อส่งออกไปขายในต่างประเทศตั้งแต่ปี 2544 แล้ว ซึ่งก็ได้รับความนิยมเป็นอย่างดีจากตลาดยุโรป ส่วนในเมืองไทยนั้น สมัยนั้นยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จักเพราะผู้คนยังไม่ตื่นตัวเรื่องสิ่งแวดล้อมกันเท่าไร
ในกระบวนการทำ ทีมช่างของแบรนด์จะใช้กาบกล้ายที่อยู่ชั้นด้านในนำไปผึ่งให้แห้ง เช่นเดียวกับใบตองที่หลังจากถูกปล่อยให้แห้งก็จะนำเอามาทำความสะอาด จากนั้นจึงนำมาขึ้นโครงรูปทรงต่างๆ โดยใช้แป้งเปียกทา ประกอบกันสัก 3-4 ชั้น ตกแต่งพื้นผิวชั้นนอก แล้วเคลือบด้วยสารสูตรป้องกันเชื้อรา ภาชนะของ C-sense Bananamache’ สามารถนำไปใส่อาหารแห้งและของใช้ต่างๆ ได้ และสามารถมีอายุการใช้งานได้ถึง 5-10 ปี หากล้างทำความสะอาดทันทีหลังใช้งาน แต่ถึงจะมีอายุการใช้งานน้อยไปหน่อย อย่างน้อยเราก็เบาใจได้ว่าสามารถย่อยสลายได้ทางธรรมชาติเพราะทำจากวัสดุจากธรรมชาติ
โปรดักต์ของ C-sense Bananamache’ มีตั้งแต่จานใส่ของว่าง กล่องใส่ของกระจุกกระจิก ไปจนถึงโคมไฟ นอกจากเสน่ห์หลักๆ จะอยู่ที่ทำจากวัสดุธรรมชาติแล้ว ก็ยังมีดีไซน์ร่วมสมัย อยู่ในโทนสีธรรมชาติสบายตา โดยภาชนะบางชิ้นน่ารักน่าชังเพราะทำรูปทรงเลียนแบบใบตอง และอีกหลายชิ้นก็เลือกใช้ลวดลายบนพื้นผิวด้านนอกเป็นลายของกาบกล้ายที่สวยไม่ซ้ำใคร ที่สำคัญ นี่นับเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับต้นกล้วยที่มีอยู่ดาษดื่นในบ้านเราได้เป็นอย่างดี และในการทำธุรกิจโปรดักต์ดีไซน์ครั้งนี้ นอกจากจะหาวัสดุมาใช้ได้อย่างง่ายดายแล้ว ก็ไม่ทำร้ายโลกแน่นอน
อ้างอิง: Facebook: Bananamache, www.thairath.co.th