เปิดแนวคิดการออกแบบเมืองสุขภาพดีแบบ Cloud-floor 

ตามนิยามขององค์การอนามัยโลก (WHO) ‘เมืองสุขภาวะ’ หรือ ‘Healthy City’ คือเมืองที่จะส่งเสริมการสร้างและพัฒนาสิ่งแวดล้อม ทั้งด้านกายภาพและสังคม ตลอดจนช่วยเพิ่มพูนทรัพยากรใดๆ ก็ตามที่จะเอื้อให้ผู้คนสนับสนุนซึ่งกันและกันในการดำเนินชีวิตทุกมิติ รวมทั้งพัฒนาให้เกิดศักยภาพสูงสุดร่วมกัน และเมืองสุขภาวะนี้ก็เป็นลักษณะของเมืองที่ประชาชนอย่างเราๆ ใฝ่ฝันหา แต่การจะก้าวไปสู่นิยามข้างต้นได้ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะแต่ละแห่งหนต่างมีปัจจัยและข้อจำกัดหลายๆ อย่าง เช่นเดียวกันกับประเทศไทย วันนี้ เราเลยชวน ฟิวส์ – นัฐพงษ์ พัฒนโกศัย และ โจ – ดลพร ชนะชัย สองสถาปนิกจาก Cloud-floor มาคุยกันถึงสถานการณ์เรื่องเมืองๆ ในประเทศเรา พร้อมกับงานที่พวกเขาศึกษา วิจัย และออกแบบเพื่อพัฒนารูปแบบการใช้พื้นที่ ตลอดจนกิจกรรมให้เกิดประโยชน์ต่อสาธารณะ เมือง ผู้คน สังคม และสิ่งแวดล้อม ผ่านโปรเจ็กต์ต่างๆ ที่ทำร่วมกับองค์กร ไปจนถึงกลุ่มนักสร้างสรรค์หลากหลายสาขา กับปลายทางที่อยากสร้างสรรค์เมืองที่ดีที่ไม่ใช่เพื่อใคร แต่เพื่อพวกเราเอง

จากหน้าจอสู่งานจริง

ฟิวส์และโจเล่าให้เราฟังว่า พวกเขาก่อตั้ง Cloud-floor ขึ้นเพราะเห็นพื้นที่สาธารณะอย่างฟุตบาท ทางเดิน และท้องถนนในบ้านเราไม่น่าอยู่ แถมพื้นที่สาธารณะแบบจริงๆ จังๆ แทบจะไม่มีอยู่จริงในประเทศไทย ขณะที่หลายๆ ประเทศกลับมีพื้นที่ดังกล่าวซึ่งช่วยส่งเสริมการมีคุณภาพชีวิตที่ดีนอกบ้านให้กับประชาชนได้ พอเกิดคำถามในใจว่า แล้วทำไมบ้านเราถึงดีอย่างนั้นไม่ได้ล่ะ? พวกเขาจึงรวมตัวกันในปี 2014 กับธงในใจที่ว่าถ้าเราจะทำพื้นที่สาธารณะให้ดีกว่านี้ จะต้องทำอะไรบ้าง

โจ: “เรามีเป้าหมายคืออยากมีพื้นที่สาธารณะที่ดี แต่ในปีแรกๆ เรายังไม่รู้ว่าจุดเริ่มต้นควรจะไปทางไหน ยังไม่ได้ดูความน่าจะเป็น รวมถึงเครือข่ายที่เรามีว่าสามารถทำจุดนั้นได้จริงๆ หรือเปล่า เวลานั้นจึงเป็นการค้นหาความเป็นไปได้มากกว่า จากประเด็นใกล้ตัวนี่แหละ ซึ่งข้อดีของการทำงานในเวลานั้น คือเราคิดแล้วทำออกมาให้เห็นภาพเลย เช่น งานที่ชื่อ ‘Snake’ ด้วยเป้าหมายเพื่อแก้ไขปัญหารถติด เราจึงออกแบบให้หน้าตาและฟังก์ชั่นของ Snake เหมาะกับการเข้าไปรับคนในซอยเพื่อที่จะเชื่อมต่อไปยังจุดขนส่งสาธารณะ โดยหยิบเอาลักษณะทางกายภาพและการใช้งานของมอเตอร์ไซค์มาปรับเปลี่ยนให้ต่างไปจากเดิมด้วยการพ่วงเข้าด้วยกันเหมือนกับงู หรือการทำเวิร์กช็อปในโปรเจ็กต์ที่เรานำเมล็ดทานตะวันไปให้เพื่อนๆ 50 คน ปลูกในพื้นที่ของพวกเขา แล้วสังเกตว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง ทุกๆ การเปลี่ยนแปลง เราขอให้แต่ละคนช่วยถ่ายรูปมาให้และโพสต์ลงเฟซบุ๊ก ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นคือเมล็ดทานตะวันไม่ใช่แค่เติบโตขึ้น แต่ยังสร้างบทสนทนาในพื้นที่นั้นๆ ขึ้นมาด้วย เป็นต้นว่าช่วยให้สมาชิกภายในครอบครัว รวมทั้งบรรยากาศในออฟฟิศของผู้เข้าร่วมเวิร์กช็อปที่ปกติไม่ค่อยคุยกัน เริ่มมีปฏิสัมพันธ์กันมากขึ้น เมื่อคนเริ่มเห็นงานของพวกเรา พวกเขาเลยอยากรู้ต่อไปว่า Cloud-floor ทำอะไรได้บ้าง และจะทำอะไรกันอีก”

หลังจากเป็นที่รู้จักในกลุ่มเล็กๆ ผ่านไปไม่นานนัก Cloud-floor ก็มีโอกาสได้ร่วมงานกับองค์กรต่างๆ มากขึ้น ทั้ง CEA (Creative Economy Agency) หรือ TCDC (Thailand Creative and Design Center) ทำให้ทั้งคู่ขยับบทบาทไปสู่การทำงานที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นผลงาน ‘Urban Re-Typology’ (เมืองดีที่สี่แยก) โปรเจ็กต์ที่ Cloud-floor ทำเพื่อส่งประกวดแบบในงาน ASA Design Competition ปี 2015 ภายใต้หัวข้อ DENSITY | DENSE CITY (เมืองหนาแน่น) ไปจนถึง งาน ‘Street Scape’ (เดินเจริญกรุง)  

ฟิวส์: “Urban Re-Typology เป็นงานที่เกิดขึ้นหลังจากที่เราศึกษาคำว่า ‘พื้นที่สาธารณะ’ ทั้งนิยาม ความเปรียบต่างในกรุงเทพฯ และต่างประเทศ และพบว่ากรุงเทพฯ มีพื้นที่สาธารณะน้อยมาก คุณจะเห็นว่าถ้าออกจากอาคารมา เราจะเจอฟุตบาทและถนนแล้ว ไม่มีพื้นที่สาธารณะอย่างพล่าซ่าหรือสแควร์เหมือนในต่างประเทศ เท่าที่มีคือสวนสาธารณะซึ่งเป็นแค่ซับเซตของคำว่าพื้นที่สาธารณะ ซึ่งหัวใจของพื้นที่ดังกล่าวคือการเข้าถึงง่าย คนทุกชนชั้นต้องสามารถเข้าถึงได้โดยใช้ความพยายามน้อยที่สุด เรามองว่าพื้นที่เดียวที่พอจะเป็นไปได้คือถนน โดยเฉพาะอย่างยิ่งถนนบริเวณสี่แยก เพราะมีขนาดพอๆ กันกับสแควร์ เป็นจุดรวมกิจกรรมที่ทุกคนมาเจอกัน เป็นจุดเปลี่ยนถ่ายการเดินทาง เราจึงเปลี่ยนหน้าที่ของสี่แยกให้กลายเป็นพื้นที่สาธารณะ โดยตั้งใจให้อยู่ในระดับพื้นถนนที่ทุกคนเข้าถึงได้ แล้วเปลี่ยนให้ทางสัญจรของยานพาหนะที่มีกำลังมากกว่าไปอยู่ใต้อุโมงค์แทน เพื่อให้ระดับดินสามารถใช้งานเป็นพื้นที่สาธารณะที่ทำกิจกรรมต่างๆ ตามธรรมชาติของเมืองได้อย่างเต็มที่ ทั้งการปลูกต้นไม้ เป็นสวน เป็นลานสเก็ต หรือเป็นพื้นที่รวมตัวกันของประชาชน เราชอบโปรเจ็กต์ Urban Re-Typology มาก เพราะทำให้เห็นความเป็นไปได้ของการมีพื้นที่สาธารณะใจกลางเมืองและเป็นการผ่าตัดเมืองจริงๆ”

โจ: “อีกงานคงเป็น ‘Street Scape’ โปรเจ็กต์ที่เริ่มต้นจากโจทย์ที่ว่า ‘จะทำอย่างไรให้เจริญกรุงเป็นย่านที่เข้าถึงง่าย น่ามา น่าเดิน และน่าอยู่’ เราลงมือทำจริง 9 วัน กับทาง CEA โดยมี 5 ทีมดีไซเนอร์มาช่วยกันออกแบบ โดยเราเป็นโฮสต์ใหญ่และรับผิดชอบ 1 งาน คือทางม้าลายหน้า TCDC ไปรษณีย์กลาง สำหรับงานนี้ เราตั้งคำถามว่า จะทำอย่างไรให้รถหยุดให้คนข้ามมากขึ้น โดยที่เปลี่ยนกฎหมายไม่ได้ เราไม่มีอำนาจอำนาจใดๆ นอกจากอำนาจในการออกแบบ เราออกแบบลักษณะของทางม้าลายขึ้นใหม่จากการวิเคราะห์ข้อดีข้อเสียของทางม้าลายเดิมว่าเพราะอะไรรถจึงไม่หยุดให้คนข้าม และทดสอบว่า ถ้าเราเติมองค์ประกอบบางอย่างเข้าไป จะช่วยให้รถหยุดให้คนข้ามมากขึ้นไหม เช่น นำรูปคนไปใส่เลยว่าข้างหน้ากำลังจะมีคนข้ามนะ หรือสร้างระยะทาง 30 เมตร ให้มีอุปสรรคมากขึ้น โดยงานนี้เราได้ฟีดแบคจากสาธารณชนค่อนข้างดีเลย และมีการทำเทสติ้งในเชิงออนไลน์ที่นำภาพมาเปรียบเทียบกันว่าคุณคิดว่าทางม้าลายแบบเก่ากับแบบใหม่ที่เราทำ แบบไหนที่จะช่วยให้รถช่วยหยุดได้มากกว่ากัน จากนั้นจึงนำผลลัพธ์ที่ได้ไปให้ทางกรุงเทพมหานครดู จนมีโอกาสได้ทำต่อ ซึ่งทาง สสส. (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ) ร่วมกับ จุฬาฯ ขอให้นำไปทำต่อที่สีลม เป็นงานชั่วคราวค่ะ”

ความจริง-ปัญหา-ความท้าทาย 

ฟิวส์: “ความยากของการทำงานสาธารณะสำหรับผม ประเด็นใหญ่ที่สุดคือการเจอกับแรงเสียดทานจากสังคม เช่น การตั้งคำถามว่า ‘สิ่งที่คุณทำ คุณทำเพื่อคนอื่นเหรอ โลกสวยจังเลย เป็นฮีโร่เหรอ’ แต่พอเรามานั่งย้อนคิดกลับ สิ่งที่เราทำไม่ได้ทำเพื่อคนอื่นนะ เราทำเพื่อตัวเอง เพราะเราอยากอยู่ในเมืองที่สามารถใช้ชีวิตที่ดีได้ ผมเลยหนักแน่นในจุดยืนนี้ ซึ่งการทำเพื่อตัวเองแล้วเราไม่ได้อยู่แค่หน้าคีย์บอร์ด แต่เอาตัวลงไปทำเลย แน่นอนว่าเราจะเป็นผู้สุ่มเสี่ยง ดังนั้น ต้องยอมรับและเข้าใจให้ได้ว่าเราจะต้องเจอแรงปะทะจากภายนอกเข้ามา ซึ่งเมื่อใดก็ตามที่เจอกับฟีดแบคเชิงลบ เราจะต้องตัดเรื่องอารมณ์ความรู้สึกออกไปให้หมด แล้วมาให้ความสำคัญกับข้อมูลเชิงวิทยาศาสตร์ว่ามีคนพูดถึงงานของเราในประเด็นไหนบ้าง มีคนพูดซ้ำๆ กี่ประเด็น พูดถึงเรื่องอะไรมากที่สุด ความต้องการของเขาและปัญหาจริงๆ คือเรื่องอะไรกันแน่ เพื่อนำข้อมูลที่ได้ไปปรับปรุงและพัฒนางานต่อไป แต่บางคนที่เกราะป้องกันไม่แข็งแรง การได้รับฟีดแบคเชิงลบมากๆ หรือเมื่อทำงานออกไปแล้วคนยังไม่เข้าใจสิ่งที่เราทำ อาจทำให้ท้อได้เลยนะครับ ซึ่งผมมองว่า แล้วเมืองจะเปลี่ยนได้อย่างไรในเมื่อคุณโจมตีอย่างเดียว แต่ไม่ให้กำลังใจพวกเขาเลย

“ความยากอีกอย่างของงานเชิงทดลองมักจะมาพร้อมปัจจัยและข้อจำกัด ทั้งเรื่องระยะเวลาที่เป็นงานชั่วคราว เรื่องของงบประมาณ เช่น เรามีเงิน 10 บาท แต่อยากได้งานคุณภาพ 3 หมื่น นั่นก็เป็นไปได้ยาก รวมไปถึงเรื่องของอำนาจที่เรามีแค่อำนาจของภาคประชาชน แม้ประชาชนจะสนใจงานเรา แต่อำนาจไม่ได้อยู่ที่เราอยู่ดี ต้องขึ้นอยู่กับผู้มีอำนาจว่าเขาตัดสินใจอย่างไร จะสื่อสารหรือพัฒนาต่อไหม เป็นต้น”

โจ: “สิ่งที่การทำงานแต่ละโปรเจ็กต์ทิ้งร่องรอยไว้ให้คือการได้กลับมาทบทวนและคิดต่อว่า เราจะพัฒนาแต่ละงานให้ได้ไปต่ออย่างไร เพราะงานของ Cloud-floor ถูกสร้างในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง เป็นงานชั่วคราวในลักษณะของโปรโตไทป์ที่ทดลองทำขึ้นเพื่อเก็บผล ดังนั้น สำหรับโจเลยคิดว่าการทำให้ความชั่วคราวยั่งยืนในระยะยาวได้เป็นโจทย์ใหญ่และเป็นความท้าทายเสมอ”

ตะกอนความคิดจากงานสาธารณะ

ฟิวส์: “การทำงานในหลายๆ โครงการที่ผ่านมาทำให้เราเห็นว่า เมืองสามารถพัฒนาไปในทิศทางไหนได้บ้าง เกิดการชื่นชมแล้วจะอย่างไรกันต่อ จะถูกสานต่อไหม ซึ่งพวกเราเชื่อเสมอว่าเมื่ออะไรบางอย่างถูกทำให้เห็นแล้วว่ามีกิ่งก้านที่จะเติบโตไปได้ นั่นจะช่วยเพิ่มโอกาสในการทำให้สิ่งๆ นั้นให้เกิดขึ้นและไปต่อได้ แม้ว่าสุดท้าย ภาครัฐจะเลือกเดินในทิศทางที่ไม่ใช่แบบที่ประชาชนต้องการ 100% แต่อย่างน้อยเราได้ทำให้ภาคประชาชนเข้าไปมีบทบาทมากขึ้น”

โจ: “สิ่งที่โจเห็นคือการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น เช่น เมื่อเราเทียบการทำงานของรัฐในปัจจุบันกับช่วงเวลาก่อนหน้า ในยุคนี้เรามีโอกาสได้ทดลองทำอะไรหลายๆ อย่างที่อาจไม่เคยทำได้ในอดีต เห็นการรับฟังจากคนในฟากฝั่งของรัฐมากขึ้น เช่น กรุงเทพมหานคร ได้เห็นบรรยากาศของการร่วมแรงร่วมใจกันเพื่อจะทำให้โครงการต่างๆ เกิดขึ้นได้จริง เห็นสิ่งที่เราพยายามทำสามารถส่งสารไปถึงประชาชนในวงกว้างมากขึ้น และคนเข้ามาทดลองใช้งานกัน รวมถึงพวกเราที่เป็นคนทำงานเองก็ได้้รู้ขอบเขตหน้าที่ของตัวเองมากขึ้น รู้ว่าเราต้องการใคร หรือต้องไปหาใครมาช่วยเสริมทีม

“การลงมือปฏิบัติมาตลอด 8-9 ปี ทำให้โจได้สั่งสมประสบการณณ์จนกลายเป็นคลังความรู้ขนาดใหญ่ของตัวเอง ซึ่งมันมากพอจนเราสามารถหยิบจับออกมาใช้งานได้อัตโนมัติ ถ้าพูดให้เห็นภาพ คือโจสามารถประเมินได้ว่า ก่อนที่จะทำงานเรื่องนี้ น่าจะมีปัญหาอะไรเกิดหน้างานได้บ้าง เทียบกับวันแรกๆ ที่เราไม่มีคอนเน็กชั่น ไม่รู้เลยว่าใครทำอะไร ณ วันนี้ เราเริ่มเห็นโครงข่ายของการพัฒนาเมืองเยอะขึ้น ซึ่งเราสามารถเป็นตัวเชื่อมให้กับคนที่อยากจะทำอะไรสักอย่างว่าถ้าอยากทำงานประเด็นนี้ควรจะไปทำงานกับใคร หรือองค์กรไหนเพื่อให้งานไปได้ไกลมากขึ้น”

ฟิวส์: “อีกเรื่องสำหรับผมคงเป็นเรื่องความเข้าใจที่มีมากขึ้น เข้าใจทั้งคนที่เราทำงานด้วย ทั้งข้อจำกัดของภาครัฐในด้านต่างๆ ได้เห็นเครือข่ายที่จะเข้ามาสนับสนุนการทำโปรเจ็กต์ให้เกิดขึ้น เห็นประเด็นของเอกชนที่ต้องการให้เมืองเปลี่ยนเป็นอย่างไรจากที่วันแรกที่เราไม่รู้อะไรเลย ไม่รู้ต้องไปหาใคร ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจะเอาเงินจากไหนอย่างที่โจบอก วันนี้เราเริ่มเห็นองค์ประกอบตรงนี้ชัดเจนขึ้น ที่สำคัญมากๆ อีกอย่าง คือเราต้องไม่ลืมใครที่อยู่ในนิเวศของงานและการทำงาน อย่าลืมว่าจะต้องเข้าใจใครบ้าง คำว่า ‘ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย’ ‘ความเห็นอกเห็นใจ’ ‘การเอาใจเข้ามาใส่ใจเรา’ เป็นสิ่งสำคัญในการทำงานใดๆ ก็ตาม เช่น ถ้าวันหนึ่งที่เราได้ทำงานที่เกี่ยวกับผู้ค้าริมถนน เราอย่าลืมคุยกับพ่อค้าแม่ค้านะ อย่าลืมคุยกับเขตนะ หรือใครที่อยู่ในวงจรนั้น เข้าใจพวกเขานะ หรือคนที่อ่อนแอที่สุดในนิเวศเป็นใครกันนะ เพราะสุดท้ายเวลาที่คนอยากจะแก้ปัญหา เขาจะมองแค่ประเด็นหนึ่ง แต่ใต้ประเด็นนั้นยังมีปัญหาเล็กๆ มากมายซ่อนอยู่ แล้วปัญหาไม่ใช่แค่การตอบคำถามว่า ทำไมทำดีกว่านี้ไม่ได้ แต่ต้องย้อนกลับไปว่าที่ไม่ดี มีสาเหตุจากอะไร บางทีอาจเป็นปัญหาที่เราแก้ไขเองไม่ได้ด้วยซ้ำ เป็นปัญหาในเชิงโครงสร้างที่ใหญ่กว่านั้น ซึ่งการทำงานกับคนเยอะๆ เปิดโอกาสให้เรารับฟังปัญหาจริงๆ และรู้เลยว่าบางปัญหา การออกแบบช่วยไม่ได้ เพราะมันเปราะบาง แต่ในทางตันนั้น เรายังสามารถไปบอกคนอื่นๆ ได้ว่าปัญหานี้ควรให้ใครมาช่วย”

‘6 ดีองค์ประกอบของเมืองสุขภาวะ

สำหรับ Cloud-floor ความสมบูรณ์ของโครงสร้างตั้งแต่ระดับบนจนถึงระดับล่าง ตั้งแต่การมีผู้นำที่ดี นโยบายดี ออกแบบดี โอกาสดี จิตสำนึกดี และความปกติสุขดี เป็นส่วนผสมที่จะก่อให้เกิดเมืองที่ดีทั้งในอุดมคติและความเป็นจริงในแต่ละบริบทได้

ฟิวส์: “การมี ‘ผู้นำที่ดี’ ในทุกระดับของหน่วยงานภาครัฐ ผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ มีความรู้ ความเข้าใจ และมีวิธีการบริหารเมืองในรูปแบบร่วมสมัย จะทำให้เกิดกลไกและวิธีการที่จะนำไปสู่การออกนโยบายซึ่งตรงกับบริบทและความต้องการของคนในพื้นที่อย่างแท้จริง โดยที่ ‘นโยบายที่ดี’ จากภาครัฐหรือผู้มีอำนาจในการปกครองเมืองเหล่านี้นี่แหละที่จะช่วยให้เกิดกลไกสนับสนุนและช่วยเหลือคนทุกกลุ่ม ทั้งผู้มีรายได้น้อย ปานกลาง และมาก ไปจนถึงกลุ่มผู้ลงทุน นักท่องเที่ยว และผู้อยู่อาศัยในเมือง ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิต ส่วน ‘การออกแบบดี’ หมายถึง การจัดการสิ่งอำนวยความสะดวก ทั้งด้านการบริการ ด้านกายภาพ และด้านสิ่งแวดล้อม ที่คำนึงถึงคุณภาพชีวิตผู้คนทุกกลุ่มในพื้นที่สาธารณะให้ได้รับความสะดวกในการใช้ชีวิตได้อย่างปลอดภัย รวมถึงมีการออกแบบที่ตอบสนองปัญหาเฉพาะของเมืองนั้นๆ”

โจ: “นอกจากนี้ เมืองที่ดียังประกอบไปด้วยการมีพื้นที่และกลไกสนับสนุนที่ดีที่จะก่อให้เกิดการสร้าง ‘โอกาส’ ให้กับประชาชนผู้อยู่อาศัย ไม่ว่าจะเป็นการประกอบอาชีพ การทำกิจกรรม การสร้างรายได้ ให้ผู้คนได้เริ่มต้นและมั่นใจกับศักยภาพเมืองที่ตัวเองอยู่อาศัยในระยะยาว ส่วน ‘จิตสำนึกต่อสาธารณะและการปฏิบัติต่อกันในสังคมที่ดี’ จะเป็นรากฐานสำคัญในการสร้างความเข้าใจและลดปัญหาต่างๆ ของการใช้ชีวิตในเมือง ที่ครอบคลุมในเรื่องความปลอดภัย สิ่งแวดล้อม การอยู่อาศัยร่วมกัน โดยปัจจัยทั้งหมดทั้งมวลนี้จะนำไปสู่ความปกติสุขในข้อสุดท้าย ซึ่งเป็นผลลัพธ์ที่บ่งบอกความรู้สึกของผู้คนว่าพอใจในเมืองที่พวกเขาอยู่หรือไม่ ทั้งในพื้นที่ส่วนตัว พื้นที่สาธารณะ การใช้ชีวิตในสังคม รายได้ และปัจจัยอื่นๆ ตลอดช่วงเวลาของชีวิต”

หมุดหมายใหม่ของ Cloud-floor

ฟิวส์: “เวลานี้ ผมสนใจเรื่อง street vendor เรียกว่าชอบเป็นพิเศษเลย เราได้ทำงานเกี่ยวกับผู้ค้าริมทางในโมเดลทดลองที่ชื่อ ‘Re-Vendor เจริญกรุง 32’ ซึ่งเราไปช่วยทาง CEA พัฒนาพื้นที่ street vendor ข้างๆ TCDC ไปรษณีย์กลาง ที่เป็นปัญหามานาน ตั้งแต่เรามีตลาดข้างๆ ท่าเรือ กลายเป็นรถเข็น จนปัจจุบันที่เมืองพัฒนาย้อนแย้ง จนเกิดเป็นความท้าทายที่สูงมาก โดยเฉพาะเรื่องสิทธิของคนเดินเท้ากับการให้โอกาสผู้มีรายได้น้อยในการทำมาหากินว่าจะอยู่ด้วยกันอย่างไร ใครจะเป็นตัวแปรสำคัญ เอกชนและรัฐจะมีส่วนช่วยในการจัดการได้อย่างไรเพื่อให้คนเมืองอยู่ด้วยกันได้ เพราะ street vendor มีเรื่องของอัตลักษณ์ เศรษฐกิจ สิทธิคนเดินเท้าในเมือง ทุกเรื่องท้าทายหมด ซึ่งก็ต้องมาดูว่าเราจะแก้ไขตรงนี้ได้อย่างไร เช่นว่า ถ้าเราหยิบโมเดลการจัดการของประเทศอื่นๆ อย่างการแก้ปัญหาแบบเกาหลีที่ยอมให้ตั้งแผง/รถเข็นขายของในพื้นที่สาธารณะ แต่จำกัดจำนวนผู้ค้าว่าต้องมีกี่ราย แล้วทุกคนต้องเข้าระบบภาครัฐให้หมดเพื่อเปลี่ยนอำนาจให้รัฐเป็นผู้ควบคุมให้จำนวนผู้ค้าไม่มากหรือน้อยเกินไป หรือสกปรกจนเกินไป หรือการจัดการแบบไต้หวันที่ให้ผู้ค้าอัดเข้าไปอยู่ซอยให้หมดแล้วปิดถนนในซอยนั้นเลย ไม่มาอยู่ตรงถนนเส้นหลัก เป็นตลาดกลางคืน จะตอบโจทย์การแก้ปัญหาของบ้านเราไหมและอย่างไร

“ทุกๆ ปี เราจะคุยกันว่าธงของ Cloud-floor จะไปในทิศทางไหน นอกจากงานที่เป็นไปตามโอกาสที่เข้ามาและประเด็นที่เราสนใจเป็นพิเศษแล้ว พวกเรายังอยากไปแตะความท้าทายอีกระดับหนึ่งคือการนำเสนอในเชิงนโยบายให้มากขึ้น เราอยากนำประสบการณ์ ข้อดีข้อเสียที่เจอมา ไปเป็นกรอบในการนำเสนอนโยบายใหม่ๆ เพื่อที่จะควบคุม เปลี่ยนแปลง หรือพัฒนาโจทย์ต่างๆ ให้ดีขึ้นในระดับที่เราสามารถทำได้”

โจ: “ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา มีหลายๆ โปรเจ็กต์ที่เราอาจไม่ได้เผยแพร่ แต่ว่าเป็นการทำงานที่เราไปแตะเรื่องของประเด็นมากขึ้น อย่างเช่นเรื่องอาหารที่เราได้ทำมา 2-3 ปีแล้ว เราเริ่มทำไปแล้วที่เชียงใหม่ ไปดูว่าในพื้นที่เขตเมืองเชียงใหม่เข้าถึงอาหารแบบไหน จนไปเจอความสัมพันธ์ของอาหารกับรถพุ่มพวงที่วิ่งอยู่ในบริเวณนั้น ซึ่งน่าสนใจมาก เลยรู้สึกว่าการทำงานในเชิงประเด็นมากขึ้นโดยที่ไม่ต้องออกแบบมาเป็นงานกายภาพก็เป็นอีกหนึ่งหมุดหมายที่เราสนใจเหมือนกัน เพราะทำให้เราเข้าใจเรื่องการใช้ชีวิตประจำวันของคนมากขึ้น แต่ว่าไม่ถึงกับเป็นโจทย์ว่า แล้วเราจะออกแบบอะไรนะคะ หน้าที่ของเราคือเข้าไปช่วยทำให้เกิดความเข้าใจเรื่องนี้มากขึ้น หาโจทย์ให้เจอว่า แล้วถ้าจะต้องมีโจทย์ต่อ โจทย์นั้นคืออะไร แต่ก่อนเราทำงานโดยรับโจทย์มาจากคนอื่นแล้วเราทำหน้าที่ออกแบบ ตอนนี้เราอยากทำหน้าที่ย้อนกลับ คือไปทำงานเชิงข้อมูลแล้วเป็นคนตั้งโจทย์เองบ้าง จากนั้นจึงส่งโจทย์ให้คนที่เหมาะสมกับงานนั้นๆ เรารู้สึกสนุกกับการตั้งโจทย์เลยเริ่มสนใจที่จะถอยไปทำงานในเชิงประเด็นมากขึ้นค่ะ”

เรื่อง: สุดาพร จิรานุกรสกุล
ภาพ: ศุภชัย เหล่ากุลรักษ์
เพิ่มเติม: www.facebook.com/thisiscloudfloor, www.cloud-floor.com

สุดาพร จิรานุกรสกุล

อดีตบรรณาธิการบทความนิตยสาร art4d magazine ปัจจุบันเป็นนักเขียนอิสระให้กับนิตยสารออนไลน์ด้านสถาปัตยกรรม ออกแบบ ศิลปะ สังคม และสุขภาพ ควบคู่ไปกับการสอนโยคะ พิลาทิส และติ๊กตอกเกอร์ดาวรุ่ง

See all articles