Connextyle นวัตกรรมสิ่งทอตรวจจับความเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อ ช่วยบรรเทาและรักษาผู้ป่วยหลอดเลือดสมอง

จะดีแค่ไหน ถ้าเสื้อผ้าที่คุณสวมใส่อยู่สามารถช่วยบรรเทาอาการป่วยและรักษาโรคที่เป็นอยู่ให้ดีขึ้นได้

‘Connextyle’ คือชุดที่มีฟังก์ชั่นอย่างที่ว่า โดยถูกออกแบบให้สามารถตรวจจับความเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อในร่างกายได้ โครงการดังกล่าวเกิดขึ้นจากความตั้งใจของ Jessica Smarsch ที่ทำงานร่วมกับ Christian Dils จาก Fraunhofer IZM, Paula de Andrés จาก POL Studio และ Gaia Liesdek จาก Knitwear Lab

นักออกแบบหัวหอกหลักอย่าง Jessica นั้นมีเป้าหมายใหญ่ในการพัฒนา Connextyle ขึ้นเพื่อใช้ในการฟื้นฟูด้านสุขภาพร่างกายให้แก่ผู้ใช้งาน โดยเธอเริ่มต้นจากการออกแบบเสื้อสำหรับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งโรคดังกล่าวจะส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดอาการบกพร่องภายในร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นอาการชา แขนขาอ่อนแรง การทรงตัวไม่ดี พูดลำบาก หรือฟังไม่เข้าใจ อาการบกพร่องหรือพิการเหล่านี้ บางอย่างอาจฟื้นฟูให้กลับมาสู่สภาพเดิมได้ แต่บางอย่างก็ทำได้ยาก และทำให้ผู้ป่วยกว่า 2 ใน 3 มีความบกพร่องหรือพิการอย่างใดอย่างหนึ่งติดตัวไปตลอดชีวิต ดังนั้น ระหว่างการรักษา ผู้ป่วยจึงจำเป็นต้องทำการบำบัดและฝึกฝนทักษะต่างๆ ขึ้นใหม่ควบคู่กันไป

Connextyle นี้ใช้นวัตกรรม TexPCBs หรือสิ่งทอเคลือบโลหะเงินที่แทรกตัวอยู่ระหว่างชิ้นส่วนเทอร์โมพลาสติก ซึ่งสามารถสร้างขั้วรับสัญญาณและตรวจวัดการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อได้ ข้อมูลที่ถูกตรวจจับจะถูกเก็บสะสมไว้ แล้วส่งต่อไปยังระบบเก็บข้อมูลที่ถูกติดตั้งลงบนเนื้อผ้า โดยจะใช้งานร่วมกับแอปพลิเคชันที่ออกแบบมาให้แสดงผลในรูปแบบกราฟิก ซึ่งสอดคล้องไปกับจังหวะการเคลื่อนไหวที่แตกต่างกันของร่างกายแต่ละส่วน โดยข้อมูลที่เกิดขึ้นนอกจากจะสามารถทำเป็นรายการสรุปให้บุคลากรทางการแพทย์ใช้ในการประเมินผลการรักษา อีกทั้งยังเป็นตัวช่วยให้นักบำบัดสามารถออกแบบโปรแกรมให้เหมาะสมกับอาการและความก้าวหน้าของการรักษาที่แตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละรายแล้ว ขณะเดียวกัน ตัวผู้ป่วยเองก็สามารถเรียนรู้การเคลื่อนไหวของร่างกายตัวเองจากการแสดงผลผ่านแอปพลิเคชันบนสมาร์ทดีไวซ์ ตั้งแต่การทำงานและการใช้กล้ามเนื้อ, พิสัยการเคลื่อนไหวหรือความสามารถที่จะเคลื่อนไหวที่ข้อตามแนวการเคลื่อนไหว ไปจนถึงการวัดคุณภาพของการออกกำลังกาย เป็นต้น

ด้วยแพทเทิร์นและโทนสีเรียบๆ นอกจากจะทำให้เจ้าชุดที่ว่าสามารถใส่ออกไปใช้ชีวิตประจำวันได้สบายๆ โดยไม่ได้มีสายระโยงรยางค์ให้รู้สึกรำคาญหรือให้ความรู้สึกว่ากำลังอยู่ระหว่างการรักษาและบำบัดใดๆ อยู่ ผู้ป่วยยังสามารถสวมใส่เสื้อของตัวเองและเริ่มขยับร่างกายในกิจกรรมต่างๆ ที่ถูกออกแบบไว้ได้มากเท่าที่ต้องการ ซึ่งทีมพัฒนาก็คาดหวังว่า ยิ่งผู้ป่วยได้ฝึกฝนทักษะในส่วนที่บกพร่องมากเท่าไหร่ โอกาสในการฟื้นตัวของพวกเขาที่จะกลับมาปกติหรือใกล้เคียงปกตินั้นก็จะมีมากขึ้นตามไปด้วย

อ้างอิง: www.jessicasmarsch.com

สุดาพร จิรานุกรสกุล

อดีตบรรณาธิการบทความนิตยสาร art4d magazine ปัจจุบันเป็นนักเขียนอิสระให้กับนิตยสารออนไลน์ด้านสถาปัตยกรรม ออกแบบ ศิลปะ สังคม และสุขภาพ ควบคู่ไปกับการสอนโยคะ พิลาทิส และติ๊กตอกเกอร์ดาวรุ่ง

See all articles