โปรเจ็กต์ Experience Japan Pictogram ให้ชาวญี่ปุ่นใช้พิกโตแกรมฟรีเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวให้ฟื้นตัว

“ตัวหนังสือภาพ” หรือ pictogram มีบทบาทสำคัญสำหรับธุรกิจการท่องเที่ยวในหลายประเทศ โดยเฉพาะญี่ปุ่น เพราะชาวญี่ปุ่นส่วนมากแทบไม่พูดภาษาอังกฤษ ป้ายร้านรวงหรือป้ายบอกทางเกือบทั้งหมดก็อยู่ในตัวอักษรคันจิ ฮิรางานะ และคาตากานะ หรือถ้าจะให้เพิ่มภาษาอังกฤษควบคู่ไปด้วย ก็คงจะเกินพื้นที่อันจำกัดไป ที่สำคัญ ญี่ปุ่นมีวัฒนธรรมประเพณีหลายอย่างที่เป็นเอกลักษณ์ ซึ่งภาษาที่เป็นภาพดูจะสื่อความหมายได้ง่ายและรวดเร็วกว่าตัวอักษรใดๆ

pictogram สำคัญกับการท่องเที่ยวญี่ปุ่นแค่ไหน ดูได้จากปี 2016 ที่มีการปรับโฉม pictogram ราว 15 ตัว จากที่เคยเป็นตัวอักษรภาษาญี่ปุ่นหรือสัญลักษณ์ที่คนญี่ปุ่นเท่านั้นที่จะเข้าใจ ให้กลายเป็นภาพสัญลักษณ์ที่เป็นสากลมากขึ้น จากนั้นจึงนำไปใช้บนป้ายบอกทางและแผนที่ เพื่อเป็นการตอบรับการเติบโตของจำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่ตบเท้าเข้ามาในญี่ปุ่นเป็นจำนวนหลายสิบล้านรายต่อปี รวมทั้งเป็นการเตรียมการต้อนรับนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาอีกเป็นจำนวนมหาศาลเมื่อญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพจัดกีฬาโอลิมปิก 2020

แต่ก็อย่างที่รู้กัน โอลิมปีก 2020 ไม่เคยเกิดขึ้น เพราะการระบาดของไวรัสโควิด-19 แถมมาถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีใครแน่ใจด้วยซ้ำว่าจะได้จัดในปี 2021 นี้หรือไม่ ส่วนธุรกิจการท่องเที่ยวก็บาดเจ็บสาหัสไปตามๆ กัน อย่างไรก็ดี เมื่อเริ่มมีวัคซีน หลายฝ่ายก็หวังกันว่าปีนี้ญี่ปุ่นอาจได้เปิดประตูต้อนรับนักท่องเที่ยวกันบ้าง หนึ่งในคนที่คิดเช่นนั้นก็น่าจะรวมเอากราฟิกดีไซเนอร์ Kenya Hara จาก Nippon Design Center ไว้ด้วย Hara ยังต้องการใช้ทักษะการออกแบบของเขามาสนับสนุนการท่องเที่ยวให้ฟื้นตัวขึ้น เขาจึงริเริ่มโปรเจ็กต์ Experience Japan Pictogram ที่เป็นการนำเอา pictogram จำนวน 250 ตัวมาออกแบบใหม่ และเปิดให้เพื่อนร่วมชาติของเขาทุกคนสามารถนำไปใช้งานได้ฟรี

ดีไซเนอร์ที่เข้ามารับหน้าที่รีดีไซน์ pictogram เหล่านี้คือ Daigo Daikoku ครีเอทีฟไดเร็กเตอร์ในบริษัทของ Hara เขาออกแบบให้ภาพสัญลักษณ์เหล่านี้สื่อสารได้ง่าย ชัดเจน โดยใช้เส้นสาย รูปทรงเรขาคณิตง่ายๆ เช่น วงกลม สี่เหลี่ยม ฯลฯ ในการออกแบบ แต่ในความง่ายนั้น Daikoku ก็ทำให้ pictogram เหล่านี้ดูทันสมัย น่ารัก และมีกลิ่นอายความเป็นญี่ปุ่นชัดเจน อย่างชิ้นที่เราเห็นแล้วอดอมยิ้มไม่ได้ก็มี รูปถ้วยชาที่สื่อถึงพิธีชงชาของญี่ปุ่น นักซูโม่ ละครโนห์ และสัญลักษณ์ดอกซากุระบาน เป็นต้น

Daikoku ยังออกแบบให้ pictogram บางอันเคลื่อนไหวได้ด้วย อย่าง ออนเซน ที่จะเห็นเป็นสัญลักษณ์รูปคนถอดกางเกง เปลี่ยนเป็นผ้าเช็ดตัว ตักน้ำราดตัว ก่อนจะแปะผ้าขนหนูบนหน้าผาก แล้วนอนแช่น้ำร้อนกลางธรรมชาติอย่างสบายใจ

ผู้ประกอบการทุกราย ไม่ว่าจะเป็น โรงแรม ร้านอาหาร แอปพลิเคชัน หรือทำป้าย ทำแผนที่ ฯลฯ สามารถจะเข้าไปดาวน์โหลด pictogram เหล่านี้มาใช้ได้ง่ายๆ ทางเว็บไซต์ของ Experience Japan Pictogram โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ แถมยังเลือกเปลี่ยนสี pictogram แต่ละอันเพื่อให้เหมาะกับการใช้งานแต่ละโอกาสได้อีกด้วย

เห็น pictogram น่ารักเหล่านี้แล้ว เราก็ได้แต่หวังว่าปีนี้ญี่ปุ่นจะได้เปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยวเสียที งานออกแบบที่พวกเขาอุตส่าห์สร้างสรรค์ขึ้นมา จะได้ถูกนำไปใช้อย่างคุ้มค่า

แปลและเรียบเรียงจาก: experience-japan.infospoon-tamago.com/2021spoon-tamago.com/2016

ธันยพร ห.

อดีตคนทำงานนิตยสาร (HOW-To, Vaczine, Esquire, Wallpaper* Thailand, art4d) ในยุคสื่อสิ่งพิมพ์รุ่งเรือง ปัจจุบันเป็นนักเขียน/นักแปล/บรรณาธิการอิสระ มีผลงานทั้งบทความศิลปะ งานออกแบบ สุขภาพกาย-ใจ สิ่งแวดล้อม และวรรณกรรม

See all articles