Haru-No-Ogawa Community Park Toilet เปลี่ยนวัสดุ เปลี่ยนการรับรู้ เปลี่ยนเมืองด้วยดีไซน์

คุณภาพของสถาปัตยกรรมไม่ได้ขึ้นกับขนาดแต่เพียงอย่างเดียว แต่มันสามารถวัดได้จากรายละเอียด ความใส่ใจในการออกแบบด้วยเช่นกัน สถาปัตยกรรมที่ดีนั้นสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตให้ผู้คนในสังคมได้ แม้แต่สถาปัตยกรรมขนาดเล็กที่จำเป็นและมักถูกมองข้ามอย่างห้องน้ำสาธารณะ

ในญี่ปุ่น เราสามารถหาห้องน้ำได้ง่ายดายกว่าถังขยะ ห้องน้ำสาธารณะจะได้รับความใส่ใจในการออกแบบและการดูแลรักษามาก ถ้าใครมาญี่ปุ่นแล้วจะประทับใจกับห้องน้ำในญี่ปุ่นได้ง่ายดาย ห้องน้ำสาธารณะหลายแห่งได้ถูกออกแบบให้แตกต่างกันไปตามสภาพถิ่นที่ มีหลากหลายรูปแบบ น่าใช้งาน อันเป็นสิ่งที่สะท้อนถึงวินัยและความใส่ใจต่อสมบัติสาธารณะของคนญี่ปุ่นนั้นเอง

จากห้องน้ำที่มีความใส่ใจในการออกแบบอย่างดี ในกรุงโตเกียวได้มีโครงการ Tokyo Toilet ที่ดำเนินการโดยมูลนิธินิปปง อันเป็นองค์กรณ์ที่ไม่แสวงหาผลกำไร มูลนิธินิปปงได้ขอความช่วยเหลือด้านการออกแบบจากนักออกแบบทั่วโลก มาร่วมกันออกแบบห้องน้ำสาธารณะในโครงการนี้ทั้ง 17 แห่ง ในย่านใจกลางเมืองของชิบูย่า เหล่านักออกแบบที่เชิญมาก็มีชื่อเสียงลำดับต้นๆ ของโลกอย่างเช่น Toyo Ito, Tadao Ando, Fumihiko Maki, Kengo Kuma, Sou Fujimoto และ Marc Newson แต่ห้องน้ำที่โดดเด่นขึ้นมาด้วยเพราะเป็นห้องน้ำหุ้มด้วยกระจกใส ออกแบบโดยสถาปนิก Shigeru Ban

ห้องน้ำสาธารณะ แต่ผนังเป็นกระจกใส มันจะใช้งานได้อย่างไรกันนะ?

Shigeru Ban นำเสนอนิยามใหม่ของห้องน้ำสาธารณะ ด้วยการที่ไม่ได้มองว่ามันแค่แหล่งปลดทุกข์เท่านั้น แต่มันยังสามารถทำหน้าที่ส่งเสริมเมืองได้อีกด้วย เขาออกแบบห้องน้ำกระจกใสสีสันสดในในสวนสาธารณะ 2 แห่ง ทั้ง Haru-no-Ogawa Park และ Yoyogi Fukamachi Park ในย่านชิบูย่า ภาพจำของห้องน้ำคือพื้นที่มีความเป็นส่วนตัวสูง ผนังที่ใช้จึงเป็นผนังทึบ มีหน้าต่างน้อย ทางเข้าออกมิดชิด แต่เมื่อเปลี่ยนมุมมองด้วยสายตาของสถาปนิกอย่าง Ban ห้องน้ำสาธารณะสามารถเป็นประติมากรรมที่ส่งเสริมได้ในเวลาเดียวกัน แค่เปลี่ยนมุมมองเท่านั้น ห้องน้ำสาธารณะในมุมมองของสถาปนิกคือมีความกังวลจากการใช้งาน 2 ข้อ ข้อแรกคือความสะอาดที่เราไม่สามารถรู้ได้จากภายนอก แต่จะรู้ได้ก็ต่อเมื่อเข้าไปยังภายในแล้ว ซึ่งบางครั้งอาจจะมีภาพที่เกิดความลำบากใจที่จะใช้งาน ข้อสองคือเรื่องความปลอดภัยในการใช้งาน สาเหตุเพราะห้องน้ำจะออกแบบให้มิดชิดเพื่อความส่วนตัว ในขณะเดียวกัน เราก็ไม่สามารถมองเห็นภายในได้ว่ามีใครแอบซ่อนที่จะทำร้ายเราหรือไม่

ความกังวล 2 ข้อนี่ได้หมดไป เมื่อเลือกใช้ผนังเป็นกระจกใส

เราสามารถคาดเดาความสะอาดก่อนเข้าใช้ได้ทันที เมื่อมองจากภายนอก และสามารถรู้ได้ว่าภายในห้องน้ำมีใครแอบซ่อนหรือไม่ แต่สำหรับการแก้ปัญหาเรื่องความเป็นส่วนตัวเมื่อใช้งาน สถาปนิกได้เลือกใช้กระจกโดยรอบที่สามารถเปลี่ยนเป็นกระจกทึบแสงเมื่อปิดประตูเข้าใช้งานในทันที ทำให้เกิดความเป็นส่วนตัวในเวลาใช้งาน และโปร่งใสเมื่อใช้งานเสร็จแล้ว ผลลัพธ์ของผนังกระจกใสนี้ทำให้ห้องน้ำกลายเป็นประติมากรรมสีสันสดใสในเวลากลางวัน และกลายเป็นโคมไฟให้สวนสาธารณะในยามค่ำคืน

อ้างอิง: www.shigerubanarchitects.com, www.archdaily.comwww.designboom.comwww.dezeen.com

Tags

Tags: ,

สาโรช พระวงค์

สถาปนิกผู้ริเป็นนักเขียน และอาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี สนใจในสถาปัตยกรรมที่สร้างคุณภาพที่ชีวิตที่ดีขึ้น เลยมาเขียนเล่าให้ผู้อ่านเป็นเนืองๆ

See all articles