KAIT Plaza อาคารเอนกประสงค์ของสถาบันอุดมศึกษาในญี่ปุ่นที่เน้นการใช้เวลาในอาคารมากกว่าการใช้พื้นที่

มหาวิทยาลัยคือพื้นที่การเรียนรู้ที่สำคัญของมนุษย์ หลายที่ได้บ่มเพาะคนให้เป็นนักคิด นักสร้าง คนสำคัญของโลก แม้ว่าปัจจุบันมหาวิทยาลัยจะถูกท้าทายจากยุคสมัยถึงความจำเป็นต่อการเรียนในระบบมากขึ้นเรื่อยๆ แต่นั่นก็เป็นเรื่องที่ดีที่มหาวิทยาลัยได้ท้าทายตัวเองถึงการปรับตัวครั้งสำคัญในศตวรรษที่ 21 ในบทบาทของสถาปัตยกรรมการศึกษาเองก็ล้วนต้องปรับตัวให้ทันยุคสมัยเช่นกัน ไม่สามารถเป็นแค่สิ่งปลูกสร้างที่ไม่สามารถรองรับนักศึกษาได้อีกต่อไป

Kanagawa Institute of Technology หรือ KAIT สถาบันอุดมศึกษาด้านเทคโนโลยีในญี่ปุ่นที่เมืองคะนะงะวะ ได้เกิดไอเดียที่จะสร้างอาคารเอนกประสงค์ให้นักศึกษาและบุคลากรในสถาบันได้ใช้ทำกิจกรรม รวมทั้งเฉลิมฉลองในวาระที่ครบรอบ 50 ปีในปี 2013 แต่หลังจากเปิดโอกาสให้สถาปนิกผู้ที่กำลังมีชื่อเสียงอย่าง จุนยะ อิชิงะมิ แห่ง JUNYA ISHIGAMI + ASSOCIATES ได้ออกแบบอาคารเวิร์คชอปไปก่อนหน้านี้ คราวนี้ทางสถาบันได้ตัดสินใจให้ จุนยะ อิชิงะมิ ได้มาออกแบบอาคารหลังใหม่นี้อีก คราวนี้สถาปนิกได้เสนอถึงแนวคิดของการใช้อาคารนี้ว่า ‘มุ่งไปที่จะใช้เวลาอย่างไร มากกว่าใช้พื้นที่อย่างไร’

มันคือการให้เหล่าผู้คนเข้ามาใช้ยังภายใน พร้อมกับหลอมรวมตัวเองเข้ากับประสบการณ์ใหม่จากการเลือกมันด้วยตัวเอง เพราะพื้นที่ภายในที่ดูเรียบเกลี้ยงมีแต่สีขาวนั้น มีลักษณะโค้งมนดูรองรับหลายสรีระ มันคือการออกแบบที่รองรับกิจกรรมหลากหลายของนักศึกษาในมหาวิทยาลัย ทั้งเล่นกีฬา รับประทานอาหาร หรือจะเอนหลังชมท้องฟ้าก็ยังได้ พื้นที่ภายในสว่างด้วยแสงธรรมชาติช่องแสงจำนวน 59 ช่องที่เจาะหาท้องฟ้าให้รับแสงแดด ลม ฝน การทำให้พื้นที่ภายนอกและภายในผสานเข้าหากันนี้มาจากแนวคิดของสถาปนิกที่เสนอให้งานนี้สร้าวภูมิทัศน์ใหม่ที่ไม่คุ้นชินกับผู้คน จากกลับด้านของส่วนตรงข้ามจาก ‘อุจิ’ ที่แปลว่าภายในหรือบ้าน สู่ภายนอกหรือ ‘โสะโทะ’ ให้การสร้างภูมิทัศน์ภายนอกโดดเด่น ภายนอกและภายในถูกกลับด้านให้เกิดประสบการณ์ใหม่กับสถาปัตยกรรม เมื่อนั่งมองอยู่ภายในทำให้เห็นขอบฟ้าถูกจับอยู่ในกรอบขนาด 2.40×2.40 เมตรทั้ง 59 ช่อง

พื้นที่ภายในมีขนาดกว่า 4,100 ตารางเมตร และที่ทำให้น่าตื่นตาตื่นใจคือไม่มีเสาค้ำภายในเลย ซึ่งถูกทางที่ให้วิศวกรโครงสร้างผู้รักความท้าทายอย่าง จุน สะโทะ จาก Jun Sato Structural Design Office มาร่วมออกแบบ ในช่วงพาดกว้างกว่า 90 เมตร โครงสร้างหลังคาคือความพิเศษเป็นอย่างมาก มันเป็นกรณีศึกษาที่ดีให้กับนักศึกษาสถาปัตยกรรมและวิศวกรรมอย่างมาก โครงสร้างหลังคาเรียบบางนี้ประกอบขึ้นจากแผ่นเหล็กหนา 12 มิลลิเมตรแขวนบนจุดรับน้ำหนักทั้งสองฝั่งที่ห่างกัน 90 เมตร โดยมีความสูงจากระดับพื้นถึงท้องฝ้าเพดานในช่วง 2.20-2.80 เมตร ในช่วงที่อุณหภูมิมีการเปลี่ยนแปลงของปี หลังคาจะมีการหดและหย่อนตกท้องช้างขึ้นลงในระยะ 30 เซนติเมตร

แม้ว่าจะดูกว้างมาก แต่มันก็รองรับกิจกรรมหลากหลายของสถาบัน ด้วยความสูงภายในเฉลี่ยที่ 2.40 เมตร นับว่ามีเสกลที่ดูอบอุ่น และเป็นความสูงของห้องเรียน บ้าน ทำให้ภายในดูเป็นกันเอง  การลงทุนของสถาบันการศึกษาไม่จำเป็นต้องไปลงกับอุปกรณ์เพียงอย่างเดียว แต่มันสามารถครอบคลุมไปถึงการลงทุนด้านรสนิยมด้วยเช่นกัน เพราะมหาวิทยาลัยที่ดี มีหน้าที่สอนรสนิยมที่ดีให้กับนักศึกษา

แปลและเรียบเรียงจาก: www.designboom.com
ที่มา: www.spoon-tamago.comarchitecturephoto.net

Tags

Tags: , , ,

สาโรช พระวงค์

สถาปนิกผู้ริเป็นนักเขียน และอาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี สนใจในสถาปัตยกรรมที่สร้างคุณภาพที่ชีวิตที่ดีขึ้น เลยมาเขียนเล่าให้ผู้อ่านเป็นเนืองๆ

See all articles