Hakusui Nursery School: โรงเรียนอนุบาลเอียงๆ ในพื้นที่เชิงเขาประเทศญี่ปุ่น

พื้นที่การเรียนรู้ได้ปรับเปลี่ยนไปอย่างช้าๆ ภาพของห้องเรียนตั้งแต่ยุค 100 ปีที่แล้วยังสามารถมีให้เห็นอยู่ คือ ห้องเรียนที่เน้นการเรียนทางเดียว บังคับให้นักเรียนจ้องมาที่กระดานเพื่อฟังครูสอน แต่ถ้าวันหนึ่งเราต้องการจะสร้างพื้นที่ห้องเรียนแบบใหม่เพื่อการเรียนรู้ใหม่ๆ ให้กับเด็กบ้าง รูปร่างหน้าตาจะมีทางเลือกแบบไหนได้บ้าง

อีกคำตอบที่น่าสนใจอาจจะให้ลองดูกันที่โรงเรียนเนิร์สเซอรีฮะคุซุย จังหวัดชิบะ ประเทศญี่ปุ่น เมื่อสถาปนิก Yamazaki Kentaro Design Workshop ได้นำเสนอโรงเรียนที่ปล่อยให้เด็กเข้าไปเล่นกับสถาปัตยกรรมอย่างเต็มที่ เนื่องด้วยโรงเรียนตั้งอยู่ในที่ลาดเอียงเล็กน้อยสไตล์แผ่นดินเชิงเขาทั่วไปในญี่ปุ่น ภายในโรงเรียนจึงออกแบบให้ล้อกับสภาพภูมิประเทศด้วยการออกแบบเป็นบันไดขนาดใหญ่ พร้อมกับแทรกทั้งพื้นที่เล่น พื้นที่เรียนเข้าไปยังภายในโรงเรียน บันไดนี้มีลักษณะโล่งโปร่งเพื่อให้กิจกรรมไหลต่อเนื่องกันมากที่สุด จนสามารถเปิดปฏิสัมพันธ์กับนักเรียนในโรงเรียนทุกวัย ไม่ว่าจะเป็นนักเรียนวัย 3 ขวบก็สามารถวิ่งเล่นสวนกันกับเด็ก 5 ขวบได้ หรือแอบงีบหลับในขณะที่อีกวัยกำลังเล่นกันอยู่ภายใน

นอกจากนี้ยังเชื่อมโยงระหว่างภาบนอกกับภายในด้วยการออกแบบให้ผนังด้านทิศตะวันออก-ตกเป็นกระจกใสให้พื้นที่โดยรอบที่เป็นต้นไม้ ถนน เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งภายในให้เกิดปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันอีกด้วย ทางด้านทิศเหนือซึ่งอยู่บนสุดปล่อยให้เป็นเฉลียงวิ่งเล่นกลางแจ้ง ด้านทิศใต้เป็นบ่อรับน้ำจากหลังคาที่ลาดเอียงจากทิศเหนือเพื่อให้เด็กสามารถเล่นกับน้ำได้ด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ทั้งนั้นเพื่อให้ครูสามารถดูแลได้อย่างทั่วถึง สถาปนิกได้ออกแบบให้ลดซอกมุมเพื่อลดอันตรายจากการเล่นกับเด็ก

เล่นให้ฉลาดวันนี้ เป็นผู้ใหญ่คิดสร้างสรรค์วันหน้า แต่ถ้าไม่เล่นก็ยากจะฝึกความคิด เราสามารถให้เด็กเล่นกับสถาปัตยกรรมได้ตั้งแต่วันนี้เลย

  

อ้างอิง : archdailydesignboom

สาโรช พระวงค์

สถาปนิกผู้ริเป็นนักเขียน และอาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี สนใจในสถาปัตยกรรมที่สร้างคุณภาพที่ชีวิตที่ดีขึ้น เลยมาเขียนเล่าให้ผู้อ่านเป็นเนืองๆ

See all articles