ถ้าพูดถึง ‘กฐิน’ เราคงนึกถึงงานบุญถวายผ้าไตรจีวรตามวัดหลังออกพรรษาอันเป็นวัฒนธรรมประเพณีของสังคมพุทธ แต่ใครจะคิดว่ามีอีกรูปแบบหนึ่งที่ไม่ได้เดินบนขนบนั้น แถมไม่มีเงื่อนไขของเวลามาเป็นตัวกำหนดว่าช่วงเวลาไหนในรอบปี หากอยากจะทำก็ทำได้เมื่อพร้อม แน่นอนไม่ใช่เรื่องผ้าไตรจีวรพระสงฆ์ หากแต่เป็นการเชื้อเชิญผู้คนไปทำงานศิลปะสร้างสรรค์ชุมชนในรูปแบบของจิตอาสา ที่นอกจากจะสนุกสนานแล้วยังสร้างประโยชน์ให้สาธารณะได้บุญด้วย อ๊อฟ – อิทธิพล ตันติณิชกุล ผู้ก่อตั้งบริษัท แฮนด์ฟิล จำกัด เขาเป็นทั้งศิลปินและนักออกแบบที่ทำงานตกแต่งอาคารด้วยเทคนิคสื่อผสม รวมทั้งสร้างงานภาพเขียนสีรูปต่างๆ และเป็นเจ้าของโปรเจ็กต์สตรีทอาร์ทที่มีชื่อว่า ‘กฐินศิลปะ’
กฐินศิลปะ คือการระดมศิลปินและผู้สนใจทั้งหลายไปช่วยกันสร้างสีสันให้ชนบทห่างไกล เช่น โรงเรียน, วัด, อาคารสาธารณะชุมชน หรือแม้แต่บางพื้นที่ในกรุงเทพฯ เป็นกิจกรรมจิตอาสาที่ไม่หวังผลตอบแทนและออกแบบโดยคำนึงถึงความต้องการของแต่ละพื้นที่ โครงการนี้ทำมาแล้วหลายปีอย่างต่อเนื่องในหลายจังหวัด เช่น โรงเรียนอัสสัมชัญ ศรีราชา ชลบุรี, ชุมชนใน อ. มโนรมย์ จ. ชัยนาท, สวรรคโลก สุโขทัย, (โครงการตกแต่งอาคารศูนย์การเรียนรู้เพื่อประโยชน์แก่ชุมชนและความสุขสาธารณะ) ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก อ.เวียงสา จ.น่าน และแม้แต่ในกรุงเทพฯ ด้วยจุดเริ่มต้นเมื่อประมาณปี 2545 เขาเริ่มต้นจากการเปิดโรงเรียนสอนศิลปะเด็ก อาจเป็นเพราะความใกล้ชิด คุ้นเคย สนุกสนานกับเด็ก จึงเกิดแรงบันดาลใจและอยากทำอะไรคืนให้กับสังคมบ้าง ซึ่งเป็นต้นเค้าของโครงการในเวลาต่อมา
“การเข้าไปทำงานร่วมกับชุมชนนั้น ไม่ใช่นึกอยากจะไปก็ไป แต่เราต้องติดต่อประสานงานได้รับการยืนยันจากทางท้องที่นั้นก่อนว่าต้องการแบบไหนและที่ไหน ซึ่งทางผมก็จะตั้งงบประมาณและขอรับบริจาคด้วยอีกส่วนหนึ่งก่อนเข้าไปที่นั่น นอกจากศิลปินที่มาเข้าร่วมงานแล้ว พนักงานของบริษัทหรือบางทีก็มีชาวบ้านที่นั่นนึกสนุกมาร่วมแรงด้วยเช่นกัน” อ๊อฟอธิบาย
“ทั้งหมดเป็นการสร้างงานที่ไม่คาดหวังเรื่องความสมบูรณ์แบบนัก เป็นการเวิร์คและทราเวล คือด้วยส่วนหนึ่งทุกคนรักการเดินทางท่องเที่ยว เพื่อไม่ให้เป็นการสูญเปล่า การเดินทางก็ควรจะเอาประสบการณ์ทางศิลปะไปแบ่งปันกันด้วย และเพียงแค่เราพึงพอใจ ความสุขก็เกิด ทั้งคนทำและชุมชน และจะทำโปรเจกต์นี้อย่างต่อเนื่อง ในปีนี้คาดว่าจะไปที่ ป่าตองจังหวัดภูเก็ตอีกครั้ง ที่นั่นเจอผลกระทบจากโควิดทำให้รายได้หดหาย เราอาจไปช่วยเติมเต็มด้วยการสร้างงานศิลปะกระตุ้นทางด้านเศรษฐกิจได้บ้าง”
นี่คือมุมมองเชิงบวกที่เป็นประโยชน์ แต่ละคนมีประสบการณ์และความสามารถที่แตกต่าง และหากพอจะทำอะไรคืนให้สังคมได้ก็อย่ารอช้า ด้วยเราเชื่อว่าทุกคนล้วนสร้างสรรค์ประโยชน์ให้กับสังคมได้เสมอ
อ้างอิง: www.facebook.com/oppartvillage, www.facebook.com/handfeelgroup