ใครว่าการเล่นไม่สำคัญ นอกจากเรื่องคลายเครียดแล้ว การเล่นยังช่วยเพิ่มความสามารถทางสมองให้กับมนุษย์ แต่การเล่นจะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันได้อย่างไรบ้าง ถ้าไม่นับการใช้สมาร์ทโฟนที่อยู่ใกล้ตัวเรา แต่สิ่งที่อยู่รายรอบตัวเราอย่างสถาปัตยกรรม เราก็สามารถเข้าไปเล่นกับมันได้ และเล่นจนสร้างความจริงจัง มันเป็นการเล่นที่ทำให้กระตุ้นหลายประสาทสัมผัส ทำให้ร่างกายได้เคลื่อนไหวจริง ทั้งสนุก และได้ออกแรงอีกด้วย
การคลี่คลายให้สถาปัตยกรรมเล่นได้ ทำให้เกิดการพัฒนาในพื้นที่สีเทาในอดีต อย่างโรงฆ่าสัตว์กลายเป็นศูนย์วัฒนธรรม Matadero Madrid เมืองมาดริด ประเทศสเปน โดยได้สำนักงานสถาปนิกจากอังกฤษ Aberrant Architecture เข้ามาออกแบบนิทรรศการสำหรับการเข้าไปเล่นกับพื้นที่สถาปัตยกรรม
นิทรรศการนี้มีชื่อว่า Landscape for Play สถาปนิกจินตนาการถึงพื้นที่สีสันสดใส ให้เหล่าเด็กชาย เด็กหญิง เข้าไปร่วมเล่นกันอย่างเต็มเปี่ยมจินตนาการ แนวความคิดที่สถาปนิกตั้งต้นคือศึกษาข้อความทางสถาปัตยกรรมของสถาปนิกชาวดัชต์ผู้เลื่องชื่อจากยุคโมเดิร์น Aldo van Eyck งานของ Eyck มีท่าทีลื่นไหล ปล่อยพื้นที่ให้เปิดต่อจินตนาการต่อการเล่นกับสถาปัตยกรรมอย่างมาก ทุกจังหวะของหลายส่วนที่ต้องเดินผ่าน มันจะถูกเชื้อเชิญให้หยุดจากองค์ประกอบต่าง ๆ ทั้งที่เป็นพื้นยุบ ทางเดินโค้งวนชวนติดตาม ลักษณะที่ดูเป็นข้อความสถาปัตยกรรมที่ซ่อนไว้จาก Eyck เหล่านี้ ทาง Aberrant Architecture ได้ต่อยอกลายเป็นนิทรรศการนี้ พื้นที่เล่นถูกกระตุ้นให้เด็กเข้าไปเล่นจากสีสันสดใสที่ล้วนเป็นแม่สี เพราะสีเหล่านี้จะดึงดูดเด็กในวัยที่มีพัฒนาการทางสมอง พื้นที่ต่าง ๆ ไม่ได้อยู่ในระนาบราบเรียบ มันสามารถให้เด็กเข้าไปเล่น ปีน มุดท่อสีแดงรูปหกเหลี่ยม รูปทรงกระบอกที่วางรายเรียงกับพื้นมีระดับที่หลั่นกันไป ชวนให้เด็กเข้ามานั่ง กระโดดไปยังระดับต่าง ๆ พื้นที่หลุมวงกลมสามารถกำหนดขอบเขตด้วยตัวมันเอง ไปพร้อมกับเป็นที่นั่งตามจินตนาการ เรื่องเหล่านี้คือการถอดสถาปัตยกรรมสู่พื้นที่นิทรรศการ
อ้างอิง: www.aberrantarchitecture.com, www.dezeen.com, www.archdaily.com