หลายคนอาจจะเคยเห็นไอเดียเจ๋งๆ ตอบโจทย์ผู้บริโภคและช่วยลดขยะอาหาร อย่างการจำหน่ายกล้วยบรรจุแพ็ค 6 ลูก ไล่เรียงตามระดับความสุกตั้งแต่เหลืองพอดีทานไปจนถึงห่ามที่พร้อมจะสุกในอีก 6-7 วันข้างหน้าของซูเปอร์มาเก็ตแดนโสมขาวกันแล้ว คราวนี้อยากพามาดูอีกหนึ่งความพยายามจัดการกับปัญหาขยะอาหาร ควบคู่ให้ความรู้แก่ผู้บริโภคในการจับจ่ายสินค้าอย่างชาญฉลาด และส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ในครัวไปพร้อมๆ กัน
ไอเดียที่ว่าคือ ‘Life Extending Stickers’ ของห้างสรรพสินค้าแม็คโคร ที่เกิดจากการสังเกตเห็นว่าลูกค้าส่วนใหญ่มักหลีกเลี่ยงการซื้อผลไม้สุกเพราะคิดว่ามันไม่เหมาะสำหรับบริโภคหรือนำไปใช้ประโยชน์ได้ไม่มากนัก ทางห้างจึงร่วมมือกับครีเอทีฟเอเจนซี่ Grey Colombia ออกแบบชุดสติกเกอร์ยืดอายุผักผลไม้บนชั้นและลบความเชื่อผิดๆ เพื่อแก้ปัญหาขยะอาหาร อันจัดเป็นวาระสำคัญระดับชาติกระทั่งระดับโลก ตามข้อมูลของกรมวางแผนแห่งชาติโคลอมเบีย (DNP) ที่ระบุว่า มีอาหารราว 6.1 ล้านตันถูกทิ้งในโคลอมเบียทุกปี ขณะที่องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) แจงว่าตัวเลขทั่วโลกสูงถึง 1.3 พันล้านตันต่อปี โดยประมาณ 40% ของขยะเหล่านี้เป็นผักและผลไม้
สำหรับเจ้า Life Extending Stickers นั้นมองผิวเผินแล้วดูไม่ต่างกับสติกเกอร์ขนาด 1 ตางรางนิ้วทั่วไป ไม่มีเทคโนโลยีใดๆ ซับซ้อน หากความน่าสนใจอยู่ตรงที่แต่ละชิ้นถูกออกแบบมาให้มีลักษณะเป็นวงกลมมีรูตรงกลางคล้ายโดนัท ล้อมรอบด้วยการไล่ระดับเฉดสีที่บ่งบอกถึงระดับความสุก-ห่าม ซึ่งทางห้างแปะมันไว้บนผิวผักผลไม้เพื่อให้ลูกค้าได้ใช้เปรียบเทียบกับสีจริง พร้อมมีคำแนะนำวิธีการใช้ผักและผลไม้ในช่วงความสุกระยะต่างๆ ยกตัวอย่างเช่น สติกเกอร์กล้วยที่บอกว่าสามารถนำไปทอด ทำไอศกรีม เทมปุระ และคัพเค้ก สติกเกอร์มะละกอแสดงให้เห็นว่าช่วงใดเหมาะทำสลัด เค้ก และมิลค์เชค หรือสติกเกอร์มะเขือเทศสำหรับคนที่ลังเลว่าแบบไหนจะพอดีกับการหยิบไปทำเทมปุระ สลัด และซุป
ปัจจุบันผักและผลไม้ที่มีการติดสติกเกอร์สุดสร้างสรรค์นี้มีวางจำหน่ายเฉพาะที่ห้างแม็คโคร ประเทศโคลอมเบีย แถมทางห้างยังขยันแนะนำสารพัดสูตรอาหารจากวัตถุดิบผักผลไม้ต่างๆ ผ่านบัญชี Instagram ของแบรนด์ @makrocolombia เสียด้วย แม้ว่าคำแนะนำเหล่านี้จะไม่ใช่กฎเกณฑ์เคร่งครัด แต่การนำเสนอความเป็นไปได้หลายหลากในการหยิบมันไปปรุงอาหาร ก็น่าจะมีส่วนจุดประกายให้ผู้คนหันมารับประทานผักผลไม้สุกงอมกันมากขึ้น รวมถึงสนับสนุนให้แต่ละคนเลือกซื้อผลิตผลที่ตรงกับความต้องการ ทดแทนการทิ้งขว้างให้กลายเป็นขยะอย่างสูญเปล่า
อ้างอิง: Designtaxi, lbbonline, INSIDER LATAM