ต่อยอดเทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติ สู่นวัตกรรมยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้พิการบนความเป็นไปได้ใหม่ ‘Lunet’ กายอุปกรณ์เทียมสำหรับผู้พิการด้านนิ้วมือหรือนิ้วมือเทียม ผลงานสร้างสรรค์ของ David Edquilang นักศึกษาด้านการออกแบบจากมหาวิทยาลัยฮูสตัน ที่เพิ่งจะคว้ารางวัล Luminary Winner ในงาน Red Dot Award: Design Concept ปีนี้มาครองหมาดๆ ด้วยความโดดเด่นของฟังก์ชั่นและกระบวนการผลิต ซึ่งช่วยเชื่อมโยงโอกาสให้ผู้พิการสามารถเข้าถึงอุปกรณ์ทางการแพทย์ได้ง่ายยิ่งกว่าเดิม
เพราะนวัตกรรมนิ้วมือเทียม Lunet นั้นสร้างขึ้นจากการใช้แบบจำลองพาราเมตริก ผสานการออกแบบโมดูลาร์ (Modular Design) ซึ่งทุกชิ้นส่วนโครงสร้างสามารถประกอบเข้ากันได้เหมาะเจาะโดยไม่ต้องพึ่งพาอุปกรณ์ติดตั้งหรือตัวยึดโลหะใดๆ อีกทั้งกระบวนการผลิตทั้งหมดอาศัยแค่เพียงการขึ้นรูปผ่านเครื่องพิมพ์ 3 มิติขนาดย่อม ตอบโจทย์การผลิตในระดับครัวเรือน สะดวก รวดเร็ว แถมมีประสิทธิภาพในการปรับแต่งอุปกรณ์ให้ลงตัวตามหลักสรีรศาสตร์ หรือเลือกสีสัน วัสดุ ผิวเคลือบได้หลายหลากความต้องการและความมั่นใจ
นอกจากการออกแบบที่เป็นมิตรต่อผู้สวมใส่ Lunet มีส่วนเชื่อมต่อทางกลไกพิเศษที่ควบคุมได้ด้วยการหดเกร็งมือ ซึ่งเลียนแบบการเคลื่อนไหวและเหยียด-งอของนิ้วจริง เพื่อฟื้นคืนศักยภาพ ทักษะ และความคล่องแคล่วของผู้พิการด้านนิ้วมือให้สามารถหยิบจับ ชี้นิ้ว เคลื่อนย้ายสิ่งของต่างๆ และแสดงท่าทางได้เช่นคนปกติทั่วไป ที่สำคัญนวัตกรรมนี้ยังมีต้นทุนการผลิตต่ำกว่า 1% เมื่อเปรียบเทียบกับราคาของนิ้วมือเทียมส่วนใหญ่ที่วางจำหน่ายในปัจจุบัน
โดยหลังจากนี้ทางนักออกแบบตั้งใจไว้ว่า เขาจะเผยแพร่วิธีการสร้างมันบนช่องทางออนไลน์ในรูปแบบของโอเพ่นซอร์ส เพื่อเปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถนำซอฟต์แวร์ไปต่อยอดใช้งานฟรี เนื่องจากเจ้าตัวเชื่อว่าการออกแบบที่ดีไม่ควรมีไว้สำหรับผู้มีเงินเพียงพอจะซื้อมันเท่านั้น เพราะการออกแบบเป็นเรื่องเกี่ยวกับการแก้ปัญหา การช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ และเขาก็อยากใช้ Lunet ช่วยเหลือผู้คนให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
อ้างอิง: yankodesign