Mi-chan’s Sweets Factory ร้านเบเกอรี่ขนาดจิ๋วของ ด.ญ. มิอิจัง เติมเต็มความสุขผ่านขนมอบรสมือตัวน้อย

ความฝันของคนเราต่อสถาปัตยกรรมแบบทั่วไป อาจจะเป็นการฝันว่ามีบ้านที่ตัวเองชอบสักหลัง การเติมเต็มความฝันของผู้คนด้วยสิ่งก่อสร้างด้วยการรับใช้สังคม ยกระดับคุณภาพชีวิต มันช่วยบ่งบอกว่าสถาปัตยกรรมทำอะไรให้กับสังคมได้บ้าง

แต่ถ้าไม่ใช่บ้าน สถาปัตยกรรมแบบไหนกันที่จะเป็นตัวอย่างการเติมเต็มให้กับความหมายในการใช้ชีวิตของครอบครัวหนึ่ง คำถามนี้มีคำตอบจากสำนักงานสถาปนิก Alts Design Office ด้วยร้านみいちゃん-มิอิจัง (จัง คือคำลงท้ายไว้เรียกเด็กหญิง) สถาปัตยกรรมขนาดเล็กที่เกิดจากความรักของพ่อแม่ต่อลูกสาวคนหนึ่งในจังหวัดจังหวัดนะงะโนะ ประเทศญี่ปุ่น มิอิจังคือชื่อเจ้าของร้านขนมขนาดเล็กบนที่ดินข้างบ้านขนาด 16.5 ตารางเมตร (ราว 4×4 เมตรเท่านั้นเอง) เรื่องราวของร้านมิอิจังเริ่มต้นจากที่ครอบครัวหนึ่งได้พบว่าลูกสาววัย 13 ขวบมีพรสวรรค์ในการทำขนมอบต่างๆ จากการที่เธอเริ่มฝึกฝนการทำขนมมาตั้งแต่อายุ 10 ขวบ แม้ว่าลูกสาวจะมีอาการป่วยด้วยความบกพร่องทางสมอง จึงเกิดโปรแกรม The Sweets Factory ที่ออกแบบมาเพื่อเติมเต็มความฝันของเธอที่ต้องการสร้างความสุขให้กับผู้คนผ่านขนมรสมือของเธอจากร้านในฝันของเธอเอง

จากความฝันของเด็กสาวสู่พิมพ์เขียวด้วยจินตนาการของสถาปนิก Sumio Mizumoto จาก Alts Design Office ได้ทำการตีความออกมาเป็นร้านขนมขนาดเล็กที่มีลักษณะคู่ตรงข้ามในงานเดียวกัน ทั้ง positive ด้วยการใช้ผนังกระจกโปร่งจากหน้าร้านที่สามารถมองทะลุไปยังแม่น้ำหลังร้านได้ และยังแสดงออกผ่าน negative ด้วยผนังทึบปิดกั้นตัวเองจากภายนอก แต่ทั้งคู่ตรงข้ามนี้กลายเป็นเนื้อเดียวกันแบบเบลอด้วยการออกแบบพื้นที่ภายในอย่างแยบยล สาเหตุที่การออกแบบให้ภายนอกมีลักษณะเป็นขั้วตรงข้ามนี้มาจากการใช้งานของตัวร้าน พื้นที่ส่วนที่เป็นผนังกระจก เพื่อให้เกิดความโปร่ง สามารถดึงแสงธรรมชาติเข้ามายังร้านได้มาก ทำให้เชื่อมโยงกับโลกภายนอกได้ดี เป็นพื้นที่ได้พบเจอกับลูกค้า ส่วนที่เป็นผนังทึบ เป็นส่วนสำหรับทำขนม ด้วยการใช้ผนังทึบ เชื่อมโยงกับภายนอกน้อย ทำให้สามารถสร้างสมาธิและเพิ่มความคิดสร้างสรรค์ให้มิจังได้ ด้วยลดการรบกวนจากโลกภายนอก ในขณะเดียวกันก็มีส่วนหน้าร้านที่ยังสามารถพบปะกับคนอื่นๆ ทำให้ช่วยมิอิจังในการเข้ากับสังคมภายนอกได้

การออกแบบสถาปัตยกรรมคืออะไร ในอีกนิยามที่พบคือการแก้ปัญหา ให้มนุษย์มีชีวิตที่ดีขึ้นด้วยสิ่งก่อสร้างที่ยกระดับคุณภาพชีวิตมนุษย์ ไม่มากหรือน้อยไปกว่านี้

อ้างอิง: www.alts-design.comwww.spoon-tamago.comwww.archello.comwww.zhuanlan.zhihu.com

สาโรช พระวงค์

สถาปนิกผู้ริเป็นนักเขียน และอาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี สนใจในสถาปัตยกรรมที่สร้างคุณภาพที่ชีวิตที่ดีขึ้น เลยมาเขียนเล่าให้ผู้อ่านเป็นเนืองๆ

See all articles