Mountain House in Mist ห้องสมุดกลางหุบเขาในจีน สถาปัตยกรรมใหม่ที่แทรกตัวอยู่ในวิถีเก่า

สถาปัตยกรรมพื้นถิ่นคือสถาปัตยกรรมที่ไม่ได้เกิดจากฝีมือการออกแบบโดยสถาปนิกที่ได้เรียนในโรงเรียนสถาปัตยกรรม หรือผ่านการฝึกฝนในระบบตามมาตรฐานการศึกษา แต่มันเกิดจากฝีมือชาวบ้านที่ทำตามไปตามพลวัตรของถิ่นที่ ตามปากท้องของพื้นถิ่นนั้น ๆ ในทรรศนะของศาสตราจารย์เกียรติคุณอรศิริ ปาณินท์ สถาปัตยกรรมพื้นถิ่นคือ สถาปัตยกรรมที่มีธรรมชาติของการดำรงชีวิตในแต่ละท้องถิ่น ดังนั้นการตีความเรื่องราวของสถาปัตยกรรมร่วมสมัยจากใจความของอดีตกาล จึงต้องตีความในมิติต่าง ๆ ทั้งทางด้านการวัฒนธรรม การตั้งถิ่นฐานของแต่ละชุมชนก่อนสกัดนำมาใช้ในงานออกแบบ

ในพื้นที่อันทรงพลังของหุบเขาในเทศมณฑลหวู่อี่  เมืองจินหัว จังหวัดเจ้อเจียง ประเทศจีน ได้มีสถาปัตยกรรมขนาดเล็กแทรกอยู่ท่ามกลางสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นเดิมในหมู่บ้าน หากมองผ่าน ๆ จะเป็นเรือนยกใต้ถุนสูงแบบที่พบได้ในเรือนชาวไตทางจีนตอนใต้ แต่พอมองในรายละเอียด มันมีเรื่องราวมากกว่านั้น มันคือห้องสมุดชุมชนที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างพื้นที่มีความสงบ เพื่อดึงดูดผู้คนเข้ามาจึงดึงดูดให้คนหนุ่มสาวและเด็ก ๆ กลับไปที่หมู่บ้านในภูเขามากขึ้น จากความต้องการนี้ Shulin Architects สถาปนิกของโครงการห้องสมุดนี้ได้ตีความการออกแบบด้วยการออกตัวว่าไม่รู้จักชนบท ตามแบบสถาปนิกที่ส่วนใหญ่ได้รับการศึกษาจากในเมือง แต่ในฐานะสถาปนิก เขาได้เสนอให้ตีความจากความหวังดีของพวกเขาที่ต้องการเข้าไปยกระดับคุณภาพชีวิตด้วยการออกแบบ พวกเขาศึกษาเรื่องราวพื้นถิ่น จากการสำรวจพื้นที่ในชนบทเพื่อหาแรงบันดาลใจจากท้องถิ่นสู่ความร่วมสมัย

สถาปนิกพัฒนาแบบจากความเข้าใจของพื้นที่ลาดเชิงเขา สถาปัตยกรรมพื้นถิ่นจะถูกวางตัวให้เกาะไปกับเส้นความชันของภูเขา ซึ่งใช้เทคนิคตัดและเติมที่ดินให้มีพื้นที่ราบพอที่สร้างบ้านเรือนลงไปได้ แต่ปัญหาที่ตามมาคือความไม่ต่อเนื่องของเรือนแต่ละหลัง จึงต้องมีการเชื่อมแต่ละระดับด้วยบันได แต่ขาดการเชื่อมโยงทางสายตา สถาปนิกได้ใช้วิธียกห้องสมุดให้มีใต้ถุนสูงคล้ายเรือนไทย จากนั้นเติมส่วนใช้สอยให้เป็นพื้นที่อเนกประสงค์ที่ลานชั้น 1 ทำการแหวกหลังคาออกเป็นคอร์ตขนาดย่อมให้น้ำฝน แสงธรรมชาติส่องลงมากลางพื้นใต้ถุนให้มีบรรยากาศของธรรมชาติ จากการใช้วิธีนี้ ทำให้เกิดความเชื่อมโยงทางสายตากับพื้นที่ระดับสูงกว่า และเปิดโอกาสให้ผู้คนในชุมชนใช้พื้นที่ห้องสมุดเป็นทางผ่านจากระดับบนไปยังระดับล่าง กลายเป็นลานย่อยของชุมชน เชื่อมต่อกับลานใหญ่ที่อยู่ไม่ไกลกันนัก พื้นที่ชั้น 2 เป็นห้องสมุดที่มีทางเดินล้อมรอบส่วนอ่านหนังสือ แทรกชั้นลอยให้มีความเคลื่อนไหว พร้อมเสริมตาข่ายให้กลายเป็นพื้นที่เล่นของเด็ก

นอกจากนี้ ยังออกแบบภาพรวมงานด้วยระบบประสานทางพิกัด หรือ Modular System ที่สามารถลดการใช้วัสดุ ด้วยแนวคิดตัดให้เหลือเศษน้อยที่สุด โดยวัสดุระบบอุตสากรรมจะมีขนาดกว้าง 3 ฟุต และยาว 6 ฟุต (122×244 เซนติเมตร) ทั้งแผ่นไม้อัดที่เป็นชั้นหนังสือที่ตัดเป็นแผ่นขนาด 30×30 เซนติเมตร เพื่อความลงตัวของวัสดุ แผ่นโพลีคาร์บอเนตชนิดโปร่งแสงที่เป็นผนังภายนอก เมื่อมองจากภายนอกในเวลากลางวันมันจึงมีความไม่ชัดเจน สร้างพื้นที่ภายในให้กึ่งส่วนตัว กึ่งทึบกึ่งโปร่ง คล้ายเรือนหมอกในหุบเขา และเป็นโคมไฟให้ชุมชนยามค่ำคืนจากแสงไฟที่ส่องมาจากภายในห้องสมุด

แม้ว่าภาพรวมจะมีความขัดแย้งของตัวสถาปัตยกรรมใหม่กับสภาพแวดล้อมจากความใหม่ ในขณะที่เนื้อหามาจากความต้องการที่หลอมรวมตัวมันเองเข้ากับท้องถิ่นด้วยความพยายาม แต่อย่างน้อยมันคือการบอกว่าสิ่งใหม่ที่เกิดขึ้นคือการสร้างสรรค์ในยุคปัจจุบัน เป็นฉากหลังให้ความเก่าขับขานตัวมันเองอย่างเต็มที่มากกว่าลอกเลียนอดีต

แปลและเรียบเรียงจาก: www.hzshulin.com
ที่มา: www.archdaily.comwww.dwell.com
ที่มาเพิ่มเติม:
– เรืองศักดิ์ กันตะบุตร,การวางผังอาคารด้วยตารางพิกัด = Modular planning.กรุงเทพฯ : แพร่พิทยา, 2529
– อรศิริ ปาณินท์,มองอดีต ผ่านเวลา ศรัทธาสถาปัตยกรรมไทย.กรุงเทพฯ : คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2546

Tags

Tags: ,

สาโรช พระวงค์

สถาปนิกผู้ริเป็นนักเขียน และอาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี สนใจในสถาปัตยกรรมที่สร้างคุณภาพที่ชีวิตที่ดีขึ้น เลยมาเขียนเล่าให้ผู้อ่านเป็นเนืองๆ

See all articles