Naidi Community Hall ศาลาประชาคมนาอิดิ ประเทศฟิจิ แหล่งรวมกิจกรรมของคนในชุมชน

ในหลายวัฒนธรรม พื้นที่ส่วนรวมของชุมชนคือแหล่งรวมใจให้ผู้คนในชุมชนมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน มันอาจจะเป็นลานใจกลางชุมชนสักที่เพื่อใช้ในงานสาธารณะหลากรูปแบบ ทั้งเลือกตั้ง ประชุมชุมชน แต่ในบริบทที่คุ้นเคยสำหรับบ้านเราคือลานวัดและศาลาประชาคม

ศาลาประชาคมสำหรับชุมชนห่างไกลเป็นสถาปัตยกรรมขนาดเล็กที่จำเป็น เพราะทำหน้าที่เป็นศูนย์รวมชุมชนทำกิจกรรมต่าง ๆ อย่างเช่นการสร้างศาลาประชาคมหลังใหม่ (Naidi Community Hall) แทนที่ศาลาหลังเดิมก่อนหน้านี้ในหมู่บ้านนาอิดิ ประเทศฟิจิ ซึ่งถูกพายุไซโคลนพัดทำลายในปี 2559 โดยได้สำนักงานออกแบบหลากสัญชาติ Caukin Studio มาทำการออกแบบ พร้อมกับร่วมมือกับอาสาสมัคร 20 ชีวิตทั้งที่เป็นนักเรียนสถาปัตย์และช่างร่วมกันก่อสร้างศาลานี้ขึ้นมาใหม่

จุดเริ่มโครงการได้รับเงินทุนสนับสนุนจากกองทุน Jazmin ซึ่งเป็นหน่วยงานการกุศลของ Naqaqa Giving Foundation เพื่อสร้างพื้นที่ชุมชนให้ผู้คนกว่า 400 ชีวิตจาก 75 ครัวเรือน ในแนวคิดที่ต้องการสร้างสถาปัตยกรรมที่เรียบง่าย เป็นมิตร ส่งเสริมความยั่งยืน ดังที่เราจะเห็นได้จากวัสดุที่ใช้ไม้สนที่หาได้ง่ายในฟิจิมาประกอบเข้ากันทั้งส่วนที่เป็นโครงสร้างและส่วนประกอบอื่น ๆ ทำให้ศาลาหลังนี้ใช้เวลาก่อสร้าง 8 สัปดาห์โดยฐานเป็นคอนกรีตผสมกับไม้

การวางส่วนการใช้สอยถูกออกแบบโดยคำนึงถึงกิจกรรมของชุมชน โดยหันหน้าศาลาไปยังหมู่บ้าน ให้พื้นที่ด้านหน้าสามารถเป็นได้ทั้งทางเข้าและแปลงเป็นเวทีสำหรับกิจกรรมอย่างอื่นเช่น ‘Meke’ คือการเต้นระบำพื้นเมืองของชาวฟิจิ พื้นที่ภายในมีลักษณะโล่งให้การใช้สอยยืดหยุ่นมากที่สุด นอกจากนี้ยังออกแบบโดยให้มีพื้นที่ระหว่างภายในศาลากับหลังคา พร้อมกับใส่หน้าต่างบริเวณใต้เพดานช่วยระบายอากาศร้อนเพิ่มอีก ส่วนหน้าต่างใช้หน้าต่างบานเกล็ดช่วยระบายอากาศ ทำให้ศาลามีลักษณะพรุน ระบายอากาศได้ดี เหมาะกับสภาพแวดล้อมของฟิจิ

แม้ว่ารูปทรงภายนอกจะดูตรงไปตรงมา หลายส่วนเหมือนไม่ได้รับการออกแบบที่ประณีต ทั้งโครงสร้างโครงถักหลังคาที่แสดงออกมาอย่างชัดเจนไม่ปิดบัง วัสดุไม้แบบไม่แต่งผิวจนดูดิบ แต่เมื่อมองเงื่อนไขที่ผลักจนเกิดงานนี้ขึ้นมา นับว่ามีความเหมาะสมแล้วตามท้องเรื่องของมันเอง

 

 

อ้างอิง: www.caukinstudio.com, architectureindevelopment.orgwww.dezeen.com

สาโรช พระวงค์

สถาปนิกผู้ริเป็นนักเขียน และอาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี สนใจในสถาปัตยกรรมที่สร้างคุณภาพที่ชีวิตที่ดีขึ้น เลยมาเขียนเล่าให้ผู้อ่านเป็นเนืองๆ

See all articles