ศูนย์ศิลปะการแสดงได้หวัน แต้มชีวิตให้เมือง เติมความสร้างสรรค์ให้ผู้คน

การเข้าถึงสถาปัตยกรรมสาธารณะควรจะเป็นไปได้โดยง่าย เพื่อตรงไปตามเจตนาการใช้งานที่ออกแบบมาเพื่อรองรับคนส่วนใหญ่ อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มมูลค่าพื้นที่สาธารณะ ก่อเกิดคุณภาพชีวิตที่ดีในสังคมนั้นๆ ไต้หวันเป็นอีกประเทศที่ใส่ใจเรื่องพื้นที่สาธารณะเมือง ตามที่เราได้เห็นจำนวนพื้นที่สาธารณะที่หาได้ง่าย เข้าถึงง่าย ยิ่งได้มาเยือนไทเป จะเห็นได้ถึงประเด็นนี้ ได้เห็นการออกแบบเมืองที่ละเอียดลออ โดยคิดถึงผู้ใช้งานที่หลากหลายในสังคม

ณ แยกทางเข้าตลาดกลางคืนซื่อหลิน ในกรุงไทเป ปรากฏอาคารขนาดมหึมา Taipei Performing Arts Center หรือศูนย์ศิลปะการแสดงไต้หวัน ซึ่งเป็นทรงกล่องสี่เหลี่ยมใหญ่โต มีก้อนสี่เหลี่ยมคางหมูเข้ามาชนให้รูปทรงประสานกันทางด้านทิศใต้ และดูโดดเด่นสุดด้วยรูปทรงกลมขนาดใหญ่ที่บรรจุโรงละครภายในเข้ามาที่ด้านทิศตะวันออก ความยักษ์ใหญ่ทำให้มันตั้งตระหง่านอย่างน่าสนใจ พื้นที่ภายในประกบด้วยกิจกรรมหลากหลาย ทั้งเป็นโรงละคร 3 โรง ทั้งโรงละครหลัก 1,500 ที่นั่ง แบบบลูบอกซ์ 800 ที่นั่ง ทั้ง 2 โรงสามารถปรับเปลี่ยนให้รวมกันได้ในเวลาที่ต้องการการแสดงที่มีความหลากหลาย และโรงละครที่เป็นทรงกลมเด่นเห็นจากภายนอกได้ขนาด 800 ที่นั่ง

โรงละครมหึมานี้ออกแบบสถาปัตยกรรมโดย OMA ตั้งอยู่บนแยกที่คราคร่ำไปด้วยผู้คน ติดกับตลาดซื่อหลินซึ่งเป็นตลาดกลางคืนขายของหลากหลายทั้งอาหาร ของที่ระลึก ของเล่น หรืออื่นๆ อีกทั้งยังอยู่ติดกับสถานีรถไฟเจี้ยนถาน ทำให้สภาพที่ตั้งมีลักษณะจอแจ เพราะอยู่ตรงแยกของถนนทั้ง 4 สาย โดยโรงละครนี้เป็นโครงการของภาครัฐ ถ้าเป็นความคุ้นชินของคนไทยคงจะไม่พบแบบนี้บ่อยนัก แต่ที่ไต้หวันให้ความสำคัญกับงานออกแบบอย่างมาก จึงลงทุนกับสาธารณูปการจำนวนมากให้มีการออกแบบที่ดี เช่นโรงละครนี้ที่ลงทุนจ้างสถาปนิกระดับตำนาน OMA มาออกแบบ

เร็ม โกลฮาส หนึ่งในสถาปนิกที่ออกแบบโรงละครนี้ พูดถึงสิ่งที่ทำให้ที่นี่น่าสนใจกว่าอาคารภาครัฐทั่วไปคือการเป็นมิตร โอบกอดประชาชนเขากับอาคารของพวกเขาได้อย่างไร  เร็มพูดถึงหนึ่งในแนวคิดการออกแบบที่โรงละครแห่งนี้ว่า ‘Access for all’ ด้วยสถานที่นี่ต้องรองรับผู้คนหลายแบบ อาจจะเป็นชนชั้นสูง ประชาชนคนทั่วไป แบบตั้งใจมาดูการแสดงหรือจะบังเอิญมา แต่ที่นี่คือสถานที่สำหรับการมีชีวิตที่สร้างสรรค์ด้วยศิลปะเพื่อสังคม ในย่านนี้มีชีวิตชีวาด้วยตลาดซื่อหลิน มันสะท้อนถึงความหลากหลายของวัฒนธรรมแบบเอเชีย

จากแนวคิดนี้ การออกแบบกิจกรรมในอาคาร จึงมีการผสมผสานกัน ไม่ให้อาคารตายจากการร้างการใช้งาน มันจึงผสมไปด้วยโปรแกรมหลักคือโรงละครทั้ง 3 โรงที่ชั้นบน และชั้น 1 และ 2 โดยชั้น 2 เป็นพื้นที่สาธารณะให้ทุกคนเข้ามาใช้ได้ แม้ว่าจะเป็นวันที่ไม่มีการแสดงหรือไม่มาดูการแสดงก็สามารถเข้านั่งอ่านหนังสือ ดื่มกาแฟ นัดพบปะ ส่วนชั้นล่างบริเวณภายในอาคารเป็นพื้นที่สาธารณะ ร้านกาแฟ พื้นที่ในร่มที่ชั้น 1 กลายเป็นลานเอนกประสงค์รายล้อมไปด้วยสวน สามารถพักผ่อนได้ช่วงกลางวันจนดึกดื่น ด้วยความที่เป็นพื้นที่โล่งแบบใต้ถุนเรือน มันจึงกลายเป็นทางเดินเชื่อมกันไปมาของผู้คนที่อยู่ด้านทิศตะวันต ที่สัญจรผ่านสวนของใต้ถุนอาคารนี้สู่สถานีรถไฟหรือไปตลาดซื่อหลิน ในบางวันลานโล่งจะกลายเป็นที่นัดพบของวัยรุ่นมาซ้อมเต้นคัฟเวอร์ก็มี นอกจากนี้ยังมีเส้นทางให้เข้าชมภายในรอบโรงละครฟรีทุกวันพุธถึงอาทิตย์อีกด้วย

ในทางสถาปัตยกรรม ภาษาสถาปัตยกรรมคือการบอกว่าสถาปัตยกรรมนี้ทำหน้าที่อะไร ให้ความรู้สึกอะไร จากกรณีที่ไทเป แนวคิดของอาคารรัฐบาลที่ดูเข้าถึงยาก ไม่เป็นมิตร แนวคิดราชการเป็นใหญ่ทำให้ขาดปฏิสัมพันธ์กับผู้คนในสังคมจนร้างการใช้งานมีให้เห็นเป็นตัวอย่างไปแล้วมากมายในบ้านเรา เราควรหันมาสนใจการออกแบบที่มีภาษาสถาปัตยกรรมเป็นมิตรให้ตอบรับกับโลกสมัยใหม่มากกว่าจะย้อนเวลาไปใช้ภาษาเก่าที่ไม่รับใช้กับปัจจุบันไม่ใช่หรือ

แปลและเรียบเรียงจาก www.oma.com
ที่มา: www.archdaily.com, youtu.be

สาโรช พระวงค์

สถาปนิกผู้ริเป็นนักเขียน และอาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี สนใจในสถาปัตยกรรมที่สร้างคุณภาพที่ชีวิตที่ดีขึ้น เลยมาเขียนเล่าให้ผู้อ่านเป็นเนืองๆ

See all articles