Peel Saver แพคเกจจิ้งใส่เฟรนช์ฟรายจากเปลือกมันฝรั่งย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ

ถ้าลองสังเกตให้ดี สถานที่ที่ผลิตขยะออกมาเป็นจำนวนมากภายในเวลาอันรวดเร็วแห่งหนึ่งในอุตสาหกรรมการบริโภคก็คือ ร้านอาหารจำพวกฟาสต์ฟู้ด เพราะนอกจากจาน ชาม ช้อน ส้อม มักจะเป็นกระดาษและพลาสติกเพื่อความสะดวกสบายของทางร้านแล้ว แพกเกจจิ้งที่ใช้ห่ออาหารนั้นๆ ก็ยังคงหนีไม่พ้นวัสดุจำพวกใช้ครั้งเดียวทิ้ง (disposable) อีกด้วย ซึ่งระยะเวลาการใช้แพกเกจจิ้งเหล่านั้นของคนส่วนมากก็คือภายในไม่กี่นาทีที่เรากินอาหารเท่านั้น

สามนักออกแบบชาวอิตาเลียน Simone Caronni, Paolo Stefano Gentile และ Petro Gaeli เล็งเห็นความจริงข้อนี้และอยากจะหาทางช่วยแก้ไข พวกเขาเริ่มต้นโปรเจ็กต์ด้วยการสังเกตกระบวนการผลิตเฟรนช์ฟราย แล้วก็เห็นว่าในการทำเฟรนช์ฟรายนั้น มีเปลือกมันฝรั่งเป็นจำนวนมากที่ถูกทิ้งไปโดยไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไร ดังนั้นทำไมไม่ลองเอาเปลือกมันฝรั่งที่จะต้องถูกโยนทิ้งไปเปล่าๆ มาลองพัฒนาหาทางใช้ประโยชน์จากมันดู? เป็นต้นว่าใช้มันเป็นแพกเกจจิ้งใส่มันฝรั่งทอด เหมือนที่มันเคยทำหน้าที่นี้ก่อนที่จะปอกเปลือกออกมา

พวกเขาก็เลยทดลองเอาเปลือกมันฝรั่งมาแช่น้ำให้เปื่อย ตากจนแห้ง และนำไปขึ้นรูปในแม่พิมพ์ทรงกลม จนเมื่อได้เปลือกมันฝรั่งที่เป็นแผ่นแบนๆ ทรงกลมออกมาแล้ว ก็นำมาม้วนให้เป็นกรวยคล้ายโคนไอศกรีม แต่แทนที่ภายในโคนจะเป็นไอศกรีมก็ใช้สำหรับใส่มันฝรั่งทอดแทน พวกเขายังตั้งชื่อเก๋ๆ ที่มีความหมายให้แพกเกจจิ้งมันฝรั่งทอดที่ทำจากเปลือกมันฝรั่งชิ้นนี้ว่า Peel Saver

ไอเดียนี้นับว่าเจ๋งมากๆ เพราะเป็นการนำเอาเปลือกมันฝรั่งกลับมาใช้ในฟังค์ชันที่มันเคยทำ นั่นคือ ห่อมันฝรั่ง (ทอด) เอาไว้ ที่สำคัญแน่นอนว่าเป็นวัสดุที่ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ 100% ฟังๆ ดูแล้ว ไอเดียนี้แทบไม่ต่างอะไรกับบ้านเราที่เอาเปลือกมะพร้าวมาใช้เป็นถ้วยไอติมกะทิเลย คือนอกจากจะรักษ์โลกและถูกสุขลักษณะแล้ว ยังทำให้การกินของเรามีสีสันมากขึ้นเพราะให้ความรู้สึกใกล้ชิดกับที่มาที่ไปของอาหารชนิดนั้นมากอีกด้วย

 

อ้างอิง: www.behance.net

ธันยพร ห.

อดีตคนทำงานนิตยสาร (HOW-To, Vaczine, Esquire, Wallpaper* Thailand, art4d) ในยุคสื่อสิ่งพิมพ์รุ่งเรือง ปัจจุบันเป็นนักเขียน/นักแปล/บรรณาธิการอิสระ มีผลงานทั้งบทความศิลปะ งานออกแบบ สุขภาพกาย-ใจ สิ่งแวดล้อม และวรรณกรรม

See all articles