สวนแคคตัสฉินกวานในไต้หวัน พื้นที่ร้างทางประวัติศาสตร์ที่กลับมามีชีวิตอีกครั้ง

การท่องเที่ยวในพื้นที่ประวัติศาสตร์คือการทำให้เรื่องราวในอดีตมีลมหายใจขึ้นมาอีกครั้ง ในขณะเดียวกันสามารถนำไปสูการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีสถาปัตยกรรมจากประวัติศาสตร์ในช่วงสำคัญของแต่ละถิ่นนั้นปรากฏอยู่ มันช่วยตอบคำถามได้ว่า สถาปัตยกรรมสามารถส่งเสริมการท่องเที่ยวได้อย่างไร

แคคตัสเป็นพืชที่นิยมปลูกไปทั่วโลก รวมทั้งไทยด้วยเช่นกัน แต่ในไต้หวันมันเป็นพืชที่ได้รับความนิยมสูงไม่แพ้พืชชนิดอื่น ณ สวนแคคตัสฉินกวาน ในชุมชนบนเกาะเผิงหู ตำบลฉินกวาน ซึ่งเกาะเผิงหูที่อยู่ทางทิศตะวันตกของไต้หวันนั้น ได้มีการปรับปรุงพื้นที่ประวัติศาสตร์ของเกาะไต้หวัน ตั้งแต่ครั้งยังเป็นอาณานิคมของญี่ปุ่นในช่วง ค.ศ.1895–1945 โดยซากสถาปัตยกรรมทางทหารเก่าเหล่านั้นได้ถูกวางโปรแกรมใหม่ เพื่อพัฒนาพื้นที่ให้เป็นสวนแคคตัสพร้อมหมู่บ้านศิลปิน โจทย์การพัฒนาพื้นที่ด้วยแคคตัสได้ถูกมอบหมายให้สำนักงานสถาปนิก CCL Architects & Planners และ Co-Forest Environment Design Association ในปี 2008 ให้ร่วมกันปลุกชีวิตให้กับพื้นที่ประวัติศาสตร์แห่งนี้ขึ้นมาอีกครั้ง

บนเกาะนี้มีลักษณะแห้งแล้ง ต้องมีการสำรองน้ำตั้งแต่สมัยที่เป็นอาณานิคมของญี่ปุ่น ปัญหานี้แก้โดยการออกแบบภูมิทัศน์ให้อ่างเก็บน้ำไว้ด้านล่างของสวน น้ำเหล่านี้จะเป็นปัจจัยสำคัญในการรักษาพืชบนเกาะภายใต้สภาพอากาศอันหนาวเย็นและที่ตั้งซึ่งมากมายไปด้วยหิน สวนแคคตัสฉินกวานอยู่ติดทะเลซึ่งมีปัญหาต่อการเจริญเติบโตของพืชบนเกาะจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนืออันหนาวเย็นซึ่งหอบเกลือและขัดขวางการเจริญเติบโตของพืช ทางทีมงานได้ออกแบบแนวกันลม 180~240 เซนติเมตร ซึ่งสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการเจริญเติบโตของพืชริมทะเลได้

ส่วนของการออกแบบสถาปัตยกรรม มีทั้งที่ออกแบบใหม่และการปรับปรุงอาคารเดิมของกองทัพญี่ปุ่น ส่วนที่ออกแบบใหม่จนเป็นไอคอนของสวนนี้คือเรือนแคคตัสซึ่งเลียนแบบลักษณะของแคคตัส แต่เปลี่ยนวัสดุให้เป็นผนังโปร่งแสงพับจีบ พยุงด้วยโครงสร้างเหล็ก ในยามกลางคืนโดมแคคตัสนี้จะเรืองแสงด้วยไฟภายใน คล้ายว่าเป็นประภาคารประจำสวนนี้ นอกจากโดมนี้ยังมีเรือนกระจกที่รายรอบด้วยการตกแต่งจากไม้สักเข้ามาเป็นเปลือกภายนอก พื้นที่หลายส่วนในโครงการถูกเชื่อมด้วยถนนสายเขียว ทำให้เชื่อมจากเรือนแคคตัสสู่หมู่บ้านศิลปินด้วยเช่นกัน

ในหมู่บ้านนี้ประกอบด้วยกิจกรรมอันหลากหลายที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ ประกอบไปด้วยอาคารโรงฝึกที่สถาปนิกเลือกเก็บโครงสร้างไว้ แล้วทำการปรับปรุง กรุด้วยกรวดสีเทาดำ ไม้จริง ให้ความรู้สึกเป็นพื้นที่ใหม่ แต่เต็มไปด้วยเรื่องราวที่ซ่อนในโครงสร้างจากอดีต อาคารที่พักที่เป็นโครงสร้างเหล็กสีเทาและสีฟ้า พร้อมไปกับจัดเรียงช่องแสงใหม่ ทำให้สถาปัตยกรรมเดิมยังคงอยู่ อาคารห้องน้ำที่ปรับปรุงจากสถาปัตยกรรมเดิม พร้อมกับแผงกันแดดกันฝนจากไม้ ทุกส่วนเชื่อมให้สามารถเข้าถึงกับลานอิฐโค้งที่กลายเป็นโรงละครกลางแจ้งเชื่อมต่อกับภูมิทัศน์โดยรอบ

สวนแคคตัสฉินกวานถูกสร้างขึ้นเพื่อให้มีผลกระทบต่อภูมิทัศน์ที่เป็นพื้นที่ริมทะเลแบบเต็มไปด้วยหินบะซอลต์ สถาปัตยกรรมที่เกิดขึ้นนอกจากจะกระตุ้นพื้นที่ประวัติศาสตร์ร้างให้มีชีวิตชีวาขึ้นด้วยการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์แล้ว การออกแบบยังใช้วิธีรักษาของเดิมด้วยการแตะของเก่าด้วยของใหม่ แต่มีร่องรอยเดิมด้วยสัดส่วนที่เกาะไปกับสภาพแวดล้อม จนให้ผลลัพท์ไม่ดูขัดสายตาในภาพรวม

แปลและเรียบเรียงจาก: cclarch.wixsite.com
ที่มา: www.archdaily.cominhabitat.com

Tags

Tags: , , ,

สาโรช พระวงค์

สถาปนิกผู้ริเป็นนักเขียน และอาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี สนใจในสถาปัตยกรรมที่สร้างคุณภาพที่ชีวิตที่ดีขึ้น เลยมาเขียนเล่าให้ผู้อ่านเป็นเนืองๆ

See all articles