แม้จะเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ แต่การพัฒนารูปแบบอักษรให้สามารถลดการใช้ปริมาณหมึกพิมพ์ได้นั้นเรียกได้ว่าให้ผลลัพธ์เกินคาด เพราะทุกวันนี้ แม้เราจะเข้าสู่ยุคดิจิตอลที่เราต่างคุยและดำเนินธุรกิจกันบนแพลตฟอร์มออนไลน์ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่างานสิ่งพิมพ์ยังไม่ล้มหายตายจากและคงดำเนินอยู่แทบจะทุกวงการ
“ถ้าเราสามารถออกแบบตัวอักษรให้ใช้หมึกน้อยลง แต่ยังคงประสิทธิภาพในการอ่านได้อยู่ เราก็สามารถทำให้หมึกทุกตลับถูกใช้ได้อย่างคุ้มค่าไปด้วย” นี่คือความคิดของ Nils Leonard ครีเอทีฟไดเร็คเตอร์จากเอเจนซี่โฆษณา Grey London ที่เขาไม่ได้หยุดอยู่แค่นั้น แต่ถูกส่งผ่านไปยัง Theo Paphitis เจ้าของ Ryman Stationery แบรนด์เครื่องเขียนในลอนดอน ซึ่งหนึ่งเดือนหลังจากการทวีตในครั้งนั้น โลกก็ได้รู้จักกับตัวอักษรชื่อ ‘Ryman Eco’ ฟ้อนต์นี้
คอนเซ็ปต์ของ Ryman Eco ก็คือการหาจุดสมดุลระหว่างวิธีประหยัดหมึกพิมพ์ กับรูปแบบตัวอักษรที่ต้องอ่านง่ายและสวยงาม ทว่าฟ้อนท์แนว eco ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นครั้งแรก ดังนั้นทีมออกแบบจากดีไซน์สตูดิโอ Monotype ที่เข้ามารับหน้าที่สร้างสรรค์ฟ้อนต์ จึงต้องทำการบ้านอยู่พอสมควรเพื่อที่จะดึงความสนใจให้ผู้คนอยากนำมาใช้งาน “เราอยากออกแบบ Ryman Eco ให้มีลักษณะแบบตัวอักษร serif (เซริฟ) แต่ก็ยังต้องสวยงามอยู่ไม่ว่าตัวอักษรนั้นจะถูกใช้ในขนาดใดก็ตาม” serif หรือขีดเล็กๆ อยู่ที่ปลายอักษรซึ่งมีที่มาจากอักษรโบราณบนหินจารึกในอาณาจักรโรมัน มีส่วนสำคัญที่ช่วยในการกวาดสายตา ซึ่งนั่นทำให้ประโยคที่เกิดขึ้นอ่านง่าย โดยทีมออกแบบแทรกช่องว่างเป็นริ้วบางๆ ในทุกๆ ตัวอักษร โดยช่องว่างที่ว่าจะมีผลอย่างมากต่อการลดปริมาณการใช้หมึกในการพิมพ์ เพราะพื้นที่ของตัวอักษรที่โดนน้ำหมึกน้อยลง ซึ่งส่งผลให้ปริมาณน้ำหมึกถูกใช้ในขั้นตอนการพิมพ์ลดลงไปด้วย ขณะที่แทบจะไม่มีผลกระทบต่อประสิทธิภาพในการอ่าน
หากเทียบกับฟ้อนต์มาตรฐานที่มักถูกใช้งานทั้ง Arial, Times New Roman, Georgia หรือ Verdana ตัวอักษร Ryman Eco สามารถลดการใช้หมึกพิมพ์ได้ถึง 1/3 โดยทั้ง Ryman Stationery และ Grey London ต่างก็เชื่อว่าหาก Ryman Eco ถูกใช้อย่างแพร่หลาย ก็สามารถจะลดปริมาณการใช้น้ำหมึกลงไปได้ 490 ล้านตลับ อันจะนำไปสู่การปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ลดลงถึง 6.5 ล้านตัน หรือเทียบเท่ากับน้ำมัน 15 ล้านบาร์เรลต่อปี
แนวคิดการออกแบบ eco font ไม่ใช่เรื่องใหม่แกะกล่อง เพราะก่อนหน้านี้เรามีโอกาสได้เห็น Ecofont ที่พัฒนาโดย SPRANQ กันมาแล้ว ซึ่งการเกิดขึ้นของ Ryman Eco คงไม่ใช่การเข้ามาเป็นคู่แข่งแต่อย่างใด ทว่าคือการสร้างอีกหนึ่งทางเลือกให้แก่ผู้ใช้งาน และยังเป็นอีกหนึ่งแรงกระทุ้งเตือนให้เราๆ ท่านๆ ลองหันมาใส่ใจกับเรื่องเล็กๆ ในชีวิต ซึ่งหากการร่วมแรงร่วมใจเกิดขึ้นได้จริง แรงกระเพื่อมระดับจิ๋วแบบนี้แหละที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงให้โลกแบบมหาศาลได้ทีเดียวเชียวล่ะ
ภาพและอ้างอิง: Ryman Eco