สมภพ มาจิสวาลา ผู้พัฒนา Recycoex กับเป้าหมายสู่การเปลี่ยนขยะให้เป็นศูนย์ 

จากพื้นฐานความรู้ในสายสถาปัตย์ที่ได้ร่ำเรียนมา สมภพ มาจิสวาลา เริ่มต้นเส้นทางสายอาชีพของตัวเองจากการเป็นสถาปนิกและทำงานอยู่ในวงการก่อสร้าง ก่อนจะหันมาก่อตั้งธุรกิจผลิตและจำหน่ายไม้เทียมภายใต้บริษัท Maxis Wood ที่วัสดุส่วนใหญ่ผลิตขึ้นจากพลาสติก HDPE ที่ได้จากอัปไซเคิลขยะรีไซเคิล หลังจากการทำงานที่ต้องเกี่ยวข้องกับกระบวนการรีไซเคิลมากว่า 5 ปี ทำให้เขารับรู้ถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะปัญหาขยะที่ถือเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศไทย สมภพจึงเริ่มต้นพัฒนา ‘Recycoex’ (รีไซโคเอ็กซ์) แอปพลิเคชันที่มีเป้าหมายสำคัญในเรื่องการช่วยจัดการขยะอย่างเต็มรูปแบบ การนัดพบกันในวันนี้ ไม่ใช่เพียงเพื่อพูดคุยถึงที่มาที่ไปของการพัฒนาเครื่องมือจัดการขยะดังกล่าวเท่านั้น แต่สมภพยังสะท้อนให้เราเห็นถึงสถานการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมในบ้านเรา และภาพในอนาคตอย่างการนำพาประเทศไทยสู่การเป็นเมืองขยะเหลือศูนย์ที่เขาตั้งใจจะเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้เกิดขึ้นได้จริงในสักวัน  

สถาปนิกนักรีไซเคิล

“ผมจบสถาปัตย์มา เป็นสถาปนิกทำงานออกแบบและก่อสร้างอยู่ประมาณ 10 กว่าปี ด้วยการทำงานในวงการก่อสร้างเราเห็นเลยว่ามีการตัดไม้ใช้ในการก่อสร้างเยอะ ทำให้ไม้หายากขึ้น เรารู้สึกเป็นห่วงสิ่งแวดล้อม ณ ตอนนั้น ในเวลาเดียวกันก็มีคนมาบอกว่าที่ต่างประเทศมีไม้เทียมนะ ผมเลยเริ่มศึกษาเกี่ยวกับวัสดุประเภทนี้ จนพบว่าทุกโรงงานผลิตไม้เทียมอยู่ในจีนทั้งหมด ผมเลยไปตลุยที่จีนเพื่อดูว่าการผลิตวัสดุดังกล่าวมีขั้นตอนอย่างไร เพราะเราอยากได้สี ลวดลาย และรูปแบบที่เราชอบ จนสุดท้ายผมหยุดทำงานสถาปัตย์และมาก่อตั้งแบรนด์วัสดุก่อสร้าง Maxis Wood ที่ตอนนี้เรามีบริษัทในกรุงเทพฯ กัมพูชา และฟิลิปปินส์ด้วย 

“ผมสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมมาตั้งแต่ทำ Maxis แล้วเมื่อประมาณ 5 ปีที่ผ่านมา ทางจีนมีเทคโนโลยีที่สามารถใช้พลาสติกรีไซเคิลมาเป็นวัสดุตั้งต้นได้ ทำให้ตอนนี้ไม้เทียมที่เราขายทั้งหมดเป็นวัสดุรีไซเคิล 95% และใช้พลาสติกบริสุทธิ์ข้างนอกประมาณ 5% นั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้ผมได้รู้จักและเข้าสู่วงการรีไซเคิล เรียกได้ว่ามีกระบวนการหรือวัสดุอะไรใหม่ๆ เราจะมีโอกาสเข้าไปเรียนรู้หมด การเข้ามาทำงานในแวดวงนี้ยังให้ของแถมผมมาอีกนั่นคือทำให้รู้ว่าจริงๆ แล้วปัญหาของโลกและประเทศไทยคือเรื่องขยะ คนส่วนใหญ่มักจะคิดว่าไม่รู้จะเอาขยะไปทำอะไรต่อได้ เป็นของไร้ค่า สกปรกอะไรแบบนั้น แต่ในความเป็นจริง ขยะสามารถนำไปทำอะไรได้เยอะแยะเลย และยังพบว่าปัญหาที่แท้จริงเกี่ยวกับขยะคือการไม่มีขยะต่างหาก ตอนนี้ทุกคนแย่งขยะกันนะจนขยะไม่พอ อย่างที่โรงงานที่จีนก็จะมีขยะเม็ดพลาสติกซึ่งมาจากไทย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนามเต็มไปหมด แต่ต้นทางกลับบอกว่าขยะล้นเมือง ผมเห็นสิ่งที่สวนทางกันอยู่ เลยมองว่าทางออกสำหรับปัญหาตรงนี้คือเรื่องการจัดการ”

กู้ชีพสิ่งแวดล้อมด้วยระบบจัดการขยะออนไลน์

เมื่อพบปัญหาดังว่า สมภพจึงพัฒนา Recycoex ขึ้นเมื่อ 2 ปีก่อน จนเสร็จสมบูรณ์พร้อมใช้เมื่อเดือนมีนาคม 2566 ที่ผ่านมา โดยคำว่า Recycoex เกิดจากการผสม 2 คำเข้าด้วยกันอย่าง Recycle + Coextrusion ซึ่งคำหลังหมายถึงกระบวนการขึ้นรูปผลิตภัณฑ์ในอุตสาหกรรมพลาสติก รวมถึงผลิตภัณฑ์ไม้สังเคราะห์เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพดีมากยิ่งขึ้น 

“เป้าหมายที่ผมตั้งใจคือต้องการนำขยะมารีไซเคิลให้ได้มากที่สุดจนเหลือศูนย์ แล้วพอคิดว่าจะทำ Recycoex ขึ้น ฟังก์ชั่นหลักของแอปพลิเคชันนี้คือการเชื่อมคน 2 ฝั่งเข้าหากัน โดยมีตัวแอปฯ ทำหน้าที่เป็นสะพาน คล้ายกับระบบอย่าง Airbnb ที่เชื่อมเจ้าของห้องกับผู้เช่าเข้าด้วยกัน หรือ Robinhood ของไทยที่พาพ่อค้าแม่ขายกับคนซื้อมาเจอกัน เช่นเดียวกัน แต่ Recycoex จะแปลงคนทุกคนในสังคม ทั้งในบ้าน โรงเรียน บริษัท ให้เป็น ‘ผู้ขายขยะ’ กับเราที่เป็น ‘ผู้ซื้อขยะ’ โดยมี Recycoex อยู่ตรงกลาง ที่ผ่านมา แพลตฟอร์มเกี่ยวกับขยะจะไม่ได้เป็นการเชื่อม 2 ฝั่ง แต่จะเป็นลักษณะของแพลตฟอร์มที่ให้ข้อมูลมากกว่า

“ฟังก์ชั่นหลักๆ ของเราเวลาเข้ามา แอปฯ จะถามก่อนว่าคุณจะขายหรือบริจาค เพราะมีบางคนเขาไม่ได้อยากได้สตางค์ก็มี เช่น องค์กรราชการ เขาจะกดบริจาคแทน โดย Recycoex จะรับซื้อและขายขยะรีไซเคิลที่แบ่งออกเป็นประเภทต่างๆ ทั้งหมด 12 ประเภทด้วยกัน เช่น ขวดน้ำ PET, กระป๋อง, พลาสติกยืด/อ่อน, กล่องเครื่องดื่ม/แก้วกระดาษ, ถุงขนม/ซองกาแฟ, ขวดแก้ว, พลาสติก HDPE, กระดาษ และเสื้อผ้า รองเท้า ของเล่นต่างๆ 

“เราพยายามออกแบบให้ตัวแอปฯ ครบวงจรและเป็นมิตรกับผู้ใช้ให้มากที่สุด เช่น เชื่อมแผนที่เข้าไปในระบบแบบที่หากมีการซื้อขาย แอปฯ จะพาเราวิ่งไปหาขยะได้เลย หรือการผูกกับบัญชีผู้ซื้อเพื่อให้โอนเงินเข้าบัญชีได้ โดยรายได้ของ Recycoex มาจากค่า GP (Gross Profit) ซึ่งเป็นค่าดำเนินการของแอปพลิเคชัน”

จากไร้ค่าสู่มูลค่า

“ถ้าถามว่าอะไรปัญหาใหญ่ๆ ณ เวลานี้ ปัญหาแรกคงเป็นปัญหาขยะกำพร้า นี่เป็นการนิยามของขยะที่กลุ่มรถซาเล้งจะไม่รับซื้อเพราะไม่สามารถรีไซเคิลได้ ซึ่งมี 2 ประเภท หนึ่งคือขยะที่ไม่มีน้ำหนักอย่างเช่น ถุงพลาสติก หีบห่อต่างๆ ประเภทที่สองคือขยะที่ประกอบขึ้นจากหลายๆ วัสดุ เช่น กล่องนม ถุงขนม ถุงใส่ขนม ที่จะมีอะลูมิเนียมข้างในเพื่อไม่ให้ออกซิเจนเข้าไปเพื่อเป็นการถนอมอาหาร ไม่ให้เหม็นหืน ไม่ให้เน่า แล้วก็มีพลาสติก หรือในกล่องที่จะมีชั้นของไส้กระดาษเพิ่มเข้ามาด้วย เหล่านี้คือขยะกำพร้าที่จะไม่ถูกกำจัดด้วยวิธีที่เหมาะสม พอนำไปทำลายแบบไม่ถูกวิธีก็จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมต่อไปได้

“เราเลยมีโครงการโรงเรียนปลอดขยะที่ตอนนี้ Recycoex ทำร่วมกับโรงเรียนต่างๆ กันอยู่ เนื่องจากเราเห็นว่าโรงเรียนมีขยะจากขวดน้ำและกล่องนมโรงเรียนเยอะมากในแต่ละวัน ซึ่งขยะประเภทหลังยังไม่มีใครเอาไปรีไซเคิล เราจึงเข้าไปเสนอไอเดียและได้รับการตอบรับจากโรงเรียนในกรุงเทพฯ ประมาณ 20 โรงเรียน โดยเราได้สนับสนุนจากบริษัท Tetra Pak จากสวีเดน และ SIG จากอังกฤษ ซึ่งเป็นบริษัทผลิตกล่องนม 2 เจ้าในโลกที่เขาพร้อมรับซื้อขยะกล่องนมกลับไปรีไซเคิลภายในโรงงานของเขา สำหรับฟีดแบคจากเด็กๆ ถือว่าดีมากเลยนะครับ ผมคิดว่าพวกเขาเป็นวัยที่ปลูกฝังได้ง่ายและคุณครูก็สอนเรื่องเหล่านี้ได้ดีเลย นอกจากขยะในโรงเรียนแล้ว เด็กๆ ยังนำมาจากบ้านเข้ามาร่วมโครงการด้วยเหมือนกัน หรือการทำงานร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกับโครงการ Zero Waste ที่จะไปทำงานร่วมกับชุมชนอย่างการจัดตลาดนัดรีไซเคิล การจัดที่ตั้งทิ้งขยะของหมู่บ้าน กิจกรรมขยะแลกบุญ แล้วพอครบเดือนหรือมีจำนวนขยะมากพอ ทางชุมชนจะเรียกเราเข้าไปรับ รายได้ที่เราแลกเปลี่ยนไปให้ชุมชน พวกเขาจะนำเข้าส่วนกลางเพื่อไปใช้ในการบำรุง รักษา และดูแลชุมชนต่อไป 

“ปัญหาที่สองคือระบบการจัดเก็บขยะ ที่แม้ทุกคนจะบอกว่าแยกขยะแล้ว แต่มันไม่ได้ถูกจัดการอย่างเป็นระบบจริงๆ ผมคิดว่าคนไทยอยากแยกขยะโดยที่ไม่ต้องมีเงินมาเป็นสิ่งจูงใจด้วยซ้ำ แต่เขาเห็นแล้วว่าขยะแต่ละประเภทยังคงกระจัดกระจายอยู่เลย นี่เป็นอีกเหตุผลใหญ่ของการพัฒนา Recycoex ขึ้นมาเพื่อจัดแยกขยะรีไซเคิลทั้งหมด 12 ประเภทอย่างที่บอก เพื่อมาเป็นทางออกหนึ่งในการร่วมแก้ปัญหานี้ ด้วยการการหยุดวงจรขยะไว้แล้วนำเข้าสู่ขบวนการรีไซเคิลเลยแบบไม่ต้องไปกรองหรือฝังกลบให้ปลิวไปทั่ว

“สำหรับขยะต่างๆ ที่เก็บมา ประเภทไหนที่สามารถนำไปรีไซเคิลเพื่อพัฒนาต่อยอดได้ ผมจะนำไปเพิ่มมูลค่าผ่านการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ หรือเวลาเราไปเก็บขยะในชุมชน เรามักจะเจอเสื้อผ้าซึ่งเป็น fast fashion ผมก็เก็บกลับมา แล้วตั้งใจว่าจะทำให้เหมือนร้าน Goodwill Store ที่ขายสินค้ามือสองหลากหลายประเภทในอเมริกา ซึ่งดำเนินการโดยองค์กรไม่แสวงผลกำไร ที่นั่นพอเขาขายของได้ รายได้ส่วนหนึ่งจากการขายจะถูกนำมามอบเป็นทุนการศึกษา การช่วยเหลือเรื่องการหางานทำ ทุนฝึกงาน เเละสาธารณะประโยชน์อื่นๆ ผมจะนำโมเดลเดียวกันนี้มาทำที่บ้านเรา เพราะผมคิดเสมอว่าอย่ามัวแต่คิดว่าจะทำเพื่อเงินไปเสียหมด แต่ให้คิดว่าทำอย่างไรก็ได้ให้คนเข้ามาร่วมมือกันให้มากที่สุดก่อน แล้วสิ่งที่เราอยากแก้ไขจะเดินไปได้เอง” 

ปลุกจิตสำนึกเพื่อการสร้างเมืองไร้ขยะ 

“สำหรับผมแล้ว การทำงานด้านสิ่งแวดล้อมมีทั้งความสนุกและยาก ในความสนุกคือเวลาเราลงไปภาคสนามก็จะได้เจอประสบการณ์ใหม่ๆ หลายอย่าง เจอกับคนจากหลากหลายวงการที่มีความตั้งใจแบบเดียวกัน ถือว่าเป็นพลังที่ผลักดันให้เราอยากทำงานของเราที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมให้ไปข้างหน้าด้วย ส่วนความยากคงจะอยู่ที่เราจะทำอย่างไรที่จะชักชวนผู้คนให้มาเข้ามาร่วมมือได้แล้วก็ให้เขาอยากจะทำจากใจจริงๆ อย่างการลงชุมชนที่แม้หลายๆ องค์กรจะนำทีมเข้าไปคุยตามบ้าน แต่ผลลัพธ์ก็ไม่ได้เป็นตามที่ตั้งเป้าภายใต้การทำงานเพียงครั้งสองครั้ง แต่ต้องอาศัยความสม่ำเสมอ อดทน และตั้งใจจริงๆ ดังนั้น กว่าจะสัมฤทธิ์ผลตามที่หวังไว้จึงใช้เวลามากพอสมควร 

“จนถึงตอนนี้ ผมรู้สึกว่าสิ่งที่ผมทำถึงจุดที่ตั้งใจไว้แล้ว เรียกว่าแต่ละขั้นที่ผ่านมาเป็นที่น่าพอใจ ทั้งยอดการดาวน์โหลดแอปฯ กว่าหมื่นกว่าคน ทำให้เราสามารถเก็บและจัดการขยะได้เดือนละ 4-5 ตัน ตอนนี้เหมือนไฟจุดติดแล้ว ที่เหลืออาจจะต้องพึ่งพาองค์กรภาครัฐและเอกชนเข้ามากระตุ้น มาช่วยโหมให้ไฟโหมกระหน่ำเพื่อให้ความตระหนักแผ่กระจายเป็นวงกว้างกับสังคมต่อไป

“การได้ทำงานอย่างนี้ ผมภูมิใจนะครับ เพราะเราเองก็รักและหวงแหนสิ่งแวดล้อมมาเป็นทุนเดิม อย่างที่ผมเริ่มธุรกิจไม้เทียมเพราะผมไม่อยากตัดต้นไม้ พอได้เห็นการเก็บและแยกขยะในหมู่ประชาชนผ่านผลงานที่เราทำ ทำให้รู้สึกดีมาก ผมอยากให้บ้านเมืองเราสะอาดสะอ้านเหมือนในต่างประเทศ ที่เขาเรียกตัวเองว่าเป็นเมือง zero waste แบบที่ไม่ต้องมีขยะไปแลนด์ฟิลด์แล้ว ผมอยากให้ประเทศเราเป็นเมืองที่น่าอยู่ ความสุขของผมคือการได้เห็นสภาพแวดล้อมที่ดี มีการจัดการขยะที่มีประสิทธิภาพ มันดีมากเลยกับการที่ตัวเรามีส่วนช่วยให้เกิดอะไรแบบนั้นขึ้นได้ ได้เห็นว่าสิ่งที่เราทำงานหนักมาเป็นปีๆ คุ้มค่า เห็นคนยินดีที่จะใช้มัน แล้วผลที่ตามมาคือภาพรวมของเมืองที่จะดีขึ้น  

“เป้าหมายสูงสุดในแง่ของด้านสิ่งแวดล้อมที่ผมอยากจะไปแตะให้ได้ เรื่องหนึ่งคือเราได้ข้อมูลมาจากกรมควบคุมมลพิษว่าขยะประเทศไทยรีไซเคิลได้ 30% แต่เราไปถามนักวิชาการหรือคนที่อยู่ในวงการ ตัวเลข 10% จะไปถึงหรือเปล่ายังไม่รู้เลย แต่ไม่ว่าจะตัวเลขไหน ความเป็นจริงคือเรารีไซเคิลได้น้อยมากเพราะระบบการรีไซเคิลเราอ่อนแอ ผมอยากให้เปอร์เซ็นต์การรีไซเคิลขยับขึ้นไปเรื่อยๆ จนกระทั่งขยะเหลือศูนย์ อยากให้ทุกอย่างรีไซเคิลได้หมด แม้จะใช้เวลา 10 ปี 20 ปี ผมก็อยากอยู่ให้ถึงวันนั้นและเป็นส่วนหนึ่งให้วันนั้นเป็นจริงขึ้นมาได้ครับ”

ภาพ: ศรัณย์ แสงน้ำเพชร
ข้อมูลและภาพเพิ่มเติม: www.facebook.com/recycoex 

สุดาพร จิรานุกรสกุล

อดีตบรรณาธิการบทความนิตยสาร art4d magazine ปัจจุบันเป็นนักเขียนอิสระให้กับนิตยสารออนไลน์ด้านสถาปัตยกรรม ออกแบบ ศิลปะ สังคม และสุขภาพ ควบคู่ไปกับการสอนโยคะ พิลาทิส และติ๊กตอกเกอร์ดาวรุ่ง

See all articles