‘Tracing Public Space’ ให้เด็กๆ มีส่วนร่วมในการสร้างพื้นที่สาธารณะในชุมชนแออัด

สลัมหรือพื้นที่ชุมชนแออัดนั้นมีอยู่ในเมืองใหญ่แทบทุกเมืองทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศด้อยพัฒนาและกำลังพัฒนา ซึ่งกลุ่มคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่นี้มักมีฐานะยากจน ขาดโอกาสทางการศึกษาและไม่มีงานทำเป็นหลักเป็นแหล่ง บ้านเรือนจะถูกสร้างขึ้นแบบต่ำกว่ามาตรฐานบนพื้นที่จำกัด ทำให้ผู้คนอยู่กันอย่างแออัด ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะไม่มีพื้นที่สาธารณะในชุมชนแห่งนี้

Ana Vargas นักสถาปัตยกรรมสาวชาวเวเนซูเอล่า มีความสนใจเป็นพิเศษในเรื่องพื้นที่สาธารณะในพื้นที่ชุมชนแออัดตั้งแต่สมัยที่เธอยังศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัย MIT ในปี 2014 เธอได้ริเริ่มโปรเจ็คท์ที่มีชื่อว่า ‘Tracing Public Space’ ซึ่งเป็นวิธีการทำเวิร์คช็อปวิธีหนึ่งที่ใช้ toolkits (ชุดเครื่องมือ) อาทิ กล้องถ่ายรูป, แผนที่ชุมชน, สายวัด, สมุดโน้ต เพื่อช่วยในการศึกษา, สร้างความตระหนักและสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้นำและเด็กๆในชุมชนในการลงมือลงแรงร่วมกันปรับเปลี่ยนหรือสร้างพื้นที่สาธารณะในชุมชน ซึ่งประกอบไปด้วย 3 ขั้นตอนหลัก คือ ขั้นตอนการสังเกตการณ์ เป็นขั้นตอนที่เด็กๆ ในชุมชนจะได้เรียนรู้ที่จะสังเกตสภาพแวดล้อมและมองเห็นความเป็นไปได้ของสิ่งต่างๆในชุมชน, ขั้นตอนการออกแบบและการนำเสนอ ขั้นตอนนี้เด็กๆ จะปรึกษากันเกี่ยวกับความเป็นไปได้ของข้อเสนอต่างๆ และนำเสนอข้อเสนอนั้นๆ ต่อชุมชน ซึ่งข้อเสนอที่ได้รับการโหวตมากที่สุดจะถูกนำไปใช้จริง  และขั้นตอนสุดท้ายก็คือ การลงมือก่อสร้าง ซึ่งเด็กๆ และอาสาสมัครในชุมชนจะช่วยกันสร้างพื้นที่สาธารณะจริงในชุมชนนั่นเอง

ปัจจุบันวิธีการ Tracing Public Space ได้ถูกนำไปใช้แล้วในพื้นที่ชุมชนแออัดในประเทศอินเดีย เวเนซูเอล่า และสหรัฐอเมริกา เพื่อช่วยให้คนในชุมชนแออัดได้มีพื้นที่สาธารณะได้ใช้ประโยชน์ สร้างสภาพแวดล้อมที่ดีขึ้น อีกทั้งยังช่วยสอนให้เด็กๆในชุมชนมีความคิดที่แตกต่าง มีความคิดสร้างสรรค์ และรู้สึกภูมิใจที่ได้มีส่วนร่วมในทุกๆขั้นตอนของการสร้างพื้นที่ในชุมชนด้วย

 

อ้างอิง: Ana Vargas, popupcity.net

Nungruethai Katuszkewski

แป้ง อดีตเคยทำงานด้าน Marketing และ Buyer แต่ด้วยใจที่รักการเขียนและชอบศึกษาภาษาต่างประเทศ บวกกับการชอบเดินทางท่องเที่ยว ทำให้ผันตัวเองมาเป็นนักเขียนและนักแปลอิสระให้กับนิตยสารและบริษัทต่างๆ

See all articles