โรงละครแห่งชาติไถจงในใต้หวันกับพื้นที่สาธารณะส่งเสริมศิลปะเพื่อมวลชน

ในประเทศพัฒนาแล้ว วิสัยทัศน์ในการพัฒนาเมืองคือเพิ่มความสำคัญของหัวเมืองให้กระจายความเจริญไปทุกภาค ไม่จำเป็นต้องจำกัดอยู่แค่ที่เมืองหลวงจนกลายเป็นเมืองโตเดี่ยว ซึ่งมันได้พิสูจน์มาแล้วว่าเกิดปัญหาระยะยาว ในแนวคิดนี้การเพิ่มสถาปัตยกรรมที่เสริมกิจกรรมดีๆให้กับหัวเมืองจึงเป็นสิ่งจำเป็นและควรค่าแก่การลงทุน

เมืองไถจง ตั้งอยู่ภาคกลางของไต้หวัน ห่างจากไทเป เมืองหลวงด้วยรถไฟความเร็วสูงราว 1 ชั่วโมง ได้เกิดโรงละครไถจงที่มีรูปร่างแปลกตา ออกแบบโดย โทะโยะ อิโตะ สถาปนิกชาวญี่ปุ่นที่รับรองได้ถึงไอเดียสดใหม่ล้ำยุคแน่นอน โรงละครนี้ประกอบด้วย 3 ส่วนหลักคือ โรงละครใหญ่ขนาด 2,007 ที่นั่ง โรงละครขนาด 794 ที่นั่ง และ Black Box ขนาด 200 ที่นั่ง ซึ่งสามารถปรับเปลี่ยนเวทีตามการแสดงที่เกิดขึ้นได้ไม่ซ้ำในแต่ละช่วงปีที่มีทั้งการแสดงแบบโอเปร่า ดนตรี ละคร และการเต้นรำ โครงสร้างของโรงละครนี้ออกแบบให้พิเศษด้วยการไม่ได้ใช้โครงสร้างแบบทั่วไป แต่เป็นการใช้คอนกรีตเสริมเหล็กให้เป็นผิวโค้งเชื่อมกันไปมา เมื่อมองไปยังเฉพาะส่วนโครงสร้างจะพบความพิเศษที่คล้ายกับเห็ดหูหนูผสมฟองน้ำทะเลที่มีการใช้สอยภายใน ความสดใหม่ล้ำสมัยนี้ทำให้นักออกแบบต่างอยากมาเยือน

แต่ส่วนสำคัญที่น่าสนใจและเพิ่มมูลค่าให้กับเมืองคือนอกจากจะเป็นโรงละครแล้ว ที่นี่ยังเป็นพื้นที่ส่งเสริมการศึกษาด้านศิลปะ เพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้เข้าถึงศิลปะได้โดยง่าย โรงละครนี้ยังจัดกิจกรรมต่างๆ เป็นประจำ เช่น การบรรยาย เวิร์กช็อป แนะนำการแสดงคอนเสิร์ต แนะนำการเล่น และเวิร์กช็อปภาคปฏิบัติสำหรับประชาชนทุกคน อีกทั้งยังสามารถเข้าชมนิทรรศการต่างๆ ได้ฟรี ความหลากหลายของกิจกรรมเอื้อให้ทุกคนหากิจกรรมที่เหมาะสมกับตัวเองได้ไม่ยาก

ในแง่การออกแบบ สถาปนิกออกแบบให้เป็นพื้นที่สาธารณะ ทุกคนสามารถเข้ามาใช้งาน ทำการนันทนาการได้แม้จะไม่ได้เข้ามาดูการแสดง พื้นที่ลานโล่งชั้น 1 กลายเป็นจุดนัดพบของประชาชน ทั้งคาเฟ่หรือนัดเดตของคู่รัก เมื่อขึ้นมายังชั้นสองก็เป็นพื้นที่สาธารณะให้เข้าชมได้ เพื่อที่จะขึ้นไปยังชั้นบนที่มีพื้นที่เป็นเวทีเล็กสำหรับกิจกรรมแบบไม่เป็นทางการหน้าร้านหนังสือ การใช้พื้นที่สาธารณะคิดไปถึงชั้นดาดฟ้าที่กลายเป็นสวนดาดฟ้าให้เข้าถึงได้ง่าย มันคือสวนที่มีทางเดินวนไปมากับปล่องคอนกรีตสีขาวซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างคอนกรีตที่มีวิวเส้นขอบฟ้าเมืองให้ชม พื้นที่ด้านหน้าเป็นลานขนาดใหญ่ พร้อมกับมีลานน้ำพุ ทำให้ยามเย็นหรือช่วงที่อากาศไม่ร้อน มันกลายเป็นลานคนเมืองที่เชื่อมกิจกรรมการใช้พื้นที่สาธารณะจากในโรงละครจนถึงลานขนาดใหญ่ด้านหน้า ลามไปถึงสวนดาดฟ้า

บรรยากาศของไต้หวัน ทำให้รู้สึกได้ถึงการให้ความสำคัญกับการออกแบบตั้งแต่กราฟิกที่สนามบิน จนไปถึงพื้นที่ต่างๆในชีวิตประจำวัน สิ่งเหล่านี้จะกลายเป็นการสร้างบรรยากาศที่ดีให้ปประชาชนมีศิลปะในหัวใจ และสามารถมาผลิตเป็นการส่งออกที่ไม่ใช่แค่สินค้าอุตสาหกรรมแบบเดิมอีกต่อไป แต่มันคือการขายวัฒนธรรมที่เราได้ยินจนเป็นจนชินหูว่า ‘ซอฟท์พาวเวอร์’ นั่นเอง

แปลและเรียบเรียงจาก: www.toyo-ito.co.jp

ที่มา: www.archdaily.comarchello.comwww.architecturalrecord.com

สาโรช พระวงค์

สถาปนิกผู้ริเป็นนักเขียน และอาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี สนใจในสถาปัตยกรรมที่สร้างคุณภาพที่ชีวิตที่ดีขึ้น เลยมาเขียนเล่าให้ผู้อ่านเป็นเนืองๆ

See all articles