The Youth Activity Center แปลงโรงงานเก่าเป็นศูนย์กิจกรรมเยาวชนกลางปักกิ่ง

การพัฒนาของเมืองใหญ่มีสิ่งที่ได้มาคือความเจริญ ในขณะเดียวกันก็มีสิ่งที่ต้องแลกคือวิถีชีวิตดั้งเดิมที่เปลี่ยนไป และในความเป็นจริงคือ…ต้องทำใจยอมรับความเปลี่ยนแปลงให้ได้ แม้ว่าจะเสียวิถีชีวิตดั้งเดิม แต่คำถามที่สำคัญกว่าคือเราจะรับมือกับความเปลี่ยนแปลงอย่างไร เราปล่อยให้มันเป็นไปตามยถากรรม หรือหาวิธีให้มันกลายเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น ดังเช่นชานเมืองเป่ยจวง กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน ซึ่งตั้งอยู่ในภูมิประเทศที่สวยงาม มีภูเขาล้อมรอบ แต่ผลจากการเปลี่ยนแปลงเขตอุตสาหกรรมทำให้เกิดโรงงานร้างจำนวนมากในเมืองนี้ ดังเช่นโครงการปรับปรุงโรงงานเก่าแห่งนี้ จากพื้นที่โครงการเดิมเป็นโรงงานผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปซึ่งครอบคลุมพื้นที่ 5,000 ตารางเมตร มันได้ถูกปรับเปลี่ยนให้มีความร่วมสมัย

Rede Architects และ Moguang Studio คือสำนักงานสถาปนิกที่รับโจทย์ให้ออกแบบปรับปรุงโรงงานเก่าที่ร้างไปแล้วให้กลับมามีชีวิตขึ้นมาอีกครั้งด้วยการเป็นศูนย์เยาวชน กิจกรรมใหม่ที่เสริมเข้ามามีทั้งร้านอาหาร ห้องเรียน ห้องประชุม และบ้านพักของผู้มาใช้โครงการ ตัวอาคารเป็นแบบโรงงานอุตสาหกรรมที่พบได้ชินตา มีลักษณะเป็นกล่องเรียบง่ายทึบตัน มันถูกวางออกเป็นส่วน มีคอร์ตเดิมเชื่อมให้ทุกโรงงานมีพื้นที่โล่งเป็นส่วนกลางร่วมกัน สำหรับการออกแบบใหม่สถาปนิกให้ความสำคัญในส่วนความสัมพันธ์ระหว่างอาคารทั้งหมดและบริเวณโดยรอบ การเชื่อมต่อความสัมพันธ์ที่สถาปนิกเข้ามาทำหน้าที่ออกแบบคือการสร้างทางลาดให้เป็นส่วนเล่น โดยเขียนกิจกรรมใหม่ลงบนลานโล่งเดิม ทางลาดที่คอร์ตกลางมีสีแดงสดโดดเด่น ทางลาดวงกลมนี้สามารถให้เด็กเล่นจากชั้นล่างในลานโล่งสู่ชั้นลอยกลางแจ้ง ทำให้เป็นการใช้พื้นที่กลางแจ้งเล่นได้อย่างเต็มที่ท่ามกลางทิวทัศน์ที่รายล้อมด้วยภูเขาซึ่งโผล่พ้นยอดอาคารเก่า นอกจากลานกลางแจ้งที่คอร์ตฝั่งทิศเหนือแล้ว คอร์ตฝั่งทิศใต้ถูกออกแบบให้เป็นพื้นที่ลาดยางทรงกลมสลับกับพืชแบบยืนต้น และไม้พุ่ม ด้วยแนวคิดที่ให้เด็กเข้ามาใช้ไปพร้อมกับการเรียนรู้การเปลี่ยนแปลงของฤดูกาลจากพืชท้องถิ่นทางภาคเหนือของจีน ให้เด็กได้สัมผัสถึงความงามจากธรรมชาติด้วยภูมิสถาปัตยกรรมแบบจีนร่วมสมัย ส่วนของพื้นได้เลือกใช้อิฐสีแดงรีไซเคิลและอิฐคอนกรีตเป็นวัสดุปูพื้นหลัก เสริมด้วยลู่วิ่งยางทำให้เกิดพื้นที่สนุกสนานให้เด็กๆ สามารถวิ่งกระโดดโลดเล่นได้อย่างสบาย

การเข้าไปใช้ยังพื้นที่ภายในของทุกอาคาร แม้ว่าอาคารเดิมจะเป็นกล่องอิฐเรียบ แต่สถาปนิกได้เลือกเส้นสายรูปทรงที่ดูเคลื่อนไหวแทรกเข้าไปในสเปซเดิม เพื่อสร้างความสนุกสนานให้กับผู้เข้าใช้ แต่ได้พบกับปัญหาของอาคารโรงงานเก่าที่มีแสงไม่เพียงพอต่อการใช้งาน วิธีการปรับปรุงที่เหมาะคือการรื้อหลังคาเดิมออกเพื่อสร้างลานกลางแจ้งที่มีโครงถักเดิมแสดงตัวเองเพื่อบอกประวัติศาสตร์ของถิ่นที่ แม้ว่าอาคารเดิมจะมีความสูงราว 7 เมตร เป็นความสูงที่ไม่เหมาะกับสเกลของเด็กอายุไม่เกิน 7 ปีที่เป็นกลุ่มเป้าหมายของโครงการนี้ สถาปนิกได้ใช้กลวิธีสร้างชั้นลอยแทรกเข้าไปในบางส่วนของอาคาร ก่อให้เกิดการแบ่งกิจกรรมของเด็กภายในเช่นชั้นบนซึ่งเป็นกิจกรรมที่ต้องการสมาธิ ส่วนที่คึกคักต้องการวิ่งเล่นได้ให้ดำเนินกิจกรรมเหล่านี้ที่ชั้นล่าง

วิถีทางการออกแบบโครงการนี้นอกจากจะเป็นการปลุกชีวิตสถาปัตยกรรมร้างแล้ว ยังเป็นการนำวัสดุเดิมที่บรรจุเรื่องราวของโรงงานและชุมชนโดยรอบผ่านอิฐเก่าที่ถูกประกอบขึ้นมารองรับกิจกรรมใหม่ของชุมชนที่ย้ายเข้ามาภายหลัง ความเก่าจึงไม่หมดความหมายในความใหม่นั่นเอง

 

แปลและเรียบเรียงจาก: www.redearchitects.com
ที่มา: www.archdaily.comwww.dezeen.comarchitizer.com

สาโรช พระวงค์

สถาปนิกผู้ริเป็นนักเขียน และอาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี สนใจในสถาปัตยกรรมที่สร้างคุณภาพที่ชีวิตที่ดีขึ้น เลยมาเขียนเล่าให้ผู้อ่านเป็นเนืองๆ

See all articles