Fairyland ภัตตาคารเทพนิยายสำหรับครอบครัวแห่งแรกในต้าเหลียน ประเทศจีน

ในการออกแบบสถาปัตยกรรม การใช้สอยของเด็กและผู้ใหญ่จะแยกจากกันด้วยสัดส่วนที่แตกต่างกันจากวัย ยิ่งในวัยเด็กตั้งแต่แรกเกิดจนถึงจุดที่หยุดเติบโต มีหลายสัดส่วนที่ต้องคำนึงถึงเสมอ เราจึงเห็นสถาปัตยกรรมในโลกของเด็กมีขนาดของห้อง เฟอร์นิเจอร์ที่มีสัดส่วนเฉพาะอย่างมาก แต่ในขณะเดียวกัน ในครอบครัวที่มีเด็กนั้น ควรจะมีทางที่ใช้พื้นที่ร่วมกันได้ เพื่อสร้างสายใยความผูกพัน

แต่ด้วยการออกแบบที่คิดหาวิธีสร้างกิจกรรมของเหล่าสมาชิกในครอบครัวได้หลอมรวมในพื้นที่เดียวกัน ณ เมืองต้าเหลียน ประเทศจีน สถาปนิกจากสำนักงาน Wutopia-lab ได้เสนอภัตตาคาร ที่มีพื้นที่รับประทานอาหารพร้อมสนามเด็กเล่นเพื่อสร้างความดึงดูดใจของครอบครัว โดยทางเจ้าของภัตตาคาร PACEE Education และ Fairyland ต้องการสร้างสถานที่ให้เด็กๆ เพลิดเพลินกับการเรียนรู้ด้วยความบันเทิง ที่แห่งนี้จะเป็นภัตตาคารสำหรับครอบครัวแห่งแรกในจีนเลยทีเดียว

สถาปนิกออกแบบให้ผู้เข้ามายังภัตตาคารโถงทางเข้าที่ออกแบบให้รู้สึกถึงความเป็นเทพนิยายด้วยโถงกลมที่มีแถบสีขาวแนวตั้งเพื่อแบ่งพื้นที่ภายนอกและในไปพร้อมกับเป็นจุดรับฝากรองเท้า ผ่านจากโถงนี้จะพบกับที่นั่งลูกค้า ทั้งแบบธรรมดาและห้อง VIP รายรอบด้วยสนามเด็กเล่นรูปแบบต่างๆ ทำให้สามารถมองลูกหลานอยู่ในสายตาตลอดเวลาด้วยความสบายใจ ในขณะที่เด็กก็สามารถไปเล่นกับพื้นที่เล่นแบบต่างๆ ที่เป็นพื้นที่เทพนิยายของจินตนาการตัวเอง

การออกแบบส่วนพื้นที่เล่น สถาปนิกออกแบบจากภาพร่างของลูกสาวตัวเอง แล้วคลี่จินตนาการออกมาเป็นผลงาน 3 มิติที่เข้าไปเล่นกับมันได้ทั้งม้าหมุนแบบสวนสนุก สไลเดอร์ สระน้ำที่โปรยด้วยลูกบอลใสราวกับสระฟองสบู่ เล่นหยอดลูกบอลในท่อที่เรียงอย่างวกวนเพื่อคอยดูว่าจะไปโผล่ที่ปลายท่อด้านไหน หรือจะสวมบทบาทเป็นเจ้าของปราสาทจำลองทรงบ้านที่เป็นกล่องไม้ ทุกพื้นที่เล่นช่วยให้พวกเขาได้เติมเต็มจินตนาการไปตามการเล่นของแต่ละคน แต่ทุกพื้นที่ถูกคลุมด้วยฝ้าแผ่นสีขาวขุ่นที่วางซ้อนไปมาเลียนแบบก้อนเมฆที่เคลื่อนไหว เพื่อให้รู้สึกถึงพื้นที่ในโลกกว้างของจินตนาการเด็ก

ภัตตาคารนี้ อาจจะเป็นพื้นที่พบกันของสองวัยในครอบครัวตามชื่อ Fairyland หรือไม่ จินตนาการเด็กที่เข้ามาเล่นเท่านั้นที่จะบอกได้

 

อ้างอิง: www.wutopialab.comwww.archdaily.comwww.designboom.com

สาโรช พระวงค์

สถาปนิกผู้ริเป็นนักเขียน และอาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี สนใจในสถาปัตยกรรมที่สร้างคุณภาพที่ชีวิตที่ดีขึ้น เลยมาเขียนเล่าให้ผู้อ่านเป็นเนืองๆ

See all articles