Ruralation Library ศัลยกรรมบ้านดินเก่าให้มีวิญญาณใหม่เป็นห้องสมุดในหมู่บ้านไต๋เจียซาน ประเทศจีน

สถาปัตยกรรมต่างมีเวลาของมันเอง เมื่อถูกสร้างในช่วงเวลาหนึ่งก็เหมาะกับการใช้งานในช่วงเวลาหนึ่ง เมื่อกาลเวลาทำงานผ่านไป สถาปัตยกรรมนั้นก็อาจไม่เหมาะสมกับช่วงเวลาใหม่ และทำให้เป็นสาเหตุที่สถาปัตยกรรมต้องมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงตัวมันเอง ไม่ต่างอะไรกับการผ่าตัดหรือศัลยกรรมให้ตัวมันเองมีสังขารที่เหมาะกับยุคสมัยได้

ในพื้นที่ชนบทของประเทศจีน เมืองถงลู่ มณฑลเจ้อเจียง ซึ่งเป็นพื้นที่ของกลุ่มชาติพันธุ์ฉี ในหมู่บ้านโบราณเรียงรายไปด้วยสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นที่เรียกว่าบ้านดิน บ้านดินเหล่านี้ก่อสร้างด้วยเทคนิคก่อสร้างแบบอิฐดินดิบ หรือที่เรียกว่า Adobe เป็นวัฒนธรรมการก่อสร้างร่วมกันที่เราพบได้ทั่วไปในจีน เนื่องจากบ้านดินเหล่านี้มีอายุมากกว่าหลายร้อยปี หลายหลังไม่เหมาะสำหรับการอยู่อาศัยในปัจจุบันแล้ว การตามหาการใช้สอยใหม่ก็เปรียบได้กับการหาวิญญาณใหม่ให้ร่างเดิมที่เคยหมดลมหายใจไปแล้ว คำถามคือวิญญาณแบบไหนที่เหมาะกับบ้านดินอายุเป็นศตวรรษเหล่านี้

อีกหนึ่งคำตอบปรากฏในหมู่บ้านไต๋เจียซาน เมืองอี้ซาน ได้ทำการเข้าไปศัลยกรรมบ้านดินเก่าให้มีวิญญาณใหม่เป็นห้องสมุด จากบ้านดิน 2 หลังที่อยู่ใกล้กัน ถูกปรับเปลี่ยนการใช้สอยจากพื้นที่ที่เคยใช้พักอาศัยให้กลายเป็นพื้นที่สาธารณะ รองรับการใช้สอยใหม่ ทั้งส่วนอ่านหนังสือ ห้องประชุมในชุมชน คาเฟ่ ร้านหนังสือ กระบวนการเปลี่ยนแปลงจึงเริ่มโดยสำนักงานสถาปนิกจีน AZL Atelier พวกเขาเสนอถึงความเป็นได้ใหม่ด้วยการเข้าไปเสริมและตกแต่งสิ่งเดิม สิ่งที่เก็บไว้คือโครงสร้างผนังอิฐดินดิบเดิม มันยังทำหน้าที่แบ่งพื้นที่ภายนอกภายในเช่นเดิม มีการเสริมโครงสร้างส่วนฐานรากให้แข็งแรงขึ้นเพื่อรองรับการใช้สอยใหม่ที่มีน้ำหนักจรมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีการเพิ่มโครงสร้างเสาคานไม้เข้าไปยังภายใน เพื่อให้สามารถแบ่งการใช้สอยใหม่ให้ใช้งานเหมาะสม ทำให้สเปซภายในไม่ทึบตัน มีลักษณะลื่นไหล ผลจากการแยกส่วนโครงสร้างเก่าและใหม่ ทำให้สามารถยกโครงสร้างหลังคาให้สูงขึ้น ไม่ต้องถ่ายน้ำหนักลงผนังดินเดิม วิธีการยกหลังคานั้น ทำเพื่อการแก้ปัญหาความอึดอัดจากปริมาณแสงสว่างจากธรรมชาติที่สามารรถเข้ามาส่องสว่างภายในได้น้อย เนื่องจากโครงสร้างเดิมแบบผนังรับน้ำหนัก ไม่สามารถเจาะช่องหน้าต่างได้มาก สถาปนิกออกแบบโดยยกช่องแสงไว้ที่ยอดผนังกับใต้จันทัน 60 เซนติเมตร ทำให้สามารถรับแสงได้มากขึ้น เหมาะกับการใช้สอยใหม่ และเป็นการเชื่อมโยงพื้นที่ภายในเข้ากับธรรมชาติภายนอกได้ด้วยเช่นกัน ในพื้นที่ทางเข้าถูกออกแบบให้เป็นแผงระแนงไม้กึ่งทึบกึ่งโปร่ง มันช่วยให้เป็นพื้นที่เปลี่ยนผ่านได้ดี นุ่มนวลขึ้น ก่อนเข้าไปใช้สอยในบ้านดินเก่าทั้ง 2 ส่วน

เก่าใหม่จะไปด้วยกันได้อย่างไร การปรุงสังขารบ้านดินนี้ คงพอเป็นแนวทางของอีกคำตอบ

อ้างอิง: www.azlarchitects.comwww.chinese-architects.comwww.archdaily.com

สาโรช พระวงค์

สถาปนิกผู้ริเป็นนักเขียน และอาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี สนใจในสถาปัตยกรรมที่สร้างคุณภาพที่ชีวิตที่ดีขึ้น เลยมาเขียนเล่าให้ผู้อ่านเป็นเนืองๆ

See all articles