Alma ของเล่นไร้กฎเกณฑ์ให้เด็กๆ กำหนดวิธีเล่นเองได้เรียนรู้อารมณ์ของตัวเองในแต่ละช่วงวัย

‘การเล่น’ นอกจากจะมีผลโดยตรงต่อระดับพัฒนาการและความสามารถของเด็กๆ แล้ว กิจกรรมที่ว่ายังทำให้พวกเขามีโอกาสได้แสดงออกถึงความรู้สึกนึกคิด ความไม่สบายใจ ความสับสน ความขัดแย้ง ความพอใจ แล้วการเล่นนี่แหละก็เป็นหนึ่งในหลายๆ วิธีที่ช่วยให้เด็กสามารถเข้าใจตัวเอง รวมทั้งความสัมพันธ์ของพวกเขาที่มีต่อโลกรอบตัว

ผลงานของนักออกแบบชาวอิสราเอลอย่าง Yaara Nusboim เอง ก็มี ‘การเล่น’ เป็นจุดตั้งต้น โดย ‘Alma’ เกิดขึ้นหลังจากที่ Yaara เข้าไปทำงานร่วมกับเด็กๆ ที่มีความเสี่ยงในโรงเรียนประจำแห่งหนึ่ง ในแต่ละวันเธอเห็นภาพของนักเรียนที่ล้วนต้องเผชิญหน้ากับปัญหาที่แตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็นความไม่มั่นคงทางอารมณ์ ความรู้สึกขาดความรัก ผลกระทบจากการล่วงละเมิดทางเพศ และปัญหาทางกายภาพด้านต่างๆ ซึ่งทำให้เธอต้องการใช้ทักษะด้านออกแบบที่มีทำอะไรสักอย่างเพื่อช่วยบรรเทาความเจ็บปวดเหล่านั้น แม้ว่าจะเพียงเล็กน้อยก็ตาม

หลังจากได้เห็นศักยภาพของ ‘การเล่นบำบัด’ จากโรงเรียนแห่งนั้นว่าสามารถเยียวยาเด็กๆ ได้อย่างไร แล้วก็พบว่าในเวลานี้ เหล่านักบำบัดและผู้ปกครองมีเพียงของเล่นทั่วๆ ไปเท่านั้นที่ใช้ในกระบวนการรักษา ทั้งๆ ที่ความต้องการในการดูแลเด็กแต่ละคนนั้นหลากหลายและซับซ้อนกว่านั้นมาก ‘Alma’ จึงมาพร้อมกับรูปทรงที่มีความเฉพาะตัวเพื่อให้ง่ายต่อการเชื่อมต่อไปยังจิตใจของเด็กๆ โดยของเล่นแต่ละชิ้นจะตอบสนองกับอารมณ์ที่แตกต่างกันไป ตั้งแต่ความกลัว ความโกรธ ความเจ็บปวด ความอ้างว้าง ความรัก และความปลอดภัย

“ของเล่นเป็นภาษาของเด็ก การเล่นกับของเล่นจะสร้างความปลอดภัยในเชิงจิตวิทยา ทำให้เด็กมีโอกาสได้ถอยห่างจากปัญหาที่พวกเขามีและเผชิญอยู่ ทำให้พวกเขามีพื้นที่ในการสำรวจความคิดและจิตใจของตัวเอง ซึ่งจะเป็นการช่วยเยียวยาและสร้างพัฒนาการที่ดีขึ้นได้ ขณะเล่น นักบำบัดสามารถที่จะสังเกตการณ์และเข้าใจถึงอารมณ์ความรู้สึกของเด็กได้จากการเลือกหยิบของเล่น การแสดงออกต่อมัน และวิธีการที่พวกเขาใช้เล่น”

แต่กว่าจะมาเป็น Alma ที่เห็นๆ กันอยู่นี้ Yaara ใช้เวลาในการพัฒนาร่วมกับนักจิตวิทยา 7 คน และเด็กๆ ที่มีสภาวะทางร่างกายและจิตใจแตกต่างกันอยู่เป็นปี และสร้างของเล่นต้นแบบกว่าร้อยชิ้น จน Alma ทั้ง 6 ชิ้นนี้เสร็จสมบูรณ์ ซึ่งความยากก็อยู่ตรงที่เธอต้องสร้างของเล่นให้ทั้งดึงดูดใจ แล้วก็ต้องทำหน้าที่ของมันในเชิงจิตวิทยาได้อย่างดีอีกด้วย

Alma เป็นของเล่นปลายเปิดที่ไม่ได้มีการกำหนดวิธีการเล่น ทำให้เด็กๆ สามารถคิดวิธีเล่นของตัวเอง ซึ่งการเล่นนั้นก็จะเปลี่ยนแปลงไปตามวัย ประสบการณ์ และความรู้สึกในช่วงเวลานั้นๆ “นักบำบัดอธิบายให้ฉันฟังว่า เด็กๆ จะเห็นตัวเองผ่านของเล่นเหล่านั้น ฉันเลยตัดสินใจว่าจะพยายามออกแบบของเล่นที่สามารถสื่อสารอารมณ์ที่หลากหลายเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยเลือกใช้วัสดุที่ต่างกันเป็นองค์ประกอบในของเล่นชุดนี้”

ของเล่นทั้งหมดถูกผลิตขึ้นจากไม้เมเปิ้ลที่ให้ความรู้สึกอบอุ่น สงบ ปลอดภัย อ่อนโยน ขณะที่วัสดุอย่างซิลิโคนที่มีพื้นผิวและสีสันไม่เหมือนกัน จะเป็นตัวแทนของความรู้สึกแบบต่างๆ อาทิ ตุ๊กตาไม้ที่เป็นตัวแทนของความรักนั้นประกอบขึ้นจากการนำรูปทรงกลม 2 ลูก มาวางซ้อนกัน มีซิลิโคนสีชมพูคั่นระหว่างทรงกลมด้านบนและด้านล่าง ซึ่งเมื่อมองดูจะมีลักษณะคล้ายกับรูปร่างของมนุษย์กำลังโอบกอด สำหรับตุ๊กตาซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความโกรธ จะมีรูปทรงคล้ายกับขวดน้ำและมีซิลิโคนสีแดงคล้ายกับหนามแหลมยื่นออกมา เสมือนความโกรธที่ทะลุผ่านออกมาจากร่างกาย โดยวัสดุทั้ง 2 ชนิดนี้จะช่วยให้เด็กๆ เรียนรู้ว่าพวกเขาไม่ต่างไปจากตุ๊กตาที่สามารถมีประสบการณ์ที่ดีและแย่ได้ ซึ่งนั่นเป็นเรื่องธรรมดาที่จะเกิดขึ้นได้กับทุกคน

ณ เวลานี้ ตุ๊กตาทุกชิ้นถูกทำขึ้นด้วยมือของ Yaara ซึ่งเธอเองก็หวังว่า Alma จะได้รับการผลิตในระบบอุตสาหกรรมในอนาคต เพื่อให้ของเล่นดังกล่าวสามารถส่งต่อความช่วยเหลือไปยังเด็กๆ ที่ต้องการมันเพื่อเยียวยาหัวใจของพวกเขาให้แข็งแรงขึ้นได้กว่าเดิม

อ้างอิง: www.yaaranusboim.com

สุดาพร จิรานุกรสกุล

อดีตบรรณาธิการบทความนิตยสาร art4d magazine ปัจจุบันเป็นนักเขียนอิสระให้กับนิตยสารออนไลน์ด้านสถาปัตยกรรม ออกแบบ ศิลปะ สังคม และสุขภาพ ควบคู่ไปกับการสอนโยคะ พิลาทิส และติ๊กตอกเกอร์ดาวรุ่ง

See all articles