Anandaloy ศูนย์กิจกรรมและทอผ้าสำหรับสตรีและคนพิการ สถาปัตยกรรมภูมิปัญญา-วัสดุ-แรงงานท้องถิ่นในบังคลาเทศ

ในขณะที่ทุกมุมโลกกำลังหมุนไปด้วยความเร็ว และเร็วขึ้นทุกที ทุกอย่างแข่งขันด้วยความเร็ว โดยมีเทคโนโลยีที่ช่วยส่งเสริมความเร็วนี้ แน่นอนที่ทุกความเร็วมีราคาที่ต้องจ่ายเสมอ แต่ในขณะที่หลายมุมโลกซึ่งความเร็วไม่ได้เป็นที่ต้องการมากเท่าการมีชีวิตที่ดีขึ้นในวันนี้ คำถามที่มีอยู่ในใจต่อมาคือ ในฐานะผู้สังเกตความเป็นไปของโลกสถาปัตยกรรมมาตลอดหลายปี สถาปนิกมีส่วนร่วมในการยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับหลายมุมโลกที่ดูจะถูกลืมได้อย่างไร

สำหรับคำตอบนี้ เชื่อได้ว่าต้องมีชื่อของสถาปนิกสาวเยอรมัน Anna Heringer อยู่ด้วยอย่างแน่นอน Heringer เป็นที่รู้จักกับการออกแบบสถาปัตยกรรมที่ใช้ภูมิปัญญา วัสดุท้องถิ่น ในการออกแบบโรงเรียนเมติ จนวันนี้เธอได้ก่อตั้งสตูดิโอที่รองรับการออกแบบแนวทางนี้ในชื่อ Studio Anna Heringer และมีผลงานการออกแบบสถาปัตยกรรมในบังคลาเทศอีกชิ้นที่น่าสนใจไม่แพ้กัน คืออาคารอนันดาลอย ตั้งอยู่เขตดินาจปูร์ เมืองรูดราปูร์ อยู่ทางเหนือของประเทศบังคลาเทศ

‘อนันดาลอย’ เป็นภาษาเบงกาลี แปลได้ว่าสถานที่แห่งความสุขล้ำ ภายในอาคารบรรจุด้วยกิจกรรมสตูดิโอและพื้นที่ผลิตผ้าทอ แนวคิดการเกิดอาคารนี้มาจากต้องการให้คนในชนบทลดการเข้าไปทำงานในเมืองใหญ่ ให้คนชนบทอยู่ในท้องถิ่นได้อย่างมีชีวิตที่ดีขึ้น โดยเน้นไปที่แรงงานผู้หญิงและคนพิการที่มักถูกลืมด้วยความเชื่อว่าความพิการเกิดจากกรรมเก่าในอดีต คนเหล่านี้ถูกให้อยู่แต่ในบ้าน ไม่ได้ใช้ความสามารถในการสร้างอาชีพอย่างเต็มที่ อาคารนี้จึงมีมากกว่าการเป็นสถาปัตยกรรมราคาถูก แต่ต้องช่วยยกระดับชีวิตคนที่ถูกลืมในสังคมให้ดีขึ้นด้วยเช่นกัน โดยชั้นล่างประกอบด้วยพื้นที่เอนกประสงค์ ทั้งสำนักงาน ห้องเอนกประสงค์เชื่อมโยงต่อไปยัง ‘โพรง’ ดินขนาดเล็กอีก 4 ห้อง มันถูกสร้างด้วยโคลนที่มีพื้นผิวโค้งลื่นไหล ชวนกระตุ้นจินตนาการถึงถ้ำ มันถูกใช้เป็นที่พักผ่อน ห้องเรียน หรือกิจกรรมอบรมต่างๆ และยังมีห้องบำบัดอีกเช่นกัน ส่วนพื้นที่ชั้น 2 เป็นพื้นที่เรียนรู้การทอผ้าด้วยเทคนิคท้องถิ่นที่ชื่อว่า Dipdii การออกแบบให้เชื่อมโยงทั้ง 2 ชั้นใช้ทางลาดให้สามารถใช้ได้ทุกผู้คน รายรอบนอกอาคารออกแบบให้มีชายคาจากไผ่คลุมโดยรอบเพื่อลดความร้อนจากดวงอาทิตย์ ภายในห้องชั้น 2 ออกแบบให้มีหลังคายกสูงช่วยให้ระบายอากาศได้ดี ผสมไปกับความหนาของผนังดินทำให้อาคารมีอุณหภูมิที่เหมาะสมกับการใช้งานได้ดี

สิ่งที่ดูเป็นเอกลักษณ์ในงานออกแบบของ Studio Anna Heringer คือความโดดเด่นด้านการใช้วัสดุท้องถิ่น งานนี้จึงเป็นความต่อเนื่องในการต่อยอดความรู้จากการก่อนหน้านี้อย่างเต็มที่ วัสดุที่ถูกนำมาใช้ในงานนี้ยังเป็นไผ่และดินอย่างโดดเด่น เนื่องจากไผ่เป็นวัสดุที่หาได้ง่ายในเอเชีย อีกทั้งโตเร็ว คุ้มค่าที่จะเลือกใช้กับโครงการที่ราคาไม่สูง วัสดุที่เป็นตัวเด่นคือการใช้ดินโคลนมาก่อรูป โดยดินทำหน้าที่เป็นผนังรับน้ำหนักไปพร้อมกับวัสดุตกแต่งทั้งภายนอกและภายใน ผนังดินเหล่านี้ไม่ต้องใช้แบบหล่อเหมือนการหล่อคอนกรีต ตกแต่งให้โค้งง่ายจากการทำมือ ด้วยเทคนิคการก่อสร้างที่เรียกว่า Cob มันจึงกลายเป็นอาคารที่สร้างด้วยแรงงานในท้องถิ่นได้อย่างสบาย เพราะไม่ต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูงที่ต้องน้ำเข้าจากโลกภายนอก แต่เป็นการเลือกใช้แต่วัสดุที่มาจากท้องถิ่นเท่านั้น ทั้งลดค่าใช้จ่ายและสร้างคุณค่าให้กับผู้คนในชุมชนด้วยความร่วมมือร่วมแรงในการก่อสร้าง

สำหรับงานนี้ Heringer ได้เสนอถึงขอบเขตของการทำงานที่ไม่ได้เป็นแค่สถาปนิก แต่มันสามารถขยายขอบเขตการทำงานไปสู่ด้านนักสังคมสงเคราะห์และเป็นนักเคลื่อนไหวได้ด้วยสถาปัตยกรรมเช่นกัน

 

แปลและเรียบเรียงจาก: www.anna-heringer.com
ที่มา: www.archdaily.comwww.designboom.com

สาโรช พระวงค์

สถาปนิกผู้ริเป็นนักเขียน และอาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี สนใจในสถาปัตยกรรมที่สร้างคุณภาพที่ชีวิตที่ดีขึ้น เลยมาเขียนเล่าให้ผู้อ่านเป็นเนืองๆ

See all articles