Bait Ur Rouf Mosque มัสยิดในบังคลาเทศ ศูนย์รวมจิตใจชุมชน กลมกลืนกับท้องถิ่น

ในชุมชนที่มีความแข็งแรงต่อศาสนา สถาปัตยกรรมศาสนาไม่ได้ทำหน้าที่แค่เพียงเป็นสถานที่สักการะบูชาเท่านั้น แต่ยังเป็นพื้นที่ส่วนกลางของชุมชนไว้ทำกิจกรรมร่วมกัน เป็นแหล่งพักพิงจิตใจอีกด้วย หากนึกภาพไม่ออก ขอให้นึกถึงลานวัดของบ้านเราในอดีต ที่ทำหน้าที่สารพัดให้แต่ละชุมชน ทั้งเป็นตลาด งานบวช เทศกาลสงกรานต์ งานบุญต่างๆ หรือแม้กระทั่งเลือกตั้งก็ตาม

สำหรับในประเทศที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นมุสลิม ก็จะมีมัสยิดเป็นศูนย์รวมจิตใจของชุมชนเช่นกัน อย่างที่กรุงธากา ประเทศบังกลาเทศ เป็นเมืองที่มีประชากรหนาแน่น การมีพื้นที่ศูนย์รวมไว้พักพิงใจของชุมชน จึงเป็นสิ่งที่ช่วยให้คุณภาพชีวิตของคนในชุมชนดีขึ้น อย่างเช่นการเกิดขึ้นของมัสยิด Bait Ur Rouf Mosque ในธากา เพื่อรองรับกิจกรรมในชุมชนด้วยสถาปัตยกรรม

Marina Tabassum สถาปนิกสาวชาวบังคลาเทศ เป็นผู้ออกแบบมัสยิดนี้ ด้วยแนวคิดที่ต้องการสร้างสถาปัตยกรรมร่วมสมัยจากความเรียบง่าย ด้วยการใช้วัสดุคืออิฐดินเผาที่สามารถหาได้ง่ายในท้องถิ่นของบังคลาเทศ สามารถทำกันได้เอง ลดการขนส่งจากภายนอก อิฐจึงเป็นวัสดุหลักของการสร้างมัสยิด โดยให้คอนกรีตเข้ามาเป็นวัสดุรอง รูปทรงที่ดูเรียบง่าย แต่ทรงพลัง มาจากการที่สถาปนิกเลือกใช้ภาษาสถาปัตยกรรมอิสลามจากอดีต แต่ประยุกต์ให้มีขนาดย่อมลงมาเหมาะกับชุมชน มันจึงดูเรียบง่ายแต่แฝงไปด้วยรายละเอียดของช่างฝีมือท้องถิ่น การก่ออิฐทำเป็นผนังทึบในพื้นที่ใจกลางส่วนที่ต้องการแสงสลัว ให้เกิดสภาวะมีสมาธิสูงจากการรบกวนภายนอก และดึงแสง ลม จากภายนอกด้วยการก่อผนังอิฐแบบกึ่งทึบกึ่งโปร่ง

ส่วนที่น่าประทับใจคือการใช้แสงเข้ากับผนังอิฐ ในรูปทรงเรียบง่ายดูเป็นกล่องอิฐสี่เหลี่ยม กลับถูกสวมเข้าไปด้วยรูปทรงกระบอกภายใน รอยตัดของ 2 รูปทรง เป็นส่วนที่เชื่อมท้องฟ้า ให้ดึงแสงธรรมชาติเข้ามายังภายในอย่างแยบยล ไปพร้อมกับที่ตัดความวุ่นวายจากภายนอก แล้วยังเป็นส่วนที่คอยดึงอากาศร้อนให้ลอยสู่ด้านบน ทำให้เกิดอากาศไหลเวียนภายในมัสยิดอีกด้วย พื้นที่ในสุดเป็นสี่เหลี่ยมเพดานเจาะช่อง ทำจากคอนกรีตที่มีลักษณะเอียงออกจากรูปทรงสี่เหลี่ยมภายนอกสุด เทคนิคการเอียงของก้อนคอนกรีตนี้คือให้จุดศูนย์กลางภายใน จนถึงช่องแสงกลางผนังอิฐด้านทิศตะวันตก หันไปสู่นครมักกะฮ์ ซาอุดีอาระเบีย อันเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวมุสลิม

ของดีของแต่ละถิ่นที่ สามารถเป็นสิ่งที่งอกมาเนื้อหาของท้องถิ่นอย่างเรียบง่าย และไปไม่ไกลจากภาษาของท้องถิ่น แต่ลึกซึ่งกับมัน ซื่อสัตย์ต่อตัวเองเท่านั้น

อ้างอิง: mtarchitekts.comwww.dezeen.com, www.akdn.org

สาโรช พระวงค์

สถาปนิกผู้ริเป็นนักเขียน และอาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี สนใจในสถาปัตยกรรมที่สร้างคุณภาพที่ชีวิตที่ดีขึ้น เลยมาเขียนเล่าให้ผู้อ่านเป็นเนืองๆ

See all articles