ไผ่เป็นอะไรได้บ้างมากมายในความคุ้นเคยของชาวเอเชียตั้งแต่โบราณ เพราะเป็นพืชที่ใกล้ตัวตั้งแต่อาหารไปจนถึงบ้านเรือน แต่เมื่อแนวคิดในการใช้วัสดุอุตสาหกรรมเป็นหลักในการก่อสร้าง ความนิยมในการใช้ไผ่ได้ลดลงไป เพราะไม่ตอบสนองตลาดที่ต้องการความแม่นยำรวดเร็ว
แต่มีอีกความพยายามทดลองเรื่องนำวัสดุธรรมชาติมาต่อยอดในประเทศจีน ณ มณฑลเจ้อเจียง สำนักงานสถาปนิก Studio Cardenas ได้นำเสนอการทดลองด้วยสถาปัตยกรรมยั่งยืนที่ออกแบบในชุมชนไผ่ ด้วยแนวคิดทั้งจากลดการปล่อยคาร์บอนให้เป็นพิษกับโลก ผสมกับแนวคิดฮวงจุ้ย สถาปนิกออกแบบบ้านด้วยการใช้วัสดุในท้องถิ่นเช่น ไผ่ ดิน ด้วยการทดลองใช้ไผ่ซึ่งหาได้ง่ายในท้องถิ่น และยังโตเร็ว สำหรับส่วนโครงสร้างเสา คาน ให้เป็นโครงกริด 9 ช่อง จากนั้นสอดตัวบ้านเข้าไปในโครงไผ่ที่ออกแบบให้ข้อต่อแข็งแรงมากขึ้นด้วยการใช้โลหะเข้าร่วมยึด ไผ่ออกแบบให้มีขนาด ความยาว เป็นระบบประสานทางพิกัด (modular) เพื่อใช้วัสดุอย่างคุ้มค่าที่สุด ทดลองให้ไผ่เป็นวัสดุอุตสาหกรรมการก่อสร้าง และผสมกันเข้ากับผนังดินอัด (rammed earth) ในส่วนฐาน ส่วนวัสดุหลังคาเป็นดินเผาแบบจีนที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น
สถาปนิกมองความยั่งยืนไม่ใช่แค่การใช้วัสดุ แต่มันรวมไปถึงการก่อสร้าง การออกแบบด้วยเช่นกัน บ้านนี้ใช้ถังเก็บน้ำใต้ดินที่มีอุณหภูมิคงที่ในหลายฤดูกาล สถาปนิกเสนอข้อมูลว่ามันลดการใช้พลังงานลง 25% จากระบบระบายความร้อนแบบเดิม ลดการใช้ไฟฟ้าลงได้ 15%
ในหลากวัฒนธรรมของเอเชีย ไผ่จึงเป็นมากกว่าไผ่ และเราควรหาวิธีต่อยอดให้มีประโยชน์กับโลกเราสูงสุดเช่นกัน
อ้างอิง: Studio Cardenas, archdaily, inhabitat