Bioclimatic Community Mosque of Pamulang ความหมายใหม่ของมัสยิดที่ไม่ยึดติดรูปแบบเดิม

ในสังคมยุคก่อน ศาสนสถานเป็นศูนย์กลางของชุมชน วิถีชีวิตได้มีความผูกพันกับศาสนาสูง สถาปัตยกรรมศาสนาได้ถูกก่อสร้างอย่างบรรจงด้วยศรัทธา ในปัจจุบันสถาปัตยกรรมศาสนาถูกตั้งคำถามถึงการมีอยู่ว่าปรับตัวตามสภาพสังคมปัจจุบันอย่างไรบ้าง หลายแห่งได้ซบเซาลงไป กลายเป็นอดีตของความรุ่งโรจน์ หลายแห่งได้ปรับตัวด้วยกิจกรรมใหม่ที่ถูกเสนอเข้ามาทำให้มีชีวิตชีวามากขึ้น พื้นที่เดิมไม่ได้เป็นแค่เพียงพื้นที่สักการะเท่านั้น แต่ได้กลายสภาพที่ลื่นไหลกับบริบทปัจจุบันมากขึ้น

ในเมืองปามุลัง จังหวัดบันเติน ประเทศอินโดนีเซีย เมืองที่อยู่ทางใต้จากจาการ์ตาราว 30 กิโลเมตร ได้เกิดมัสยิดรุ่นใหม่ ในพื้นที่ใช้สอย 1,200 ตารางเมตร รองรับผู้คนได้ราว 1,000 ชีวิต เป็นสถาปัตยกรรมศาสนาที่มีแนวคิดที่ให้ความหมายใหม่ว่าในพื้นที่ของมัสยิดไม่จำเป็นต้องยึดติดรูปแบบเดิม สามารถตีความสถาปัตยกรรมศาสนาในแง่มุมใหม่ได้ และยังสามารถรองรับชุมชนโดยรอบได้อีก ออกแบบโดย RAD + ar (Research Artistic Design + architecture) สำนักงานสถาปนิกจากจาการ์ตา

สถาปนิกออกแบบให้มัสยิดนี้นอกจากเป็นพื้นที่เชื่อมต่อกับจิตวิญญาณแล้ว การใช้สอยภายในยังมีลักษณะผสมผสานกันไปหลายอย่าง ให้ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางชุมชน เป็นพื้นที่พบปะ และพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจสำหรับชุมชนใกล้เคียง พื้นที่ภายในจึงออกแบบให้มีลักษณะโปร่งโล่ง รองรับกิจกรรมได้หลากหลาย นอกจากการออกแบบพื้นที่แล้ว ความน่าสนใจคือการที่สถาปนิกใส่ใจในเรื่องสถาปัตยกรรมที่สอดคล้องกับธรรมชาติของเมืองร้อนชื้นอย่างอินโดนีเซีย ที่ทั้งร้อน ชื้น ทำให้สถาปัตยกรรมที่เหมาะสมในภูมิภาคนี้ไม่สามารถเลียนแบบจากรูปแบบต้นทางโดยขาดการปรับเปลี่ยน ภายในเป็นพื้นที่โล่ง 2 ชั้น จากห้องสวดสำหรับเพศชายที่ชั้น 1 สำหรับเพศหญิงที่ชั้น 2 การซ้อนชั้นในปริมาตรมาก ถูกออกแบบให้มีสเปซภายในมีลักษณะเป็นปล่องระบายอากาศ ขอให้นึกภาพตามอย่างง่าย เหมือนปล่องโรงสีข้าวที่เป็นปล่องสูงจะคอยระบายอากาศร้อน ธรรมชาติของอากาศร้อนจะลอยจากที่ต่ำไปสู่ที่สูง แล้วถูกแทนที่ด้วยอากาศเย็น จนเกิดลม ทำให้มีสภาวะน่าสบาย ช่องระบายอากาศใต้หลังคาชั้น 2 ได้ทำหน้าที่คล้ายแบบนั้น จนมีการเคลื่อนไหวของอากาศ

ในส่วนของผนังภายนอก สถาปนิกเลือกใช้ผนังบล็อกลมที่ผลิตในชุมชนก่อเป็นผนังผืนสูง มันช่วยในเรื่องระบายอากาศจากภายในเป็นอย่างดี พร้อมกับรับลมเย็นของภายนอก ยังได้แสงธรรมชาติเข้ามาภายใน พร้อมกับความเป็นส่วนตัวจากลิ้นของบล็อคลมอีกเช่นกัน ทั้งการระบายอากาศที่เหมาะสมกับเมืองร้อนชื้น การเลือกใช้วัสดุผนังทำให้มีแสงที่สลัว การเปิดช่องแสงที่เหมาะสม เลือกเปิดช่องแสงวงกลมที่หลังคาในบางส่วนช่วยให้พื้นที่ภายในมีแสงที่เหมาะกับกิจกรรมสำหรับสวดภาวนาโดยใช้พลังงานกับแสงสว่างอีกด้วย

มัสยิดในสายตาที่เราคุ้นเคย คือการใช้โดมตรงกลางเป็นศูนย์กลาง ล้อมรอบด้วยหอสูงทั้ง 4 ทิศ ซึ่งการออกแบบแนวนี้เป็นรูปแบบประเพณีที่สืบทอดกันมา โดมสูงตรงศูนย์กลางมีน้ำหนักและแรงถีบมาก การใช้หอสูงทั้ง 4 ทิศ มาช่วยยันโครงสร้างไว้ จึงทำให้เกิดความสมดุลในการใช้โครงสร้าง แต่ในเทคโนโลยีปัจจุบัน เราสามารถใช้โครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กที่มีประสิทธิภาพสูง จึงไม่จำเป็นต้องออกแบบโดยใช้รูปแบบเดิมก็ได้ หลังคาโดมได้กลายเป็นหลังคาแบน พร้อมปลูกพืชคลุมดินบนหลังคาเพื่อลดความร้อน หอสูงได้หายไป กลายเป็นพื้นที่ลานรอบมัสยิด

เมื่อเกิดการตีความใหม่ ให้สอดคล้องกับยุคสมัย เมื่อนั้นพลวัตรของชีวิตจะกำเนิด

อ้างอิง: radarchitecture.netinhabitat.comwww.archdaily.com

สาโรช พระวงค์

สถาปนิกผู้ริเป็นนักเขียน และอาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี สนใจในสถาปัตยกรรมที่สร้างคุณภาพที่ชีวิตที่ดีขึ้น เลยมาเขียนเล่าให้ผู้อ่านเป็นเนืองๆ

See all articles