ไม่มีอะไรสำคัญไปกว่าการศึกษา การอ่านจึงเป็นรากฐานที่สำคัญต่อมนุษย์ เราสามารถสร้างสรรค์และทำลายได้ด้วยความรู้ และการอ่านคือเครื่องมือที่ให้เราเข้าถึงความรู้ที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตมนุษย์ แต่ในขณะเดียวกันสถาปัตยกรรมสำหรับการอ่านที่เราคุ้นเคย มักเจอรูปแบบที่มีความเป็นสถาบันสูง แฝงด้วยท่าทีที่เป็นทางการจนสร้างความรู้สึกข่มผู้ใช้งาน โดยเฉพาะเด็กที่มีสเกลเล็กกว่าผู้ใหญ่ เมื่อเหล่าเด็กที่รักการอ่านเข้ามาใช้ห้องสมุดแบบเก่า มันดูไม่ชวนให้เข้าใช้งานเอาเสียเลย
แต่มีอีกคำตอบสำหรับสถาปัตยกรรมเพื่อการอ่านจากประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นการทดลองทางสถาปัตยกรรมที่มีคำตอบน่าสนใจ ในพื้นที่สวนของพิพิธภัณฑ์ Chhatrapati Shivaji Maharaj Vastu Sangrahalaya หรือ CSMVS Museum ในเมืองมุมไบ ได้มีการสร้างศาลาแห่งการอ่านชื่อว่า ‘BookWorm’ แปลได้ตรงตัวก็คือหนอนหนังสือ ในนัยหนึ่งมันหมายถึงคนที่รักการอ่านจนฝังตัวไว้กับหนังสือ แต่ในนัยของการออกแบบ มันคือห้องสมุดเคลื่อนที่รูปทรงคล้ายตัวหนอนนั้นเอง
จุดเริ่มต้นงานนี้มาจากที่สตูดิโอออกแบบจากอินเดีย NUDES ได้ทำการออกแบบตอบสนองนโยบายขององค์การสหประชาชาติ ที่มีเป้าหมายให้เยาวชนทุกคนและผู้ใหญ่จำนวนมากมีความสามารถรู้หนังสือภายในปี พ.ศ. 2573 จากโจทย์ที่มีจึงตีความให้สถาปัตยกรรมสำหรับการอ่านนี้น่าเข้ามาใช้งาน ดูจับต้องได้ เป็นมิตรต่อเด็กๆ ให้สร้างการมีส่วนร่วมในการอ่านจนกลายเป็นกิจกรรมที่สนุกสนาน ไม่เกร็งจากรูปแบบของสมุดแบบเดิมที่มีกลิ่นอายข่มผู้ใช้
จุดเริ่มต้นการออกแบบ นอกจากตอบโจทย์ที่ให้ดูสนุกแล้ว ยังต้องคำนึงเรื่องการเคลื่อนย้ายได้ง่าย หลังจากที่ศาลานี้จะอยู่ในสนามหญ้าที่ CSMVS Museum จนแค่ธันวาคม พ.ศ. 2562 จากนั้นมันจะถูกรื้อและเดินทางไปทั่วอินเดียทั้งในชนบทและในเมือง วิธีการออกแบบเบื้องต้นจากการสร้างรูปทรงสามเหลี่ยมที่มีความมั่นคงคล้ายการพิงกันของบันได 2 ตัวเอนเข้าหากัน จากนั้นทำการบิดให้มีความลื่นไหล พื้นผิวมีความโค้งก่อให้เกิดการใช้สอยตามความโค้ง ในส่วนที่โค้งชันมากกลายเป็นชั้นวางหนังสือ ส่วนที่มีความชันน้อยกลายเป็นที่นั่งอ่านหนังสือ พื้นที่ใต้ชั้นหนังสือสามารถเดินเข้าไปได้ พร้อมกับบังแดดจากแผงไม้อัดไปในตัว ทุกการใช้สอยนี้รวมอยู่ในพื้นผิวที่ไหลเข้าหากัน
เทคนิคการก่อสร้างที่ถูกเลือกคือ pre-fabrication หรือแบบสำเร็จรูป วิธีการก่อสร้างคือใช้คอมพิวเตอร์คำนวณรูปทรงที่มีความโค้งลื่นไหล แล้วถอดออกมาเป็นชิ้นย่อยต่างๆ จนครบทุกส่วน จากนั้นสั่งตัดไม้อัดรีไซเคิลด้วยเครื่อง CNC หรือเครื่องกัดขึ้นรูปวัสดุ ในที่สุดเหล่าไม้อัดได้ถูกตัดออกมาเป็นชิ้นส่วนกว่า 3,600 ชิ้นงาน แล้วนำมาประกอบเข้าด้วยกันจากเทคนิคยึดสกรูไม้อัดแผ่นแนวนอนเป็นตัวยึดให้กับโครงไม้แนวตั้ง มันใช้เวลาทำ 3 สัปดาห์จากโรงงาน นำมาประกอบติดตั้งหน้างานในเวลา 56 ชั่วโมง จึงแล้วเสร็จเป็นศาลารูปทรงคล้ายตัวหนอนขนาด 12×36 เมตร ด้วยการใช้วัสดุย่อยสลายได้ทำให้มันมีการปล่อยคาร์บอนต่ำ พร้อมกับส่งเสริมเทคโนโลยีการสร้างที่ยั่งยืน
หนังสือที่เข้ามาเติมเต็มในศาลานี้ได้รับการบริจาคจากโรงเรียนหลายแห่งทั่วเมือง หนังสือเหล่านี้จะถูกบริจาคให้กับองค์กรเอกชนและเด็กที่ยากไร้ กลายเป็นการเดินทางของปัญญา เป็นเมล็ดพันธุ์ความรู้ให้กับประชากรโลกต่อไป
แปลและเรียบเรียงจาก: www.nudeoffices.com
ที่มา: www.designboom.com, worldarchitecture.org, www.dezeen.com