‘ชีวัน วิสาสะ’ นักเล่านิทานตัวกลั่น..สานความคิดจากหนังสือเด็กสู่ขอบรั้วโรงเรียน

ถ้าพูดถึงชื่อ ชีวัน วิสาสะ หรือ ‘ครูชีวัน’ หลายคนรู้จักเขาดีในฐานะนักเขียน-นักวาดภาพประกอบนิทานเด็ก ที่มีผลงานเป็นที่ยอมรับมาอย่างยาวนาน ผลงานของเขาโดดเด่นในเรื่องการเปิดประตูจินตนาการ และการต่อยอดความคิดที่เป็นประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็น ‘น้องส้มโอกับพี่หลอดไฟ’ อีเล้งเค้งโค้ง’ ไปจนถึง ‘มดสิบตัว’ ที่เคยได้รับการแปลเป็นภาษาต่างประเทศมาแล้ว

วันนี้เรานั่งคุยกับเขาในหลากหลายประเด็น ว่าด้วยตัวตนของนักเล่านิทาน มุมมองการออกแบบหนังสือเด็ก เรื่อยไปถึงนิยามของการเล่าเรียน การพัฒนาเด็กเล็ก และความห่วงใยต่อระบบการศึกษาไทยในโลกปัจจุบัน

นักเล่านิทานภาพ…อาชีพที่เป็นธรรมชาติที่สุด

“มันคงสั่งสมมาตั้งแต่เด็กครับ สภาพแวดล้อมที่เราเติบโตมามันเลือกอาชีพนี้ให้เราเอง” ครูชีวันบอกว่าตลอดเส้นทางชีวิตของเขา เขาไม่เคยต้องเปลี่ยนตัวเองเพื่อจะทำอาชีพนี้แม้แต่น้อย “พ่อผมก็เป็นคนอ่านหนังสือ เป็นคนชอบเล่าเรื่อง ชอบให้เราเปิดดูหนังสือ มันเป็นอิทธิพลทำให้เราสนใจการอ่านและการเล่าเรื่องมาแต่เล็กๆ”

เท่าที่จำความได้ ครูชีวันบอกว่าเขาเริ่มอ่านออกมาตั้งแต่ก่อนเข้าชั้นอนุบาล และเป็นความสนใจตามธรรมชาติที่ติดตัวมาจนกระทั่งเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ “และผมก็เป็นคนชอบวาดรูปด้วย ไม่รู้มาจากสายเลือดรึเปล่านะ” (หัวเราะ) พ่อของเขาก็เคยเป็นครูสอนศิลปะมาก่อน ส่วนแม่ก็มีทักษะศิลปินในตัวแม้จะไม่ได้ยึดเป็นอาชีพก็ตาม

“สมัยเด็กผมจะตามเก็บเศษกระดาษที่เหลือจากในห้องเรียนมาสะสมไว้ หน้าไหนที่ใช้แล้วก็เอาไปชั่งกิโลขาย ส่วนหน้าว่างๆ ก็เอามาเย็บรวมเล่มเป็นสมุดวาดเล่นของตัวเอง” นักเล่านิทานของเราย้อนเล่าอย่างลื่นไหลว่ในสมัยเขาเด็กนั้น หนังสือนิทานยังไม่ใช่ของหาง่าย แต่ด้วยความที่เขามีเรื่องเล่าในหัวมากมาย จึงชอบวาดภาพและแต่งเรื่องราวลงในสมุดเพื่อนำไปอวดเพื่อนวัยเดียวกัน

“ผมอ่าน อ่าน อ่าน อ่าน จนกระทั่งรู้ว่าตัวเองชอบหนังสือแบบไหนในแต่ละช่วงวัย เช่นตอนประถมก็ชอบหนังสือวิทยาศาสตร์ง่ายๆ เรื่องชีวิตในป่า การล่องไพร และหนังสือเกี่ยวกับบุคคลสำคัญ  พอเป็นวัยรุ่นหน่อยก็ชอบเรื่องเกี่ยวกับมิติที่สี่ เรื่องวิทยาศาสตร์แนวแฟนตาซี ฯลฯ จนขึ้นชั้นมัธยมปลายก็เปลี่ยนมาอ่านเรื่องที่เป็นข้อคิดของคนรุ่นใหม่ เรื่องปรัชญาของคนหนุ่มสาวสมัยนั้น”

ความสนใจที่สะสมมาตลอดทุกช่วงอายุนี้ ทำให้เขารู้ว่า อาชีพนักเขียน’ เป็นความฝันหนึ่งที่ฝังรากอยู่ในตัวเขามานมนาน  “ตอนเข้าเรียนระดับอุดมศึกษา ผมก็เลือกเรียนวิชา Art Education คือเรียนศิลปะเพื่อเป็นครู ทำให้เรามีทักษะในการถ่ายทอดความคิดได้ดียิ่งขึ้น”

ย้อนกลับไปในช่วงวัยเรียน คุณครูนักเล่านิทานบอกว่าเขาไม่ใช่เด็กที่มุ่งเน้นด้านวิชาการเป็นหลัก  “คือผมก็ตั้งใจเรียนแหละ แต่ไม่ได้ซีเรียสกับมันมาก เราอยากหาประสบการณ์อื่นๆ มากกว่า ผมชอบทำกิจกรรม เป็นสมาชิกสโมสรนักศึกษา เพราะมันทำให้ผมได้รู้จักคน ได้รู้ความเป็นไปของสังคม ทำให้เรามีวิธีคิดและพัฒนากระบวนการตัดสินใจที่ดีขึ้นมา”

“ณ จุดหนึ่งของชีวิต ประสบการณ์นอกตำราที่เราเก็บเกี่ยวไว้มันจะค่อยๆ แสดงพลังออกมา”

ครูชีวันเรียนจบมาด้วยเกรดเฉลี่ยที่ไม่ได้ดีเด่นอะไรนัก แต่เขากลับสอบบรรจุ(ครู)ได้เป็นที่หนึ่งในปีนั้น และก็สอบได้ที่หนึ่งซ้ำอีกในการสอบเพิ่มวุฒิฯ อีกหลายปีต่อมาทั้งๆ ที่ไม่ได้เตรียมตัว

เป็นเด็กต้องเล่น

วัยประถมของเด็กชายชีวัน วิสาสะ เริ่มต้นขึ้นที่โรงเรียนวัดแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ “ผมยังระลึกได้ว่ามีหลายๆ วิชา หลายๆ กิจกรรมในสมัยเด็กที่ให้ทักษะติดตัวผมมาจนทุกวันนี้”

“จนเราโตมาเป็นผู้ใหญ่ก็ได้ไปดูงานที่ญี่ปุ่นครั้งหนึ่ง ดูการเรียนการสอนของเขาแล้วก็พลันรู้สึกว่า…เฮ้ย! ชีวิตเด็กนักเรียนญี่ปุ่นนี่มันเหมือนกับสมัยเราอยู่โรงเรียนวัดเลยนะ” ครูชีวันหัวเราะร่วนกับความทรงจำแสนสุขในวัยเยาว์ “เริ่มจากการเดินไปโรงเรียนตอนเช้าทุกวัน ลัดเลาะไปตามซอกซอยจนไปถึงโรงเรียน นานๆ ทีถึงจะได้นั่งรถไปกับคุณพ่อบ้าง ซึ่งมันทำให้ผมกลับมาตั้งคำถามนะว่า เด็กสมัยนี้มีใครได้เดินไปโรงเรียนกันบ้างรึเปล่า”

เขาค่อยๆ พาเราเดินกลับไปในห้วงเวลาแห่งความหลังของเจเนอเรชั่นเบบี้บูม “ตอนเด็กจำได้ว่าวันหนึ่งๆ เราเรียนไม่มากเลย เรียนแค่ครึ่งวันเอง อาจจะเพราะประชากรยุคเบบี้บูมแบบผมมีเด็กเยอะ เขาเลยต้องแบ่งการเรียนออกเป็นสองภาค คือภาคเช้าและภาคบ่าย เพื่อให้เด็กผลัดกันเรียน เป็นแบบนี้มาตลอดจนถึงมัธยม” ซึ่งด้วยเงื่อนไขการเข้าห้องเรียนเพียงครึ่งวันนี้ก็ทำให้ครูชีวันในวัยเด็กมีเวลาเหลือเฟือในการออกไป ‘เล่น’ โดยทุกวันหลังเลิกเรียนเขาและเพื่อนๆ จะไปวิ่งเล่นกันในสวนใกล้โรงเรียน แต่ละวันก็เลือกกันว่าจะปีนต้นไม้ หาผลไม้ กระโดดน้ำ ฯลฯ แล้วแต่ที่เหล่าเด็กจะจินตนาการอยากเล่นในแต่ละวัน  “การเล่นในธรรมชาติก็คือการเรียนรู้ชีวิต ทำให้เด็กค่อยๆ พัฒนาทักษะและความสนใจของตนเองขึ้นมา”

“การเล่นคือธรรมชาติของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ลูกสัตว์ในวัยทารกจะต้องเล่น
เพราะมันคือทักษะการเอาตัวรอด คนไม่ควรไปบิดธรรมชาตินี้ จงให้เด็กเล่น และเล่นกับเขา”

เขาเล่าต่อไปว่าอีกสิ่งหนึ่งที่โรงเรียนญี่ปุ่น (สมัยใหม่) กับโรงเรียนวัด (สมัยก่อน) มีความเหมือนกันก็คือมีวิชาหัตถศึกษา เช่นพวกงานไม้ งานช่าง งานศิลป์ งานเย็บปักถักร้อย ให้เด็กชั้นประถมได้เรียน “สมัยเด็กผมได้เรียนวิชาพวกนี้กันจริงจังนะ ไม่กระจุ๋มกระจิ๋มอย่างทุกวันนี้หรอก วิชางานไม้เราก็เลื่อยไม้กันจริงๆ หัดทำข้าวของขึ้นไว้ใช้งานเอง ถ้าเด็กที่โตหน่อยขึ้นชั้นมัธยมแล้ว ผมจำได้ว่าเขาต่อเก้าอี้กันเป็นตัวๆ เลย ทำขาโค้งก็ได้ แกะสลักก็ได้”

“วิชาหัตถศึกษาให้ทักษะแก่เด็กได้มากมายนัก แต่ปัจจุบันมันหดหายไป กลายเป็นสิ่งที่พ่อแม่ต้องจ่ายเงินเพิ่ม โรงเรียนมาเน้นสอนแต่ตำรา ซึ่งไม่ตรงกับวัยเลย  มันไม่ใช่ความสุขของเด็กเล็ก ทำให้เขาหมดความอยากเรียนรู้” ครูชีวันกล่าวด้วยความเสียดาย

Hard Skills และ Soft Skills ในเด็กปฐมวัย

ในฐานะนักการศึกษาคนหนึ่งที่สัมผัสกับระบบการศึกษาไทยมาแล้วหลายสมัย เราถามครูชีวันว่าเขามองประเด็นเรื่อง hard skills (ทักษะด้านความรู้) กับ soft skills (ทักษะด้านอารมณ์) ที่เป็นข้อถกเถียงในระบบการศึกษายุคนี้อย่างไร

“ผมว่ามันเป็นข้อจำกัดที่เกิดจากมุมมองของนักวิชาการต่างรุ่น” ครูชีวันกล่าว “ซึ่งแน่นอนว่าในอดีตมุมมองเรื่องนี้ก็ไม่ได้เปิดกว้างนัก ผู้ปกครองส่วนใหญ่จึงมีชุดความหวังที่หล่อหลอมขึ้นจากค่านิยมที่เหมือนๆ กัน” …นั่นก็คือเยาวชนควรได้รับความรู้ด้านวิชาการอันเป็นเลิศ เพื่อจะการันตีความสำเร็จในชีวิตอนาคต

“โดยธรรมชาติของเด็กแล้วไม่ว่าเขาจะอยู่ในสังคมแบบไหน เขาก็ควรจะไดฝึกทักษะทั้งสองด้านควบคู่กันไป ทั้ง soft skills จากศิลปะ ดนตรี กีฬา และ hard skills จากบทเรียนที่เป็นวิชาการต่างๆ”

เขาเงียบไปพักหนึ่ง ก่อนจะยกตัวอย่างทฤษฎี ‘พหุปัญญา’ ที่โลกตะวันตกดูจะมีความเข้าใจลึกซึ้งกว่าขึ้นมาว่า  “โฮวาร์ด การ์ดเนอร์ นักจิตวิทยาชาวอเมริกันที่คิดค้นทฤษฎีนี้ขึ้นเขาพยายามวัดทักษะของเด็กคนหนึ่งขึ้นจากหลากหลายแง่มุม…มันไม่ใช่แค่การเป็นเด็กวิทย์หรือเด็กศิลป์อย่างที่ไทยเราแบ่ง”

ซึ่งแน่นอนว่ามาตรวัดที่หลากหลายนี้ก็ย่อมทำให้ครูต้องมุ่งความสนใจไปที่ตัวเด็กมากขึ้น และค่อยๆ ส่งเสริมเด็กขึ้นจากทักษะพื้นฐานที่เขามีความโดดเด่น  “จากนั้นจึงค่อยพัฒนาสู่การค้นหาคำตอบว่า…ถ้าเด็กคนหนึ่งนำทักษะแต่ละด้านที่เขามีมาผสมกันแล้ว เขาจะแสดงออกมาเป็นความสามารถในเรื่องใด นั่นคือลักษณะเฉพาะตัวของเด็กแต่ละคน”

“อาชีพที่ผู้ใหญ่ในบ้านเราพร่ำสอนลูกหลานว่าโตขึ้นแล้วควรจะเป็น…มันยังแคบเกินไป”

ความรู้อยู่ที่ไหน

ครูชีวันตั้งคำถามต่อไปว่าแล้วทำไมการเรียนในรั้วโรงเรียนทุกวันนี้จึงค่อนข้างตัดขาดจากโลกภายนอก “ทั้งๆ ที่โรงเรียนก็เป็นส่วนหนึ่งของสังคมนี้ แต่เด็กๆ กลับไม่ได้เรียนวิชาชีวิตที่จำเป็นนัก” ซึ่งนี่อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่เด็กไทยเรียนจบมาแล้วตกงานเยอะก็เป็นได้

“สังเกตว่าถ้าเขาไม่ได้เรียนสายตรงมาเลย อย่างเช่น ตำรวจ ทหาร หรือหมอ ก็ไม่มีใครต่อยอดอาชีพใหม่ๆ ขึ้นมาได้”

เราเริ่มคล้อยตามครูชีวันไปว่าหรือทุกวันนี้โรงเรียนเป็นเพียงสถานที่ที่ถูกอุปโลกน์ขึ้นว่าเป็นศูนย์กลางความรู้ แต่กลับยังไม่ได้ทำหน้าที่ของมันอย่างแท้จริง

“องค์ประกอบหลักของโรงเรียนทุกวันนี้คือตำราเรียนกับครูผู้สอน แต่นั่นมีค่าเท่ากับความรู้แล้วหรือยัง เราตีความหมายเรื่องการเรียนรู้อย่างไรในทุกวันนี้” เขาตั้งคำถามกับสถานการณ์ห้องเรียนอันแปลกประหลาดที่กำลังดำเนินอยู่ในทั่วทุกภาคของประเทศ

“ภาพสะท้อนที่เห็นกันอยู่ว่าเป็นวิกฤติแล้วก็คือทักษะการอ่านเขียนของเด็ก
ในเมื่อเด็กทุกคนไปโรงเรียน ทำไมถึงมีเด็กที่อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้”

“ในโลกยุคใหม่ที่ห้องเรียนมีขนาดเล็กลง มีครูผู้ชำนาญการเพิ่มขึ้น มีตำราวิชาการออกใหม่ทุกปี แต่ทักษะการอ่านเขียนของเด็กๆ กลับถดถอย  คุณว่าสถานการณ์มันย้อนแย้งไหมล่ะ” ครูชีวันเปรยยิ้มๆ และฝากให้ทุกคนช่วยไปค้นหาคำตอบกันอีกครั้ง

เราถามครูว่าแนวคิดเรื่องศูนย์กลางความรู้นี้มีรากเหง้ามาจากวัฒนธรรมที่เคยมี ‘วัด’ เป็นศูนย์กลางหรือเปล่า เพราะอดีตวัดก็คือโรงเรียน พระก็คือครู มันเป็นสัญลักษณ์ที่รวมไว้ซึ่งความรู้ วิถีอำนาจ และสิ่งยึดเหนี่ยวหลายอย่างของสังคม  ซึ่งครูชีวันไม่ได้ตอบเราตรงๆ ในเรื่องนี้ เขาบอกเพียงว่า “แม้เราไม่สามารถจะลบหรือถอนรากตัวเองได้ แต่อย่าลืมว่าเรางอกเงยจากมันได้เสมอ”

หนังสือเด็ก : ความเรียบง่ายที่ไม่ได้มาง่ายๆ

เคยมีคนบอกว่าการทำหนังสือเด็กไม่เห็นจะยากตรงไหน เรื่องนี้ครูชีวันได้ยินมาบ่อยครั้งตลอดชีวิตของคนทำหนังสือ  “มันขึ้นอยู่กับว่าคุณมองเห็นอะไรในหนังสือเล่มหนึ่ง ถ้าคุณเห็นกระดาษ เห็นรูปภาพ เห็นตัวหนังสือ เห็นสิ่งที่มันดูเรียบๆ ง่ายๆ คุณก็จะมองว่านี่คือการ์ตูน ใครอยากเล่าอะไรก็เล่า อยากวาดอะไรก็วาด ผู้ใหญ่ที่อ่านออกเขียนได้มักจะรู้สึกแบบนั้น”

แต่ครูชีวันบอกว่าแท้จริงแล้ว หนังสือเด็กคุณภาพสูงมีกระบวนการคิดเบื้องหลังที่ซับซ้อนกว่านั้นมาก  หลักสำคัญคือผู้เขียนต้องไม่โฟกัสที่ตัวเอง แต่ต้องโฟกัสที่ผู้รับสารซึ่งคือเด็กๆ ก่อน  “มุมมองนี้ทำให้การบอกเล่าความคิดของผู้เขียนต้องอาศัยความแยบยล มีการตั้งวัตถุประสงค์ มีการสร้างรูปแบบภาษา มีวิธีการวาดภาพที่ถูกหลักจิตวิทยา ฯลฯ ทั้งหมดนี้คือองค์ประกอบในการสื่อสารที่ต้องได้รับการออกแบบ ที่สำคัญนิทานที่ดีไม่ควรบังคับให้เด็กเชื่อตาม แต่ควรเปิดช่องให้เขาได้คิด ได้ตั้งคำถาม ได้หัดวิเคราะห์สถานการณ์ และหาคำตอบระหว่างทางไปเรื่อยๆ  จนนำไปสู่บทสรุปตอนท้ายที่มอบแนวคิดบางอย่างให้กับเด็กๆ

“รูปแบบมันง่ายก็จริง แต่การออกแบบการสื่อสารนั้นไม่เคยง่าย
ถ้าคุณมองเห็นถึงวิธีคิดที่ซ่อนอยู่ คุณก็จะเข้าใจความยากของการทำหนังสือนิทานที่ดี”

“ความคิดอ่านของเด็กๆ จะเติบโตขึ้นจากการหัดใช้ตรรกะและการเรียนรู้อารมณ์ร่วมที่เกิดขึ้น หนังสือเป็นเพียงแค่รูปธรรมภายนอก แต่การออกแบบการสื่อสารต่างหากที่เป็นหัวใจ …นิทานเด็กนั้นเปรียบเหมือนอาหารที่เปลือกนอกก็ต้องอร่อย และเนื้อในก็ดีมีประโยชน์”

นี่คือบุคลิกการเล่านิทานในแบบ ‘ครูชีวัน’ ที่วันนี้บทสนทนายาวยืดกับเขาสอนให้เรารู้ว่า…นิทานทุกเรื่องนั้นไม่เคยจบบริบูรณ์ และไม่ว่าความรู้หรือจินตนาการ มันก็ต้องการพื้นที่ให้เติบโตไปสู่สิ่งใหม่ๆ เสมอ

Photo: ศวิตา แสงน้ำเพชร

Visa Sortrakul

บรรณาธิการ tcdcconnect.com และนักเขียนอิสระ สร้างแรงบันดาลใจจากวัฒนธรรมเมือง งานสร้างสรรค์ท้องถิ่น และการเดินทางกลับสู่ธรรมชาติ ปัจจุบันหลงใหลการประยุกต์อารยธรรมโบราณและองค์ความรู้ชาวบ้านสู่งานสร้างสรรค์ใหม่ๆ

See all articles