ณ ประเทศมาลาวี ดินแดนในแถบตะวันออกของทวีปแอฟริกา ประเทศที่ยังเต็มไปด้วยผู้คนยากจน และขาดโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากรอยู่เป็นจำนวนมาก เพื่อเป็นการช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนเหล่านี้ Architecture for a Change ซึ่งเป็นองค์กรที่ไม่แสวงผลกำไร จึงได้มีโครงการสร้างโบสถ์หลังใหม่ ให้กับชุมชน Chimphamba ซึ่งเอกลักษณ์ของโบสถ์หลังนี้ มิใช่อยู่ที่รูปลักษณ์ที่สวยงามโอ่อ่าเหมือนโบสถ์ทั่วไป หากแต่อยู่ที่ความเรียบง่าย ซึ่งสะท้อนถึงการก่อสร้างภายใต้ทรัพยากรและงบประมาณที่จำกัด
ตัวอาคารมีผังเป็นวงกลม ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากสิ่งก่อสร้างพื้นเมืองที่พบได้ทั่วไปในทวีปแอฟริกา ไม่ว่าจะเป็นตัวอาคาร คอกปศุสัตว์ หรือการวางผังชุมชน ต่างก็มีการวางผังเป็นวงกลมเช่นกัน สถาปนิกผู้ออกแบบจึงให้เหตุผลในการออกแบบผังโบสถ์หลังนี้ให้เป็นรูปวงกลมว่า เนื่องจากเป็นรูปทรงที่แสดงถึงความปลอดภัย และรวมกลุ่มกัน แสดงถึงความเป็นกลุ่มก้อนและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของชุมชน วัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างส่วนใหญ่จะเป็นอิฐจากดินผสมกับปูน ผสมกับวัสดุสมัยใหม่ อย่างเช่น เหล็ก ในส่วนของหลังคา เป็นต้น โดยในการก่อสร้างนั้นจะเปิดโอกาสให้เด็กๆ และผู้นำชุมชน เข้ามามีส่วนร่วมในแทบทุกกระบวนการ
และด้วยความที่ก่อสร้างด้วยงบประมาณจำกัด จึงจำเป็นต้องใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด สถาปนิกจึงออกแบบให้โบสถ์หลังนี้ มีการปรับอากาศด้วยวิธีธรรมชาติ โดยไม่ใช้ไฟฟ้าจากเครื่องปรับอากาศเลย ด้วยการออกแบบให้มีปล่องสำหรับระบายอากาศบริเวณด้านบนของหลังคา เพื่อให้อากาศร้อนลอยขึ้น และอากาศเย็นภายนอกจะเข้ามาแทนที่จากรูพรุนที่มีอยู่ทั่วไปตามผนัง นอกจากนี้ยังมีการออกแบบให้แสงธรรมชาติสามารถเข้ามาภายใน เพื่อลดการใช้ไฟฟ้าแสงสว่าง นับเป็นตัวอย่างที่ดีของการใช้ไอเดียในการแก้ปัญหาเพื่อเอาชนะอุปสรรคต่างๆ และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น