โปรเจ็กต์ Cure (Eco) City สานสัมพันธ์ชุมชนในแคนนาดาด้วยปิงปองสาธารณะเคลื่อนที่

โดยทั่วไปแล้วหลายเมืองในโลกมีกิจกรรมชุมชนเพื่อความสัมพันธ์อันดีให้กันหลายรูปแบบ แต่อาจมีบางเมืองที่หาทางจัดกิจกรรมได้ยากเพราะสภาพอากาศไม่เหมาะสำหรับการออกมาใช้ชีวิตนอกบ้าน เช่น ฝนตกเกือบทั้งปี ซึ่งก็จะทำให้เมืองเงียบและผู้คนห่างเหินกัน เช่นที่แวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดาจะมีวันท้องฟ้าใสแดดดีแค่ไม่ถึง 100 วัน นักกิจกรรมทางสังคมกลุ่มหนึ่งได้ปั้นโปรเจ็กต์ที่ดึงผู้คนให้มาร่วมกันสานสัมพันธ์อันดีต่อกันผ่านศิลปะของการเล่นกีฬา ปิงปองภายใต้ชื่อโปรเจ็กต์ Cure (Eco) City

Frida and Franks เป็นชื่อของกลุ่มนักกิจกรรมสาว 3 คน ประกอบไปด้วย Renée Miles, Haley Roeser  และ Elenor Arkin ร่วมกันคิดปรับเปลี่ยนพื้นที่สาธารณะในเมืองให้กลายเป็นพื้นที่สำหรับการเล่นปิงปอง โดยการออกแบบอุปกรณ์โต๊ะปิงปองที่ถอดประกอบได้ติดพ่วงกับจักรยานแล้วนำไปวางยังที่ต่างๆ ปิงปองเป็นกีฬาที่เรียบง่ายใครๆ ก็สามารถเข้าร่วมกิจกรรมได้ และที่สำคัญมีนัยถึงการสื่อสารส่งอารมณ์ถึงกันระหว่างผู้เล่นได้อีกด้วย ซึ่งเมื่อบางคนที่ไม่รู้จักกันมาร่วมเล่นด้วยกันบทสนทนาอันหลากหลายก็เริ่มขึ้น ไม่ว่าเป็นการแนะนำตัวไปจนถึงมุมมองอนาคตของเมือง จากการใช้พื้นที่สาธารณะเพียงแห่งหรือสองแห่งขยายไปเป็น 25 แห่งทั่วเมือง ซึ่งยังพัฒนาแนวคิดหลักของแต่ละพื้นที่ออกไปอีกเช่น ปิงปองกับดิสโก้, ปิงปองกับป๊อปคอร์น เป็นต้น

และสภาพอากาศของเมืองแวนคูเวอร์ที่มีฝนเกือบตลอดปีนี่เอง โปรเจ็กต์ Cure (Eco) City นี้จึงพยายามเฟ้นหากิจกรรมอื่นอื่น ๆ ต่อเนื่องเพื่อดึดงดูดผู้คนให้มาช่วยทำให้เมืองมีชีวิตชีวาอย่างเหมาะสมในทุกฤดูกาล นี่คือแนวคิดการจัดการพื้นที่สาธารณะด้วยความสร้างสรรค์ที่นับเป็นตัวอย่างที่ดีและน่าศึกษา จริงอยู่ว่าสิ่งแวดล้อมย่อมมีผลกระทบกับชีวิตเรา แต่ก็หาใช่เราจะไม่ยอมคิดปรับเปลี่ยนอะไรซะเลย

อ้างอิง :popupcity.net ; wayblaze.com ; fridaandfrank.com

วรัญญู อุดมกาญจนานนท์

Art may not be the only way to brighten the world, but it is essential to create a beautiful life. รักงานสร้างสรรค์อิสระ...งานเขียนเป็นหนึ่งในนั้น เพราะตัวหนังสือคือความคิดที่เชื่อมโลกกับเราไว้ด้วยกัน

See all articles