ศัลย(สถาปัตย)กรรมพื้นที่รกร้างสู่พื้นที่เรียนรู้ สร้างความรู้สึกปลอดภัยในภาวะขัดแย้ง

จะสร้างสรรค์สถาปัตยกรรมอย่างไร ในเมื่อโจทย์สำคัญคืองบประมาณที่จำกัด แล้วยังมีเงื่อนไขที่ต้องการให้งานออกแบบสามารถช่วยลดความกังวล เพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ใช้งานสถาปัตยกรรมนั้นๆ โจทย์แนวนี้ท้าทายสถาปนิก นักออกแบบเสมอมา ด้วยมันเริ่มต้นด้วยความยาก เพราะสถาปัตยกรรมเป็นสิ่งก่อสร้างจากเม็ดเงิน หากทุนน้อย ข้อจำกัดมาก ทำให้สร้างสรรค์ได้ลำบาก

แต่กับบางโจทย์ คำตอบของสถาปัตยกรรมไม่จำเป็นต้องใช้งบประมาณเยอะ แต่มองหาข้อจำกัดเพื่อการสร้างสรรค์ อย่างเช่นโรงเรียนฮายาร์เดน (Hayarden School) ตั้งอยู่ในย่านฮาทิควาของเมืองเทลอาวีฟ ประเทศอิสราเอล ย่านนี้มากมายไปด้วยผู้ลี้ภัยชาวแอฟริกันจากประเทศซูดานและเอริเทรีย โรงเรียนนี้รองรับเยาวชนจำนวน 360 คนในช่วงอายุ 6 – 15 ปี ให้เข้ามาเรียนในชั้นอนุบาลถึงประถมศึกษาปีที่ 6 จำนวนนักเรียนและงบประมาณดูจะสวนทางกับงานนี้

โครงการนี้ได้รับการสนับสนุนจากองค์กรณ์ไม่หวังผลกำไร Zionut 2000 โดยมอบหมายให้สถาปนิกอิสราเอล Sarit Shani Hay, architect Chen Steinberg Navon และ Ayelet Fisher ออกแบบพื้นที่การเรียนรู้กับเด็กที่เป็นผู้ลี้ภัย ในอาคารคอนกรีตจากยุคโมเดิร์น สร้างในปี 1960 ให้พ้นจากความรกร้างการใช้งาน พื้นที่ภายในถูกปรุงด้วยวิธีการคล้ายศัลยแพทย์ แต่เป็นการศัลยสถาปัตยกรรมจากการเสริมเข้าไปไม่มาก ด้วยการใช้สีสันที่สดใส กระตุ้นการรับรู้ของเด็กในวัยเรียนรู้ได้ดี ทั้งสีเขียว เหลือง ม่วง ชมพู ที่ดูจะไม่เข้ากัน แต่หากมองเป็นจังหวะที่สีเหล่านี้จะอยู่ร่วมกันในสเปซหนึ่ง ต้องมีความเข้าใจในการใช้ให้มีจุดเด่นจุดเน้น มีฝ่ายที่พื้นที่สีมากกว่า ให้พื้นที่ฝ่ายน้อยช่วยส่งเสริมกันจนลงตัว ดูไม่แข่งความสนใจกันจนเกินไปแบบภายในโรงเรียนนี้

นอกจากการใช้สีแล้ว แนวโน้มการใช้สเปซของเด็กที่มีขนาดร่างกายเล็กกว่าผู้ใหญ่ จึงนิยมสอดแทรกตัวลงไปกรอบที่พอดีกับร่างกายของพวกเขาในแต่ละวัยเพื่อความปลอดภัย สถาปนิกจึงได้ออกแบบบ้านจำลองหลังย่อมด้วยไม้อัดที่มีราคาถูก หาได้ง่าย ให้พวกมันกลายเป็นบ้านหลังเล็กในพื้นที่ใหญ่ จนเมื่อเหล่าเข้าไปใช้ภายในแล้วมีมุมที่พวกเขารู้สึกปลอดภัยขึ้นได้

พื้นที่สร้างความรู้สึกปลอดภัยในภาวะขัดแย้ง แผลที่เกิดในใจของผู้ลี้ภัยวัยเยาวชนอาจจะไม่สามารถถูกปัดเป่าไปได้หมดจากใจ แต่ในสถาปัตยกรรมที่พอดีกับพวกเขานั้น มันช่วยเพิ่มความอุ่นในในมุมอันโหดร้ายในโลกของผู้ใหญ่

อ้างอิง: www.chen-navon.com, shanihay.com, www.dezeen.com

สาโรช พระวงค์

สถาปนิกผู้ริเป็นนักเขียน และอาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี สนใจในสถาปัตยกรรมที่สร้างคุณภาพที่ชีวิตที่ดีขึ้น เลยมาเขียนเล่าให้ผู้อ่านเป็นเนืองๆ

See all articles