Litogami ของเล่นกระดาษพลังงานแสงอาทิตย์ ไม่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม

ต้องยอมรับว่า ณ เพลานี้ ทั่วโลกเริ่มหันมาสนใจการใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์กันมากขึ้น (รวมถึงพลังงานทางเลือกอื่นๆ อย่างเช่น พลังงานน้ำ พลังงานลม หรือแม้กระทั่งพลังงานจากขยะ) พอพูดถึงการนำพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้ เราก็มักจะนึกถึงเซลล์แสงอาทิตย์แผงใหญ่ๆ ที่ผลิตกำลังไฟได้เยอะๆ แต่ที่จริงยังมีการใช้เซลล์แสงอาทิตย์กับอุปกรณ์ขนาดเล็กๆ อยู่ด้วย เช่น เครื่องคิดเลข ไฟสนาม หรือของเล่น ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่เรากำลังจะพูดถึงนี้เป็นของเล่นจากแบรนด์ Litogami ของฝรั่งเศสซึ่งนำพลังงานแสงอาทิตย์มา ‘ใช้’ และ ‘เล่น’ ได้อย่างน่าสนุก

ผลิตภัณฑ์ของ Litogami คือชุดของเล่นบ้านตุ๊กตาและรถที่ทำจากกระดาษแข็งซึ่งได้รับการรับรองจาก PEFC/FSC (คือมาจากแหล่งผลิตที่มีความรับผิดชอบตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ ผลิตกระดาษโดยสนับสนุนการปลูกป่าทดแทน และอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้) เป็นกระดาษที่สามารถนำมารีไซเคิลได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ความสนุกอยู่ที่ชุดของเล่นนี้มาแบบแยกชิ้นส่วนเพื่อให้ผู้เล่นประกอบเอาเอง แบบไม่ต้องใช้กาวในการประกอบด้วย รูปแบบบ้านก็มีให้เลือกตั้งแต่บ้านธรรมดาทั่วไป บ้านสไตล์ฝรั่งเศส และคอลเล็คชั่นบ้านจากรอบโลก ซึ่งสามารถใช้จินตนาการตกแต่งระบายสีสันได้ตามชอบ นอกจากดีไซน์ที่สวยงามและความสนุก ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ก็จะได้เรียนรู้การทำงานของเซลล์แสงอาทิตย์ด้วยชุดอุปกรณ์โซลาร์เซลล์พร้อมคู่มืออธิบาย เมื่อนำไปชาร์จแบตกับแสงอาทิตย์นาน 5 ชั่วโมงจะสามารถผลิตแสงไฟได้สว่างนาน 5 ชั่วโมง และไฟจะดับเองโดยอัตโนมัติทันทีที่โดนแสงจากดวงอาทิตย์อีกครั้ง

ผู้ผลิตยังคิดรอบด้านไปถึงการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้มีน้ำหนักเบาและมีลักษณะแบนที่สุดเพื่อลดสิ่งที่เรียกว่า Carbon Footprint อันเกิดจากกระบวนการขนส่ง (Carbon Footprint คือการวัดผลกระทบอันเกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ที่มีต่อระบบสิ่งแวดล้อมในแง่ของปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่สร้างขึ้นมาจากกิจกรรมนั้นๆ โดยวัดจากคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยออกมา) และที่ล้ำไปกว่านั้น ยังจ้างพนักงานผู้มีความต้องการพิเศษ (Special Needs) มาทำงานในส่วนของการบรรจุหีบห่อและขนส่งอีกด้วย นับเป็นของเล่นที่น่าทึ่งทั้งเรื่องของดีไซน์และการใส่ใจสังคมแบบครบทุกส่วนจริงๆ!

ที่มา: Litogami

วนัทยา มงคล

อดีตกองบก.นิตยสาร GM Plus และ DDT ปัจจุบันเป็นนักเขียนและนักแปลอิสระ ชื่นชมงานศิลปะ ดนตรี และความคิดสร้างสรรค์ทุกชนิดที่มีประโยชน์ต่อโลก

See all articles