ใครจะไปคิดว่ารูปทรงของเส้นพาสต้าจะเชื่อมโยงไปถึงภาวะโลกร้อนได้…
ใครไม่คิด แต่ทีมวิจัย Morphing Matter Lab แห่งมหาวิทยาลัย Carnegie Mellon เขาคิด และกำลังค้นคว้าพัฒนาเส้นพาสต้าให้มีรูปทรงตรงๆ แบนๆ ด้วยเทคโนโลยีการสร้างร่องเล็กๆ ในแป้งพาสต้า ซึ่งร่องเล็กๆ เหล่านี้ใช้ควบคุมรูปร่างที่แปรผันไปเมื่อพาสต้าขยายตัว โดยเมื่อนำไปต้มจนสุกก็จะแปลงร่างเป็นเส้นเพสต้ารูปแบบเดิมที่เราคุ้นเคย (ไม่ว่าจะเป็นแบบหลอด แบบเกลียว แบบคลื่น หรือแบบวง ฯลฯ) ในขณะเดียวกันรสชาติก็ยังเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง
การทำให้เส้นพาสต้ามีรูปทรงตรงๆ แบนๆ เช่นนี้มีผลไม่มากก็น้อยต่อการลดขนาดบรรจุภัณฑ์ ถ้าลองสังเกตดีๆ จะพบว่าในถุงพาสต้ารูปทรงต่างๆ มักจะมีช่องว่างในระหว่างเส้นพาสต้าแต่ละเส้น (ในขณะที่พาสต้าเส้นตรงและแบนสามารถอยู่ชิดกันจนไม่เกิดช่องว่าง ทำให้บรรจุภัณฑ์มีขนาดเล็กกว่า ในปริมาณแป้งที่เท่ากัน) นอกจากนี้เส้นพาสต้าแบนยังช่วยประหยัดพื้นที่ในการจัดเก็บและการขนส่ง (ใช้พื้นที่เท่าเดิมแต่บรรจุสินค้าได้มากกว่าเดิม) ทีมนักวิจัยเผยว่าพวกเขาปิ๊งไอเดียทำเส้นพาสต้าให้แบนมาจากรูปแบบการถอดประกอบเฟอร์นิเจอร์เพื่อทำให้กล่องบรรจุภัณฑ์มีขนาดแบน ทำให้ประหยัดพื้นที่ในการจัดเก็บและขนส่ง
เป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ของทีมวิจัย Morphing Matter Lab คือการช่วยลดปริมาณรอยเท้าคาร์บอนที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และเป็นสาเหตุสำคัญของภาวะโลกร้อน รอยเท้าคาร์บอน (Carbon footprint) คือปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่มนุษย์สร้างขึ้นจากกิจกรรมต่างๆ โดยวัดจากปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยออกมา เชื่อหรือไม่ว่าหนึ่งในสามของการเกิดรอยเท้าคาร์บอนทั่วโลกมาจากกิจกรรมการกินอาหารของมนุษย์นั่นเอง ตั้งแต่วิธีการผลิต การแปรรูป การบรรจุ และการขนส่ง
พาสต้าเส้นแบนของทีม Morphing Matter Lab นอกจากจะช่วยประหยัดพื้นที่การขนส่งแล้ว มันยังเป็นเส้นพาสต้าที่สามารถทำให้สุกเร็วกว่าเส้นพาสต้าแบบเดิม ช่วยลดเวลาและพลังงานที่ใช้ในการปรุงอาหาร และช่วยลดรอยเท้าคาร์บอนในขณะปรุงอาหารได้อีกหนึ่งต่อ ถ้าเราดูตัวเลขแค่ในประเทศอิตาลีจะพบว่า ประมาณ 1% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกนั้นมาจากการปรุงอาหารประเภทพาสต้า
อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ ทุกวันนี้พลาสติกที่ใช้ผลิตบรรจุภัณฑ์อาหารมีปริมาณมากมายมหาศาลทั่วโลก และมันก็กลายร่างเป็นขยะจำนวนมากมายมหาศาลเช่นกัน ที่น่าเป็นห่วงคือ การพบขยะพลาสติกเหล่านี้ไปลงเอยอยู่ในท้องทะเลและมหาสมุทร การลดพื้นที่บรรจุภัณฑ์ได้แม้เพียงน้อยนิดต่อหนึ่งชิ้น แต่เมื่อรวมกันหลายๆ ชิ้นเข้า ก็อาจช่วยลดปริมาณขยะพลาสติกได้มากมายอย่างคาดไม่ถึง
เป็นอีกหนึ่งแนวคิดทีน่าสนใจและสร้างแรงบันดาลใจให้การออกแบบทั้งตัวผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ที่ส่งผลดีกับโลกอย่างยั่งยืน
ที่มา: Morphing Matter Lab