‘What the Health: สุขภาพ อาหาร เงินตรา’ รู้ให้เท่าทันเรื่องการบริโภคและโรคภัย

“จงใช้อาหารเป็นยารักษาโรคและให้ยาเป็นอาหารของท่าน” เป็นคำกล่าวของ ฮิปโปเครติส แพทย์ชาวกรีกโบราณผู้ได้รับการยกย่องให้เป็นบิดาแห่งการแพทย์ของโลกตะวันตก และเป็นประโยคเปิดของสารคดีเรื่อง What the Health หรือในชื่อภาษาไทยว่า “สุขภาพ อาหาร เงินตรา” หนังที่บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับสุขภาพและโรคภัย ให้ข้อมูลด้านโภชนาการที่กระตุ้นความตื่นรู้ของผู้คนแบบคาดไม่ถึง ขณะที่มองไปรอบข้างเคยสงสัยไหมล่ะว่าทำไมเราจึงพบกับคนเป็นเบาหวาน, โรคหัวใจ, และมะเร็งบ่อยขึ้น และนั่นเป็นความเจ็บป่วยอันดับต้นๆ ที่คร่าชีวิตผู้คนบนโลก จะมีสาเหตุอะไรบ้างไหมที่เชื่อมโยงเหตุเหล่านี้ไว้โดยที่เราไม่รู้

Kip Anderson นักทำหนังจากซานฟรานซิสโก เขาออกตัวว่าเพิ่งฟื้นจากอาการวิตกจริตด้านสุขภาพอนามัย เนื่องจากพ่อของเขาจากไปด้วยโรคหัวใจในวัยเพียง 50 ปี คุณตาคุณยายของเขาล้วนจากไปด้วยมะเร็ง นั่นเป็นเหตุให้ต้องสนใจดูแลตัวเองอย่างใกล้ชิด ทั้งหาข้อมูลจากในเว็บไซต์เกี่ยวกับสุขภาพ สรรหาอาหารเสริม รวมทั้งการออกกำลังกาย ทว่าดูจะไม่ตรงจุดนัก เมื่อวันหนึ่งเขาเปิดทีวีไปพบรายงานข่าวจากองค์การอนามัยโลกที่ว่า การบริโภคอาหารแปรรูปเป็นสาเหตุหนึ่งของการเป็นมะเร็ง มีความเสี่ยงเทียบเท่ากับการสูบบุหรี่ ข่าวนั้นชวนให้ตกใจอย่างมาก ก็ตั้งแต่เด็กจนโตไม่รู้ว่ารับประทานอาหารสัตว์แปรรูปไปมากมายแค่ไหนแล้ว ทั้งฮอตดอก, ไส้กรอก, เบคอน, ซาลามี, ชีส หรือเนื้อสไลด์ ฯลฯ นี่จึงเป็นแรงผลักให้เขาสำรวจเรื่องนี้อย่างจริงจัง โดยการเดินทางไปหาข้อมูลจากแหล่งต่างๆ ทั้งแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน รวมทั้งองค์กรทางสังคมที่เกี่ยวข้องด้วย เช่น สมาคมโรคมะเร็งแห่งสหรัฐอเมริกา รวมทั้งสมาคมโรคเบาหวานและโรคหัวใจ เพื่อทำความเข้าใจกับปัญหานี้ให้มากที่สุด

สิ่งที่ทำให้ประหลาดใจก็คือในหน้าเพจของแต่ละสมาคมเพื่อสุขภาพนั้นไม่มีข้อความเตือนเรื่องการรับประทานอาหารสัตว์แปรรูปเลย แถมบางเพจยังแนะนำเมนูอาหารเพื่อสุขภาพสำหรับผู้ป่วยด้วยการใช้อาหารสัตว์แปรรูปซะอีก เขาพยายามติดต่อเจ้าหน้าที่รับผิดชอบขององค์กรเหล่านั้นก็มักไม่ได้รับความร่วมมือ บอกปัดการสัมภาษณ์ หรือไม่ก็ให้ข้อมูลที่ไม่เกี่ยวข้องกับข้อสงสัยของเขานัก ยิ่งสืบหาก็ยิ่งทำให้เห็นภาพจริงของความสัมพันธ์ขององค์กรกับหน่วยอื่นทางสังคมทั้งภาครัฐและเอกชน แน่นอนว่านี่คือระบบการตลาด อุตสาหกรรมอาหารสัตว์ ระบบสาธารณสุข และอำนาจรัฐ ที่พูดได้ว่าผู้บริโภคคือเหยื่อของระบบที่เกือบจะไม่มีโอกาสเลือกมากมายนัก อาจมีคำถามว่าแล้วทำไมคนที่กินอาหารแปรรูปมากมายถึงยังมีสุขภาพดีอยู่ได้ คำตอบของแพทย์ผู้ให้สัมภาษณ์คนหนึ่งก็คือ เสมือนเรากำลังเล่นรัสเชี่ยนรูเล็ต ไม่มีใครรู้ว่ากระสุนนั้นจะยิงถูกใครเมื่อไหร่ ในท้ายของสารคดีแนะทางออกไว้สำหรับการบริโภคที่เชื่อว่าน่าจะเสี่ยงน้อยกว่าและให้ประโยชน์ต่อสุขภาพ นั่นคือการเลือกเป็นวีแกน ทานสัตว์ให้น้อยลงแล้วทานผักให้มากขึ้น พร้อมแสดงตัวอย่างของผู้รับประทานมังสวิรัติให้ดูด้วยว่ามีผลอย่างไรต่อสุขภาพบ้าง

อุตสาหกรรมอาหารสัตว์นี้สร้างปัญหาด้านสุขภาพ เป็นตัวการสำคัญหนึ่งที่ทำลายสิ่งแวดล้อมโลก ทว่าสื่อและการให้ข้อมูลจากภาครัฐกลับปิดหูปิดตาผู้บริโภค บางคนทั้งที่รู้ก็ไม่มีใครอยากเห็นภาพด้านลบเหล่านี้ ยิ่งไปกว่านั้นในกรณีที่กลุ่มทุนผลักดันให้เป็นกฎหมายเพื่อคุ้มครองธุรกิจของตัวเองได้ในรัฐสภา ทางเลือกของผู้บริโภคคงเหลือเพียงต้องป้องกันตัวเองด้วยการหาข้อมูล เรียนรู้เพิ่ม พยายามเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภคเอาเอง ไม่ตกเป็นเหยื่อของระบบ ทีมงานสร้างสารคดีเรื่องนี้เป็นทีมเดียวกันกับที่สร้าง Cawspiracy สารคดีที่แฉเรื่องราวในแวดวงอุตสาหกรรมอาหารสัตว์เช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ตามเรื่องเล่าและข้อมูลเชิงวิชาการด้านการแพทย์ สุขภาพ และโภชนาการที่ดีนี้อาจจะมีข้อโต้แย้งจากผู้ไม่เห็นด้วยเป็นธรรมดา เนื่องจากการวิจัยใหม่ๆ และความชัดเจนเกี่ยวกับโรคไม่มีข้อสรุปซึ่งคงเป็นที่ถกเถียงกันไปอีกนาน สำหรับ What the Health นี้ได้เกริ่นกับผู้ชมไว้ว่าหนังไม่มีเจตนาจะเป็นคนชี้ถูกชี้ผิด ส่วนการจะปรับเปลี่ยนวิธีการรับประทานอาหารใดๆ โดยเฉพาะผู้ป่วยที่รับชมอยู่ควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์ สำหรับเราในฐานะผู้เสพนี่ก็เป็นอีกข้อมูลทางเลือกประกอบการตัดสินใจในการเลือกวิธีบริโภค เพราะไม่มีใครรักตัวเราได้ดีไปกว่าตัวเราเอง

อ้างอิง: www.whatthehealthfilm.com, www.netflix.com, www.vegan.com

Tags

Tags: , ,

วรัญญู อุดมกาญจนานนท์

Art may not be the only way to brighten the world, but it is essential to create a beautiful life. รักงานสร้างสรรค์อิสระ...งานเขียนเป็นหนึ่งในนั้น เพราะตัวหนังสือคือความคิดที่เชื่อมโลกกับเราไว้ด้วยกัน

See all articles