Reuse ชามสลัดจากเปลือกข้าวสาลี…กินได้…แถมย่อยสลายได้ 100%

Forest & Whale เป็นสตูดิโอออกแบบจากสิงคโปร์ที่นอกจากจะมีผลงานหลากหลายแล้ว พวกเขายังมีปรัชญาการทำงานที่ชัดเจนว่า ต้องการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่มีอายุการใช้งานคงทนยาวนานหรือไม่ก็ต้องเป็นข้าวของที่สามารถรีไซเคิลได้ เพื่อที่ผลงานทั้งหมดของพวกเขาจะได้ไม่เป็นภาระแก่สิ่งแวดล้อมมากไปกว่าที่เป็นอยู่

ผลิตภัณฑ์ประเภทหนึ่งที่ Forest & Whale ให้ความสนใจในการพัฒนางานออกแบบมากเป็นพิเศษ เห็นจะเป็นบรรจุภัณฑ์อาหารและอุปกรณ์ที่ใช้ในการรับประทาน เพราะพวกเขามองว่าไลฟ์สไตล์ของคนเมืองในปัจจุบันที่หันมาใช้บริการ food delivery กันมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงโรคระบาดที่คนส่วนมากต้องอยู่บ้าน จะทำให้มีการใช้พลาสติกแบบใช้แล้วทิ้ง (single-use) มากขึ้นเป็นทวีคูณ ซึ่งนั่นก็จะนำไปสู่ปัญหาขยะที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างใหญ่หลวง

ผลงานออกแบบล่าสุดของพวกเขาคือ Reuse ชามใส่สลัดสำหรับ take away ที่สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ 100% และยังสามารถรับประทานได้อีกด้วย ชามสลัดที่ว่าทำมาจากเปลือกข้าวสาลี และพวกเขาออกแบบให้ตัวชามทรงสี่เหลี่ยมเรียบเท่มีรอยปรุที่ผู้บริโภคสามารถหักส่วนนั้นออกมาเพื่อใช้แทนช้อนส้อมเวลารับประทานได้

“รายละเอียดงานออกแบบตรงส่วนนี้มาจากการที่พวกเราสังเกตพฤติกรรมการรับประทานสลัดของหลายๆ คน” Gustavo Maggio หนึ่งในผู้ก่อตั้ง Forest & Whale กล่าว “ในหลายๆ วัฒนธรรม ผู้คนมักจะกินสลัดโดยมีขนมปังกรอบสักชิ้นเป็นเครื่องเคียง แล้วเขาก็ใช้ขนมปังแข็งๆ นั้นแทนส้อมเวลากินสลัด” นั่นเองจึงเป็นที่มาของการออกแบบให้สามารถหักเอาบางส่วนของชาม Reuse ออกมา แล้วใช้จิ้มผักกิน รวมทั้งกินชามเข้าไปด้วยได้

แต่รสชาตินั้น Maggio ยอมรับว่าไม่อร่อยหรอก เพราะเหมือนกับธัญพืชอบกรอบที่ไม่มีรสอะไรเท่าไร แต่ช่วยลดขยะได้ก็เพียงพอแล้ว

ส่วนผู้บริโภคคนไหนที่แค่อยากช่วยลดขยะ แต่ไม่อยากกินชาม Reuse เข้าไป เมื่อรับประทานเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็สามารถนำเอาชามดังกล่าวไปใส่ในถังหมักอินทรีย์ได้เลย แล้วชามก็จะย่อยสลายตามธรรมชาติไปภายใน 30 วัน

ชาม Reuse ของ Forest & Whale ยังมาพร้อมกับฝาปิดด้วย แต่ฝาที่ทำจากสารพอลิไฮดรอกซีอัลคาโนเอท (Polyhydroxyalkanoates) หรือพอลิเอสเตอร์ชีวภาพที่สังเคราะห์ขึ้นภายในจุลินทรีย์จำพวกแบคทีเรียนี้ไม่สามารถรับประทานได้ แต่สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ โดยหากนำไปใส่ในถังหมักขยะอินทรีย์อย่างที่หลายครอบครัวเริ่มใช้กันในปัจจุบันนี้ ก็จะย่อยสลายกลายเป็นปุ๋ยได้ภายใน 6 สัปดาห์

ตอนนี้ Forest & Whale กำลังพัฒนาตัวต้นแบบของ Reuse อยู่ และถ้าเป็นไปตามแผนที่วางไว้ พวกเขาก็น่าจะได้ผลิตผลงานออกมาสู่ตลาดภายในปี 2564 นี้ (ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นในสิงคโปร์ก่อนเป็นที่แรก)

ส่วนระหว่างนี้ สำหรับพวกเราคนไทยที่ต้องใช้เวลาส่วนมากอยู่บ้านเพื่อลดความเสี่ยงการติดเชื้อนั้น เราอยากเชิญชวนให้พยายามลดการใช้พลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้งให้มากที่สุด อย่างเช่น การไม่รับช้อนส้อมพลาสติก ถุงเครื่องปรุง หรือถุงพลาสติกแบบหูหิ้ว เป็นต้น หรือไม่ก็ล้างภาชนะพลาสติกที่ใช้แล้วก่อนนำส่งโรงงานที่รับขยะพลาสติกกำพร้าไปใช้เป็นเชื้อเพลง ก็เป็นอีกหนึ่งหนทางที่พอจะช่วยโลกได้ เพราะอย่าลืมว่านอกจากจะต้องรักษาตัวเองให้ปลอดโรคแล้ว โลกก็ต้องการการดูแลจากเราไปพร้อมๆ กันด้วย

แปลและเรียบเรียงจาก: forestandwhale.comdezeen.com

Tags

Tags: , ,

ธันยพร ห.

อดีตคนทำงานนิตยสาร (HOW-To, Vaczine, Esquire, Wallpaper* Thailand, art4d) ในยุคสื่อสิ่งพิมพ์รุ่งเรือง ปัจจุบันเป็นนักเขียน/นักแปล/บรรณาธิการอิสระ มีผลงานทั้งบทความศิลปะ งานออกแบบ สุขภาพกาย-ใจ สิ่งแวดล้อม และวรรณกรรม

See all articles