Sangini House ในอินเดียผสานองค์ประกอบจากอดีตผ่านการดัดแปลงและออกแบบสู่ลมหายใจร่วมสมัย

สถาปัตยกรรมสมัยใหม่ในเอเชียได้รับอิทธิพลจากโลกตะวันตกที่มีภูมิอากาศแตกต่างกันมาก ในกำเนิดของสถาปัตยกรรมสมัยใหม่เกิดจากผลพวงของการปฏิวัติอุตสาหกรรม ทำให้บ้านเรือนในเอเชียเปลี่ยนรูปแบบไปตามตะวันตก จากที่เคยเปิดรับแสงอาทิตย์ได้น้อยตามระบบโครงสร้างแบบดั้งเดิมที่เป็นผนังรับน้ำหนัก จึงหันมาเปิดรับแสงอาทิตย์มากขึ้นจากการนำกระจกมาใช้ในการออกแบบสถาปัตยกรรม ทำให้สถาปัตยกรรมสมัยใหม่ในเอเชียเปิดรับแสงอาทิตย์เข้ามาเต็มที่จนสูญเสียความสลัวแบบดั้งเดิม ทั้งที่หลายส่วนการใช้สอยไม่ได้ต้องการแสงมาก เพราะพื้นที่หลายส่วนของเอเชียมีแสงอาทิตย์ที่จัดจ้าเกินความต้องการ สถาปัตยกรรมจึงออกแบบให้มีแสงที่พอต่อการใช้สอยและปริมาณของแสงอาทิตย์ ปัญหานี้ยังรวมไปถึงอินเดียด้วยเช่นกัน

มีอีกวิธีแก้ปัญหานี้จาก รัฐคุชราต อินเดีย โดยสถาปนิกจาก Urbanscape Architects และ Utopia Designs นำเสนอเรื่องราวจากสถาปัตยกรรมประเพณีอินเดียมาต่อยอดในการออกแบบอาคารสำนักงาน 8 ชั้น ของกลุ่มบริษัท Sangini ที่ตั้งอยู่ในเมืองสุหรัด ในย่านที่กำลังจะมีการเจริญเติบโตมากขึ้นเรื่อยๆ การออกแบบให้เป็นอาคารสูงจึงเป็นทางเลือกที่ช่วยในการจัดการพื้นที่ให้เหมาะสมกับการใช้สอย ลักษณะการใช้สอยโดยรวมเป็นสำนักงานที่เต็มไปด้วยพื้นที่ทำงาน ห้องประชุม พื้นที่ส่วนที่ต้องการแสงธรรมชาติเข้ามาได้ออกแบบให้เป็นผนังกระจกเพื่อรับแสงมาใช้ภายในเต็มที่ แต่เป็นพื้นที่เปลือกภายนอกที่ไม่มากนัก เปลือกภายนอกส่วนใหญ่เป็นด้านที่โดนความร้อนจากแสงแดดตลอดวัน การลดความร้อนจึงเป็นสิ่งที่ถูกคำนึงถึงในภูมิอากาศแบบอินเดียที่มีอากาศร้อนมากในฤดูร้อน องค์ประกอบจากอดีตที่สถาปนิกเลือกมาปรับใช้ใหม่คือ ‘จาลี’

จาลี (Jali) คือช่องแสงที่แกะสลักเป็นตาข่ายด้วยไม้หรือหิน จะพบทั่วไปในสถาปัตยกรรมอิสลามและสถาปัตยกรรมเนื่องในวัฒนธรรมใกล้ชิดกับเอเชียกลางจนถึงเอเชียใต้ ลวดลายของจาลีที่เราคุ้นตาจะเป็นลวดลายเรขาคณิต ถักทอ ซ้อนทับ จนเกิดเป็นลวดลายดาว พระจันทร์ พืชพรรณต่างๆ ประโยชน์ของจาลีมีทั้งช่วยสร้างความเป็นส่วนตัวให้กับพื้นที่ภายในที่ลดการมองเห็นจากภายนอก เมื่อมองมายังพื้นที่ภายในจะเห็นไม่ชัดเจนด้วยความสลัว อีกทั้งยังสร้างความปลอดภัยและลดความร้อนจากแสงแดดได้ ด้วยเพราะเป็นตัวรับความร้อนจากภายนอกก่อนเข้ามายังภายใน พร้อมไปกับการกรองแสงแดดให้สภาพแวดล้อมภายในมีระดับแสงที่เหมาะสม ไม่จัดจ้าจนเกินไป

ประเด็นของจาลีนี้ สถาปนิกได้ปรับใช้ให้ผนังภายนอกด้วยหินทรายแดง แบบที่ใช้ในสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นของอินเดีย Agra Fort ที่มีเอกลักษณ์เป็นป้อมขนาดใหญ่ราวงอกจากผืนดินอินเดีย รายละเอียดที่พิเศษของผนังหินนี้คือการเจาะเป็นลวดลายวงกลมแบบสุ่มตามการใช้สอยภายในที่ต้องการแสงไม่เท่ากัน ผนังนี้ยึดด้วยโครงสร้างเหล็กในลักษณะแขวนกับโครงสร้างสมัยใหม่อย่างคอนกรีต สภาพภายในจึงมีแสงที่สลัวเหมาะกับการใช้งาน ไม่จัดจ้าจนเกินไป ภาพรวมจึงได้อาคารสมัยใหม่ที่กรุด้วยหินทรายแดง แลดูทันสมัยไปพร้อมกับมีกลิ่นอายอินเดียเก่า

นอกจากประเด็นนี้ ยังได้ทำการออกแบบให้มีการกักเก็บน้ำฝนเพื่อมาใช้ในอาคาร ลดความร้อน พร้อมกับสร้างบรรยากาศที่ชุ่มชื่นจากการใช้ไม้เลื้อยกับภายนอกอาคารอีก การเดินทางขององค์ประกอบจากอดีต ถ้ารู้จักดัดแปลงด้วยการออกแบบ ล้วนช่วยให้มันมีลมหายใจร่วมสมัยได้เสมอ

 

 

อ้างอิง

Urbanscape Architects

https://inhabitat.com/modern-energy-efficient-office-harvests-rainwater-in-surat/?fbclid=IwAR3lwBTeySpDkds9bMf2OEWYN5d04KgsUbeAHzV9wVrsdqaNwzO-6soGfMY

https://www.archdaily.com/946562/sangini-house-urbanscape-architects-plus-utopia-designs?ad_medium=office_landing&ad_name=article

Tags

Tags: , ,

สาโรช พระวงค์

สถาปนิกผู้ริเป็นนักเขียน และอาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี สนใจในสถาปัตยกรรมที่สร้างคุณภาพที่ชีวิตที่ดีขึ้น เลยมาเขียนเล่าให้ผู้อ่านเป็นเนืองๆ

See all articles