Tainan Spring จากช้อปปิ้งมอลล์เก่าสู่สวนน้ำสาธารณะในใต้หวัน

ดูจะเป็นเรื่องปรกติสามัญที่สิ่งเก่าซึ่งไม่ยอมปรับตัวจะถูกดิสรัปท์จนกลายเป็นเศษซากของกาลเวลา สถาปัตยกรรมเก่าเองก็เช่นกัน เมื่อผ่านเวลาไปถึงช่วงหนึ่งก็ไม่สามารถรับใช้สังคมในบริบทใหม่ได้ จึงเกิดการปรับปรุงร่างใหม่ให้รองรับกิจกรมใหม่ หรือถ้าไม่อาจฝืนสังขารก็ถึงเวลาที่ต้องถูกทุบทำลายไป หลายงานถูกทำลายแบบรื้อทิ้งไม่เหลือเรื่องราวเดิมไว้เลย ในขณะที่บางงานยังสามารถอยู่ในบริบทใหม่ได้ พร้อมที่รับใช้เรื่องราวใหม่ได้

บนเกาะไต้หวัน เมืองไถหนาน เป็นเมืองที่เคยทรุดโทรม ในด้านตะวันตกของเมืองจากที่เคยมีประวัติศาสตร์เป็นย่านอุตสาหกรรมทางทะเลและการประมงของเมืองตั้งแต่ศตวรรษที่ 17 จวบจนช่วง ค.ศ. 1980  ได้มีการเปลี่ยนแปลงการใช้งานของเมือง เกิดห้างสรรพสินค้าไชนาทาวน์ในปี 1983 แต่เมื่อเวลาเปลี่ยนแปลง ตัวห้างขนาดใหญ่ก็ไม่สามารถใช้งานไปได้ดีกับเมือง โดยเฉพาะในปัจจุบันที่พฤติกรรมการจับจ่ายสินค้าได้เปลี่ยนไปเป็นรูปแบบออนไลน์มากขึ้น สถาปัตยกรรมเดิมได้ถูกดิสรัปท์จนต้องเปลี่ยนแปลงตัวมันเอง คำถามต่อมาคือจะปรับตัวกันอย่างไรดี

คำตอบนี้ สถาปนิก MVRDV เสนอถึงการแก้ปัญหาด้วยการรื้อห้างสรรพสินค้าไชนาทาวน์ คงเหลือไว้เป็นส่วนน้อย จากนั้นเติมสวนสาธารณะให้ยาวขนานไปตามถนนไห่อันที่มีความยาวกว่า 1 กิโลเมตร พื้นที่จอดรถชั้นใต้ดินถูกรื้อออก เติมสวนน้ำเข้าไปอย่างละมุนละไม ลานจอดรถถูกเปลี่ยนเป็นลานสาธารณะที่จมอยู่ใต้น้ำ กลายเป็นสวนน้ำกลางเมืองที่รายล้อมด้วยพืชพรรณไม้พื้นเมืองอย่างร่มรื่น ส่วนโครงสร้างสถาปัตยกรรมเดิมที่ยังคงอยู่กลายเป็นทางเดิน สวนน้ำแบบมีหลังคาคลุมก่อเกิดร่มเงา ระดับน้ำในสวนปรับตัวขึ้น-ลงตามฤดูฝนและฤดูแล้ง ในช่วงเวลาที่ร้อนของเมือง เครื่องพ่นหมอกน้ำจะทำงานเพื่อลดอุณหภูมิในสวนเพื่อต้อนรับผู้ใช้ ทำให้ลดการใช้เครื่องปรับอากาศในฤดูร้อน พื้นที่สวนถูกวางไว้อย่างยืดหยุ่น มันสามารถกลายเป็นสนามเด็กเล่น พื้นที่ชุมนุม และเวทีสำหรับกิจกรรมหลากหลาย ส่วนโครงสร้างห้างเดิมที่เหลือถูกทุบออกแบบจงใจให้มีรูปร่างชวนสงสัย เป็นประติมากรรมคอนกรีตแปลกตา แต่สามารถปรับเปลี่ยนเป็นร้านค้า ซุ้มร้านขายของ และพื้นที่อำนวยความสะดวกอื่นๆ ได้ในอนาคต

เทคโนโลยีที่ถาโถมทำให้อนาคตกำลังไล่ล่าอดีต ส่งผลต่อปัจจุบันที่ต้องการปรับตัว นักออกแบบที่เห็นโอกาสจะนำเสนอแก่สังคมได้เห็นถึงทางเลือกใหม่ของการปรับตัวตามสายลมแห่งการเปลี่ยนแปลง ดังภาษิตจีนที่ว่าไว้ เมื่อสายลมแห่งการเปลี่ยนแปลงมาถึง บางคนก่อกำแพงหนา บางคนตั้งกังหันลม

แปลและเรียบเรียงจาก: www.mvrdv.com
ที่มา: www.archdaily.com, www.dezeen.com

สาโรช พระวงค์

สถาปนิกผู้ริเป็นนักเขียน และอาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี สนใจในสถาปัตยกรรมที่สร้างคุณภาพที่ชีวิตที่ดีขึ้น เลยมาเขียนเล่าให้ผู้อ่านเป็นเนืองๆ

See all articles