ร.ร. อนุบาลทามัตสึคุริในญี่ปุ่น ปรับโฉมใหม่ เรียนสนุก รู้ประวัติศาสตร์ ใกล้ชิดธรรมชาติ

สถาปัตยกรรมเพื่อการเรียนรู้สำหรับเด็กควรนำเสนอให้เห็นถึงความสัมพันธ์กับท้องถิ่น เพื่อเอื้อให้เกิดการเรียนรู้ต่อสภาพแวดล้อม หนึ่งจากหลายกลวิธีในการออกแบบคือเล่าผ่านประวัติศาสตร์ ผสานเข้าไปกับเรื่องราวในท้องถิ่นผ่านการออกแบบองค์ประกอบต่างๆ ให้เด็กค่อยๆ ซึมซับ เป็นการเรียนรู้แบบค่อยเป็นค่อยไป เป็นการนำเสนอรูปแบบชุดความรู้สู่ภาพจำของเด็กแบบไม่รู้ตัว

จากแนวคิดดังกล่าว ที่โรงเรียนอนุบาลทามัตสึคุริ (Tamatsukuri Kindergarten) จังหวัดชิบะ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งดำเนินกิจการมากว่า 40 ปี จนเมื่อปี 2022 ทางโรงเรียนได้ทำการปรับปรุงอาคารหลัก และมอบหมายให้สถาปนิก นะโอะคิ ฮะชิโมะโตะ และผู้ออกแบบเรขศิลป์ ฮะรุคะ มิสะวะ ร่วมมือกันออกแบบโรงเรียนในโฉมใหม่ โดยที่ตั้งของโรงเรียนอยู่ใกล้ชิดกับป่า แล้วยังมีการค้นพบสุสานโบราณยุคโคฟุง (ช่วง ค.ศ. 250 – ค.ศ. 538) จากที่สภาพแวดล้อมของโรงเรียนเอื้อให้เด็กเรียนรู้ประวัติศาสตร์และธรรมชาติรายรอบได้ง่าย การออกแบบสถาปัตยกรรมสามารถส่งเสริมการเชื่อมโยงระหว่างชีวิตประจำวันกับธรรมชาติและประวัติศาสตร์ให้แก่เด็กได้ไม่ยากเลย ทางเดินรอบอาคารเป็นซุ้มโค้งเรียงตัวไปรอบอาคารทำหน้าที่เป็นตัวแบ่งพื้นที่ระหว่างภายในและภายนอก และยังเป็นส่วนเชื่อมต่อโรงเรียนกับธรรมชาติอย่างค่อยเป็นค่อยไป หน้าต่างบานใหญ่และโถงทางเดินช่วยให้มองเห็นภายในโรงเรียนอนุบาลได้โดยเมื่อมองจากภายนอก และเมื่อมองจากภายใน ซุ้มโค้งทำหน้าที่เป็นกรอบภาพขนาดใหญ่ที่ดึงธรรมชาติเข้ามาสู่โรงเรียน ภายในห้องโถงของอาคารใหม่เป็นสเปซแบบสูงโล่ง 2 ชั้น มีชั้นลอยที่มีโครงสร้างแขวนพื้นจากเพดาน จึงไม่มีเสารับบันไดโค้งที่นำไปสู่ชั้นสอง ก่อเกิดความอิสระในการเคลื่อนไหวของเด็ก ทำให้ไม่กีดขวางกิจกรรมต่างๆ พื้นที่ตรงนี้เป็นส่วนกลางสำหรับงานพิธีต่างๆ อย่างเช่นพิธีการเข้าเรียนและงานเลี้ยงสังสรรค์ พร้อมทั้งใช้เป็นสนามเด็กเล่น เรียนพละศึกษาเป็นต้น สเปซโถงส่วนนี้ออกแบบให้มีช่องแสงจากหลังคา สามารถรับแสงอาทิตย์ตลอดวัน มันช่วยเป็นดั่งนาฬิกาแดดบอกเวลาภายในร่มเงา สร้างปรากฏการณ์ตลอดทั้งวันของการใช้งาน สร้างความรู้สึกเหมือนแสงลอดผ่านเมฆ ผ่านยอดไม้ในป่า

ด้านงานกราฟิก ผู้ออกแบบเรขศิลป์เชื่อว่ารูปแบบงานกราฟิกที่ดีช่วยให้ใช้งานง่าย ตั้งแต่ชื่อชั้นเรียนและห้องประชุม ไปจนถึงห้องน้ำ ป้ายกลางแจ้ง ถูกออกแบบให้เป็นท่อเหล็กทรงกลมที่มีเครื่องหมายง่ายๆ ให้เด็กๆ สามารถจดจำและใช้งานได้ง่าย แต่มีเอกลักษณ์ตกลมกลืนไปทั้งโรงเรียน บางป้ายเป็นวงกลมวงเดียว ในขณะที่ป้ายอื่นๆ เป็นรูปวงกลมรวมกัน ซึ่งเป็นภาพกราฟิกมากพอ อาจจะมีลักษณะคล้ายกับโลโก้ของโรงเรียนที่เป็นรูปช้าง ในขณะที่บางครั้งอาจมีลักษณะคล้ายกับพระจันทร์หรือดอกไม้ ชื่อชั้นเรียนต่างๆ มาจากพืชพรรณที่พบในพื้นที่ของโรงเรียนอนุบาล ได้แก่ ยูซุ ซากุระ อุเมะ มาเมะ และสึบากิ

โรงเรียนมีแนวความเชื่อเรื่องลดการใช้อุปกรณ์สนามเด็กเล่น แต่ต้องการให้นักเรียนออกไปสำรวจและเล่นไปกับธรรมชาติ ป้ายสัญลักษณ์ขยายไปถึงกลางแจ้ง โดยรูปวงกลมจะระบุพื้นที่ต่างๆ ด้านล่างนี้เป็นสัญญาณที่อธิบายถึงสุสานโบราณที่ถูกค้นพบในบริเวณใกล้เคียง

สถาปัตยกรรมที่นี่ จึงเป็นขั้วตรงกันข้ามระหว่างการเปิดสู่ป่าและปิดจากป่า ธรรมชาติและสิ่งที่มนุษย์สร้าง พร้อมให้เด็กได้เติบโตไปพร้อมกับการเล่นที่ดีในอนาคต

แปลและเรียบเรียงจาก: www.spoon-tamago.com
ที่มา: www.japan-architects.com, www.nha.co.jp
Photo:

สาโรช พระวงค์

สถาปนิกผู้ริเป็นนักเขียน และอาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี สนใจในสถาปัตยกรรมที่สร้างคุณภาพที่ชีวิตที่ดีขึ้น เลยมาเขียนเล่าให้ผู้อ่านเป็นเนืองๆ

See all articles