‘หิมพานต์ มาร์ชเมลโล่’ ผลงาน MOTMO Studio เล่าประวัติศาสตร์ผ่านของเล่นชวนคนรุ่นใหม่ใส่ใจศิลปะพื้นบ้าน

ในโลกปัจจุบัน การสร้างสรรค์ผลงานสักโปรเจ็กต์หนึ่งแล้วส่งแรงกระเพื่อมให้เกิดความตื่นตัวต่อสังคมได้นั้นไม่ใช่เรื่องง่ายหรือคิดว่าใครๆ ก็ทำได้ อย่างน้อยต้องเข้าใจสภาพแวดล้อมทางสังคม วัฒนธรรม และรสนิยมของคนร่วมสมัยเป็นอย่างดี ปรากฏการณ์เช่นนี้ได้เกิดกับงานชุด “หิมพานต์มาร์ชเมลโล่” ไปเรียบร้อยอย่างไม่มีใครปฏิเสธ เพราะเป็นกระแสไวรัลในโลกออนไลน์ ทั้งในเฟสบุ๊กและทวิตเตอร์ ด้วยการติดแฮชแทก #หิมพานต์มาร์ชเมลโล่ ติดต่อกันไปหลายวัน ไม่น่าแปลกใจเพราะนี่เป็นผลงานของ ‘หมดโม่สตูดิโอ’ (MOTMO Studio)โดย โม่ – คมกฤษ เทพเทียน ซึ่งเคยสร้างความฮือฮามาจากผลงานชุด ‘อับเฉา ไม่อับเฉา’  ในงาน Bangkok Art Bienale 2018 มาแล้ว

ด้วยความที่ศิลปินเติบโตมากับพระเครื่องและโลกของการ์ตูน จึงนำทั้งสองสิ่งผูกโยงเข้าด้วยกัน หล่อหลอมจนกลายเป็นตัวตนของเขา ซึ่งได้นำเสนอผลงานที่สะท้อนมุมมองศิลปะ Pop Art ได้โดดเด่นต่อเนื่อง ซึ่งทุกชิ้นงานมักตั้งคำถามกับผู้เสพ พร้อมทั้งชี้ชวนให้กลับไปค้นหาที่มาของชิ้นงานนั้นได้เสมอ ไม่ว่าจะเป็นด้านประวัติศาสตร์อย่างตัวอับเฉาหรือหิมพานต์มาร์ชเมลโล่ชิ้นนี้ งานศิลปะก็เหมือนชีวิตที่ต้องการความหลากหลายเพื่อการขยายมุมมอง เติมกิ่งก้านสาขา เติมแต้มลมหายใจให้มีชีวิตต่อไป สัตว์หิมพานต์ทั้งหลายเหล่านี้ล้วนมีตัวตนอยู่ในตำนานความเชื่อที่ดูจะห่างไกลจากความสนใจของคนรุ่นใหม่ แม้จะไปยืนเด่นอยู่ทางเข้าพระอุโบสถตามวัดวาต่างๆ ก็ตาม ส่วนใหญ่แล้วมักโดนครอบงำด้วยรสนิยมช่างชั้นครูที่เน้นความประดิบประดอย ลายไทยอันวิจิตร ทว่าจะมีใครรู้บ้างว่าวัดตามท้องถิ่นทางภาคเหนือและอีสาน มีผลงานช่างพื้นบ้านที่ปั้นกันตามความสามารถเรียบง่าย เป็นนาอีฟอาร์ต ลดทอนส่วนเกินลงจนกลายเป็นมินิมอลลิสต์ไปในตัว ที่สำคัญ…ได้แฝงอารมณ์บริสุทธิ์น่ารักของพื้นถิ่นนั้นลงไปด้วย นี่เองที่เป็นจุดสนใจและวิสัยทัศน์ที่ศิลปินเลือกหยิบมาใช้ในการสร้างงานจนกลายเป็นความแพร่หลายเพราะโดนใจคนรุ่นใหม่

หิมพานต์มาร์ชเมลโล่ชุดนี้ประกอบไปด้วยสัตว์หิมพานต์ 5 ตัว ซึ่งนำต้นแบบมาจากงานปั้นของช่างพื้นบ้านในถิ่นอีสานและทางเหนือ ประกอบด้วย 1) เหรา (เห-รา) – จากวัดชัยภูมิการาม กรุงเทพฯ 2) มอม – จากวัดพระธาตุขามแก่น จ.ขอนแก่น 3) สิงห์ – จากวัดเกาะวาลุการาม จ.ลำปาง 4) นาคสีฟ้า – จากวัดนรวราราม จ.มุกดาหาร  5) นาคสีเขียว – จากวัดโพธิ์ศรีทุ่ง จ.อุดรธานี และทันทีที่เผยแพร่ผลงานก็กลายเป็นเรื่องน่าสนใจของคนรุ่นใหม่ ไม่เพียงแต่เข้าวัดตามถ่ายภาพสัตว์หิมพานต์ที่มีรูปลักษณ์เฉพาะตามท้องถิ่นต่างๆ แล้วส่งภาพมาอวดกันในโลกออนไลน์ บางรายก็สานต่อไปทำแอนิเมชันหรือแม้แต่สร้างรูปการ์ตูนในลักษณะเดียวกัน บรรยากาศสร้างสรรค์คึกคักน่าประทับใจ

ศิลปินโม่ ยังคาดหวังว่านี่จะเป็นช่องทางให้ชนบทได้หารายได้จากการทำของที่ระลึกประจำพื้นบ้านของตนด้วย ทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นถึงกระบวนการสร้างสรรค์ที่ส่งผลกระทบถึงกัน ทั้งในโลกของศิลปะ ศาสนา และสังคมการเรียนรู้ รวมทั้งการเชื่อมโยงมาสู่โลกยุคใหม่อย่างเป็นระบบ ในมุมกลับเราอาจตั้งคำถามกับรูปแบบวัฒนธรรมเชิงอนุรักษ์ที่หยุดนิ่งได้ด้วย เพราะหากไม่หากระบวนการปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยแล้ว สักวันก็อาจจะกลายเป็นสิ่งไกลตัวและแปลกปลอมไปจากการรับรู้ของคนในสังคมได้เช่นกัน

อ้างอิง: www.facebook.com/MotmoStudio

Tags

Tags: , ,

วรัญญู อุดมกาญจนานนท์

Art may not be the only way to brighten the world, but it is essential to create a beautiful life. รักงานสร้างสรรค์อิสระ...งานเขียนเป็นหนึ่งในนั้น เพราะตัวหนังสือคือความคิดที่เชื่อมโลกกับเราไว้ด้วยกัน

See all articles