BASE Office ตึกเก่าเล่าใหม่ในโตเกียวอายุเกือบ 60 ปีกับการใช้พื้นที่ร่วมกันของ 2 สำนักงาน

อีกวิธีในการสร้างสถาปัตยกรรมที่ยั่งยืนคือการเลือกปรับปรุงอาคารเก่าให้มีชีวิตอีกครั้ง ด้วยการใส่กิจกรรมใหม่ให้สัมพันธ์กับบริบทปัจจุบัน มันสามารถลดการใช้อิฐ หิน ปูนซีเมนต์ ช่วยชะลอให้เราทำลายโลกใบนี้น้อยลงด้วยกระบวนการ reuse โดยเฉพาะในประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างญี่ปุ่น การพัฒนาด้วยการสร้างตึกมากมายจากยุคที่เศรษฐกิจเติบโตอย่างมากในยุค 1960-1980 ทำให้การสร้างสถาปัตยกรรมขนาดใหญ่ขึ้นมาใหม่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ยาก การทำความเข้าใจเรื่องปรับปรุงอาคารเก่า หรือ renovation จึงเป็นแนวทางที่ควรเลือกไว้พิจารณา

ในละแวกอาซากุสะบาชิ ย่านไทโตะ กรุงโตเกียว เป็นย่านที่เต็มไปด้วยประวัติศาสตร์ของการทำเครื่องหนังและวัสดุตกแต่ง แต่ในปัจจุบันได้เปลียนแปลงการใช้ที่ดินไปแล้ว จึงมีตึกที่ต้องเปลี่ยนการใช้งาน เช่นตึกคอนกรีตเสริมเหล็กที่สร้างมาตั้งแต่ปี 1964 หลังนี้ ซึ่งกำลังจะถูกเปลี่ยนจากสำนักงานเก่าเป็นสำนักงานสถาปนิก 2 แห่ง จุดเริ่มต้นคือการสร้างโปรแกรมให้เป็นการแชร์กันของ 2 สำนักงาน teco and Unemori Architects พวกเขาสร้างแนวคิดมาจากคำถามที่ว่า รูปแบบของสเปซแบบไหนที่พวกเขาต้องการในการทำงาน เลยจัดการทำการประกวดแบบกันระหว่าง 2 สำนักงาน ผลการแข่งขันนี้ได้คำตอบคือให้เกิดการใช้พื้นที่หมุนเวียน โดยมีพื้นที่ส่วนกลางของทั้งสองสำนักงาน ได้แก่พื้นที่ประชุม ห้องสมุด ส่วนพักผ่อน ครัว ห้องน้ำ โดยที่ทั้งสองสำนักงานมีพื้นที่ของตัวเอง ในชั้นที่ 3 เป็นพื้นที่ของ teco และชั้นที่ 4 เป็นพื้นที่ของ Unemori Architects โดยทั้ง 2 สำนักงานจะไม่มีส่วนบริการพักผ่อนเป็นของตัวเอง แต่มันถูกออกแบบให้แชร์ร่วมกัน จนมีพื้นที่มากขึ้น ดีกว่าการแบ่งซอยออกจนมีขนาดเล็ก แลดูอึดอัด มากกว่าน่าใช้งาน

ประเด็นการสร้างปฏิสัมพันธ์กับชุมชนโดยรอบเป็นการทดลองที่พวกเขาสนใจด้วยเช่นกัน สเปซส่วนที่น่าสนใจคือพื้นที่ชั้น 1 ซึ่งพวกเขานิยามมันว่า SQUARE ซึ่งเป็นพื้นที่ตรงทางแยกของถนน 2 เส้นที่มาเจอกันเป็น 3 แยก อาคารของพวกเขาอยู่ตรงหัวมุมของถนน 2 เส้นที่ชนกัน การใช้สอยส่วนนี้ไม่มีนิยามไม่ตายตัว คล้ายลานจตุรัสกลางเมือง ทางเข้าถูกออกแบบให้เป็นประตูบานเลื่อนขนาดใหญ่ที่สามารถเลื่อนเปิดกว้างจนเชื่อมกิจกรรมภายในชั้น 1 สู่ภายนอกได้ อย่างเช่นในช่วงเทศกาลศาลเจ้าโทริโกเอะที่มีความคึกคัก สเปซที่พวกเขาสร้างไว้รองรับกิจกรรมที่ยืดหยุ่นนี้อาจให้คนภายนอกมาเปิดร้านอาหารแบบวันเดียว หรือจัดกิจกรรมอื่น ๆ นอกเหนือจากที่พวกเขาใช้งานประจำ นอกจากนี้ยังมองปัญหาที่ย่านนี้มีพื้นที่สีเขียวน้อย จึงใส่สวนในชั้น 2 ให้เป็นส่วนพักผ่อนของพวกเขา ในส่วนของชั้น 5 เป็นห้องสมุดที่ทั้ง 2 สำนักงานมาอ่านหนังสือหรือพักผ่อนร่วมกันได้ ส่วนบนสุดคือชั้นที่ 6 เป็นดาดฟ้าที่มีทั้งสวนขนาดย่อม ห้องน้ำแบบเปิดโล่งไว้เป็นพื้นที่สัมผัสท้องฟ้า

แม้ว่าในแง่การออกแบบจะไม่ได้มีการทุบ จนเกิดพื้นที่ใหม่ที่มีรูปแบบน่าสนใจกว่านี้ได้ ด้วยเพราะเหตุผลด้านเทคนิคจากการเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กที่จะเสียกำลังจากการทุบโครงสร้างบางส่วนออก แต่มันก็ทำให้ตึกเก่าหลังนี้สามารถอยู่รองรับแผ่นดินไหวได้อย่างเหมาะสม

แปลและเรียบเรียงจาก: www.a/rchdaily.com
ที่มา: unemori-archi.com

Tags

Tags: , ,

สาโรช พระวงค์

สถาปนิกผู้ริเป็นนักเขียน และอาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี สนใจในสถาปัตยกรรมที่สร้างคุณภาพที่ชีวิตที่ดีขึ้น เลยมาเขียนเล่าให้ผู้อ่านเป็นเนืองๆ

See all articles