‘ห้องสมุดและศูนย์ศิลปะเด็กหูต่ง’ เชื่อมชุมชนเก่า 400 ปีเข้ากับโลกใหม่ด้วยการเรียนรู้

สถาปัตยกรรมสามารถทำหน้าที่ฟื้นฟูชุมชนเก่าได้อย่างไร ในขณะที่กระแสของใหม่เข้าถาโถมทับของเก่าอยู่เป็นประจำ แม้ว่าเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่เราสามารถเลือกได้ว่าจะใช้วิธีไหน

ณ ลานล้อมด้วยบ้านขยาดย่อมใต้ต้นแอชในกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน ห่างจากจัตุรัสเทียนอันเหมินราว 1 กิโลเมตร จะพบกับชุมชนหมายเลข 8 ที่มีอายุราว 300-400 ปี เคยผ่านร้อนผ่านหนาวเปลี่ยนการใช้งานตามชุมชนที่เปลี่ยนไป จากเคยเป็นวัดในชุมชน จนยุค 1950 ได้เปลี่ยนเป็นบ้าน จวบจนช่วงปี 2010 ได้กลายสภาพเป็นกลุ่มบ้านแออัด ไม่น่าใช้งาน จนได้มีการเสนอโปรแกรมใหม่เข้าไปกระตุ้นบ้านล้อมลานนี้ให้มีชีวิตอีกครั้ง จาง เค จากสำนักงาน ZAO/standardarchitecture ได้รับบทบาทเป็นสถาปนิกที่เข้ามาปรับปรุงพื้นที่เก่านี้ให้เป็นห้องสมุดและศูนย์ศิลปะชุมชนหูต่ง

สถาปนิกออกแบบให้พื้นที่ใหม่เข้าไปแทรกพื้นที่เก่าจากแนวคิด redesign, renovate และ re-use เป็นการรื้อส่วนพักอาศัยเดิมที่ทรุดโทรมมากตรงรอบต้นแอช แล้วเติมพื้นที่อเนกประสงค์ขนาด 9 ตารางเมตร ที่สามารถให้เด็กเข้าไปเล่นกับสถาปัตยกรรมให้มากที่สุด ทั้งพื้นที่ภายในกล่องอิฐ หรือเดินขึ้นบันไดไปยังหลังคาใต้ต้นแอช นอกจากปรับปรุงส่วนลานหลักแล้ว พื้นที่บ้านเก่ารายรอบได้ทำการปรับปรุงเป็นศูนย์ศิลปะ หน้าที่ของมันรองรับกิจกรรมหลายหลาก เป็นพื้นที่อเนกประสงค์ให้ผู้คนในชุมชนเข้ามาเชื่อมหากันได้ กิจกรรมที่ทั้งศิลปะการคัดลายมือ ศิลปะการพับกระดาษ อ่านหนังสือ หรือการเล่นต่างๆ ที่ปรับไปตามวาระ หากมองไปยังรายละเอียด วัสดุที่เลือกใช้มีความเชื่อมโยงกับเนื้อหาของอดีต ไม่ว่าการจะเลือกใช้อิฐเผาสีเทาแบบสถาปัตยกรรมดั่งเดิม หรือจะใช้วัสดุใหม่อย่างคอนกรีตเปลือย ก็ควบคุมโทนสีให้มีความกลมกลืนกับของเก่าอย่างดี

สถาปัตยกรรมที่ช่วยโลก ไม่จำเป็นต้องคาดหวังด้วยเสกลขนาดใหญ่ แต่มันสามารถเป็นอะไรเล็กๆ  ที่รวมจากหน่วยย่อยจนเป็นหน่วยใหญ่กระจายกันไป ให้ทำหน้าที่ส่งเสริมกันและกันด้วยความเล็กก็เป็นได้

อ้างอิง: www.standardarchitecture.cnwww.akdn.org

สาโรช พระวงค์

สถาปนิกผู้ริเป็นนักเขียน และอาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี สนใจในสถาปัตยกรรมที่สร้างคุณภาพที่ชีวิตที่ดีขึ้น เลยมาเขียนเล่าให้ผู้อ่านเป็นเนืองๆ

See all articles