‘พัชนา มหพันธ์’ ปลูกฝังวิชาชีวิตยั่งยืนกว่าวิชาการกับโรงเรียนปัญญาประทีป

จากประสบการณ์ในวัยเด็กที่ชอบทำกิจกรรมนอกห้องเรียนมากกว่าเรียนหนังสือในห้อง พัชนา มหพันธ์ หรือ ครูแจ๊ด ของเด็กๆ หลายคนจึงเชื่อว่าการเรียนรู้ไม่ได้มีอยู่แค่ในตำรา แต่ยังมีวิชาความรู้นอกห้องเรียนอีกมากมายที่เป็นประโยชน์ต่อการใช้ชีวิตของพวกเราทุกคน ครูแจ๊ดเริ่มต้นอาชีพด้านการศึกษาที่โรงเรียนทอสี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542 โดยได้รับความไว้วางใจและโอกาสจาก ครูอ้อน – บุปผาสวัสดิ์ รัชชตาตะนันท์ (ผู้อำนวยการ โรงเรียนทอสี) ให้ช่วยดูแลหลักสูตรการเรียนการสอนของชั้นประถมศึกษา และเมื่อโรงเรียนทอสีเปิดโรงเรียนประจำสหศึกษา ระดับมัธยม ขึ้นที่อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา นั่นคือ โรงเรียนปัญญาประทีป ครูแจ๊ดก็เข้ามาเป็นครูอีกคนหนึ่งของโรงเรียนที่ตั้งใจส่งต่อพุทธปัญญาให้กับเด็กๆ ที่กำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของวัยรุ่น

แม้ปัญญาประทีปจะเป็นโรงเรียนที่จัดอยู่ในกลุ่ม ‘โรงเรียนประจำ’ แต่คุณครูแจ๊ดขอใช้คำว่า ‘โรงเรียนบ่มเพาะชีวิต’ เพราะเชื่อว่าชีวิตของเราทุกคนจะมีคุณค่าได้ด้วยการฝึกฝนพัฒนาทั้งร่างกายและจิตใจให้สัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติและทางสังคม การศึกษาจึงไม่ได้เท่ากับการสอนวิชาการและวิชาชีพอย่างที่สังคมส่วนมากให้คุณค่า แต่การศึกษา คือการพัฒนามนุษย์ทั้งด้านพฤติกรรม จิตใจ และปัญญาอย่างเป็นองค์รวม

จากฝันเป็น ‘นายกฯ’ สู่การเป็น ‘ครู’

“ตอนเด็กๆ แจ๊ดไม่ได้มีความคิดชัดเจนว่าโตขึ้นอยากทำอะไร รู้ แต่ว่าอยากทำงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาชาติ เคยคิดว่าอยาก เป็นนักการเมือง เป็นทูต หรือแม้แต่อยากเป็นนายกเลยด้วยซ้ำ ที่คิดแบบนี้ ปัจจัยที่สำคัญที่สุดน่าจะมาจากการที่ตัวเองได้เติบโตในครอบครัวที่อบอุ่นมาก และมีความพร้อมด้านปัจจัยพื้นฐานของชีวิตระดับหนึ่ง แต่อีกปัจจัยสำคัญที่ทุกวันนี้แจ๊ดก็ยังระลึกถึงเสมอ คือ เราโตมาในยุคของรายการทีวีเด็กที่ชื่อ ‘สโมสรผึ้งน้อย’ ซึ่งเป็นสื่อที่มีอิทธิพลและส่งต่อพลังงานให้กับเด็กๆ มากที่สุดในยุคนั้น ต้องขอบพระคุณน้านิต (ภัทรจารย์ อัยศิริ) ที่เป็นผู้คิดริเริ่ม สร้างสรรค์รายการนี้ น้านิตพาให้เด็กเห็นสิ่งที่ดีงาม ไปพร้อมๆ กับเห็นปัญหาที่กำลังจะเกิด หรือที่เกิดขึ้นแล้วในสังคม และแจ๊ดเองก็ได้มีโอกาสทำงานเป็นสมาชิกสโมสรผึ้งน้อย จึงถือเป็นอีกต้นทุนชีวิตที่สำคัญที่ทำให้เรากลายเป็นคนที่สนุกกับการทำกิจกรรมและการทำงานเพื่อส่วนรวมมาตลอด”

“ตอนเป็นนักศึกษาปี 1 แจ๊ดได้ไปใช้ชีวิตที่ญี่ปุ่นประมาณเกือบสองเดือน ได้ไปอยู่กับ host family ที่เต็มไปด้วยครู คือ ทั้งพ่อ แม่ และยายเป็นคุณครูกันหมด แล้วคุณแม่ซึ่งเป็นคุณครูอนุบาล ก็ชวนเราไปเป็นอาสาสมัครทำงานในโรงเรียนอนุบาล ทำให้เราได้เห็นความเป็นครูของญี่ปุ่นบางส่วน เห็นการศึกษาของญี่ปุ่นในระดับอนุบาลที่เราประทับใจมาก”

การศึกษาสำคัญที่สุด

“เรื่องที่ประทับใจมากที่สุดจากการไปญี่ปุ่นครั้งนั้น คือเรื่องของเด็กคนนึงที่ชื่อ โยชิคุง เขาเป็นเด็กอนุบาลที่ดูอ่อนแอกว่าเพื่อน เรียนไม่ค่อยทันเพื่อน แต่เด็กคนนี้ติดเรามาก เราเองก็ติดเขา ทุกวันพอไปถึงโรงเรียนก็จะมองหาเขาตลอด วันนึงที่โรงเรียนจัดงานกีฬาสี เด็กๆ ทุกคนต้องลงแข่งวิ่ง โยชิคุงก็ลงแข่งด้วย แต่พอครูเป่านกหวีดปิ๊ด วิ่งไปได้นิดเดียว ปรากฎว่าโยชิคุงก็หกล้มแล้วร้องไห้ดังลั่นเลย สิ่งที่เราเห็นแล้วยังประทับใจจนถึงทุกวันนี้ คือ ครูเดินเข้าไปดูด้วยความนิ่งสงบแต่อบอุ่น ว่าโยชิคุงมีแผลบาดเจ็บตรงไหนหรือเปล่า  แล้วก็พาโยชิคุงเดินออกมานั่งข้างๆ ครู พูดอะไรบางอย่างกับโยชิคุง แต่เราไม่ได้ยิน จนพอทุกคนวิ่งจบ ครูก็เดินไปพาโยชิคุงออกมาที่ลู่วิ่งอีกครั้ง แล้วก็พาวิ่งไปด้วยกันจนถึงเส้นชัย ท่ามกลางเสียงตะโกนและปรบมือให้กำลังใจจากเพื่อนๆ คุณครู และผู้ปกครองทุกคน”

“วินาทีที่เห็นครูทำอย่างนั้นกับโยชิคุง เราน้ำตาไหลเลย แล้วก็คิดว่าการศึกษาสำคัญที่สุด เพราะครูจะเลือกโอ๋เด็กก็ได้ แต่นั่นก็อาจจะทำให้เด็กอ่อนแอ หรืออย่างที่ตัวเองเคยมีประสบการณ์มาตอนเด็กคือ ครูจะดุมากจนเรารู้สึกอึดอัด หวาดกลัว ทำให้เราเป็นเด็กที่ไม่อยากไปโรงเรียนเลย แต่ครูของโยชิคุงมีความเข้าใจธรรมชาติของเด็กแต่ละคน เข้าใจจุดอ่อน และรู้ว่าจะเสริมจุดแข็งของเด็กแต่ละคนยังไง ด้วยความเมตตาและปัญญา ครูทำให้โยชิคุงซึ่งอาจจะพลาดพลั้ง ล้มลงในเวลานั้น กลับมีพลังลุกขึ้นมาสู้กับตนเองใหม่”

“ภาพเหตุการณ์ในครั้งนั้น ทำให้เราเห็น ว่าการศึกษาสำคัญมากที่สุด ถ้าเรามัวแต่ไปพัฒนาด้านอื่น แต่ละเลยการพัฒนาคนอย่างถูกต้อง มันจะเกิดอะไรขึ้น”

โรงเรียนพุทธปัญญา

“หลังจากเรียนจบปริญญาโทกลับมาเมืองไทย แจ๊ดเห็นประกาศรับสมัครครูของโรงเรียนทอสีว่า ‘รับสมัครครูรุ่นใหม่ไฟแรง พร้อมพัฒนาการศึกษาไทย’ เราอ่านแล้วตบโต๊ะเลย คิดว่ามันใช่เราเลย ตอนนั้นไม่เคยได้ยินชื่อโรงเรียนทอสีมาก่อน ไม่รู้จักเลย แต่ใจนี่เต้นตึกตัก ทำข้อสอบเข้าและสอบสัมภาษณ์อย่างมีความสุขมาก แล้วก็ได้รับความเมตตาจากครูอ้อนให้ทำงานที่ทอสีตั้งแต่กุมภาพันธ์ ปี 2542″

“ทอสีในตอนแรกเริ่มก่อนที่จะเป็นโรงเรียนพุทธปัญญา เคยเป็นโรงเรียนอนุบาลที่เน้นให้เด็กเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติ ให้ทำการงานต่างๆในชีวิต เป็นการเตรียมความพร้อม เพราะครูอ้อนเห็นว่าที่ผ่านมาการเรียนรู้ของเด็กถูกเน้นเรื่องวิชาการมาโดยตลอด นั่งนิ่งๆ กับโต๊ะเรียนแคบๆ ในพื้นที่จำกัด ไม่ให้คุย เล่น แบ่งปันของ หรือฝึกทักษะการอยู่ร่วมกับเพื่อน ไม่ได้เคลื่อนไหวกาย ไม่มีโอกาสสัมผัสธรรมชาติ หรือสำรวจโลกใบนี้ที่ยังเป็นสิ่งแปลกใหม่มากสำหรับเด็ก ซึ่งขัดกับพัฒนาการของเด็กวัยนี้ และต่อมาครูอ้อนก็เริ่มศึกษาธรรมะอย่างจริงจังมากขึ้น และพบว่าที่จริงหลักพุทธศาสนา คือระบบการศึกษาที่ถูกต้องสมบูรณ์ที่สุดสำหรับการพัฒนามนุษย์ การศึกษาไม่ใช่การสอนวิชาการเพื่อจะส่งเด็กให้เข้าเรียนต่อในระดับถัดไป หรือเข้าสู่การทำงานเท่านั้น


‘วิชาชีวิต’ ยั่งยืนกว่า ‘วิชาการ’

“ที่ปัญญาประทีป เด็กๆ จะได้เรียนรู้ทั้งวิชาการ วิชาชีพ และที่สำคัญที่สุดคือ วิชาชีวิต การบ่มเพาะชีวิตเด็กๆ ที่นี่ เราเปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้ลองฝึกกำกับวินัยของตนเองตามกิจวัตรประจำวันต่างๆ  เด็กๆ จะได้ฝึกความเข้มแข็งทางจิตใจด้วยการลุกจากที่นอนตั้งแต่ฟ้ายังไม่สางมาวิ่งรอบโรงเรียน ได้กำหนดสติจดจ่อกับการทำวัตร – นั่งสมาธิทั้งเช้าและเย็น ฝึกทำงานเป็นทีมรูปแบบต่างๆ อยู่กันแบบพี่ดูแลน้อง เรียนรู้งานล่วงหน้า แต่ละกลุ่มจะทำงานร่วมกัน โดยเฉพาะการทำความสะอาดพื้นที่ส่วนกลางของโรงเรียน เช่น บริเวณโรงอาหาร ที่ล้างจาน โรงยิม ฝึกการกินอยู่ที่พอเพียง พอดี กินอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย เด็กปัญญาประทีปจะถูกฝึกไม่ให้กินน้ำหวาน น้ำอัดลม ขนมกรุบกรอบ ตลอดเวลาที่อยู่โรงเรียน นี่ก็ไม่ง่ายแล้วนะคะ แต่ที่ยากที่สุดสำหรับวัยรุ่นยุคนี้ น่าจะเป็นการฝึกใช้ชีวิตโดยปราศจากโทรศัพท์มือถือตลอดสองอาทิตย์ที่อยู่โรงเรียนค่ะ แม้เด็กๆ จะมีเวลาได้ใช้อินเตอร์เนตในเวลาที่จำกัดจากคอมพิวเตอร์ที่โรงเรียนจัดไว้ให้ แต่ก็นับเป็นการได้ฝึกใช้เทคโนโลยีโดยไม่ตกเป็นทาสของมัน”

“นอกจากเด็กๆ จะได้ฝึกความสัมพันธ์ของตนเองกับวัตถุและเทคโนโลยีแล้ว เรายังฝึกให้เด็กๆ อยู่ร่วมกันแบบกัลยาณมิตร โดยเรามีเครื่องมือสำคัญที่เรียกว่า ‘วงกลมกัลยาณมิตร’ ให้เด็กๆ ได้มีพื้นที่ฝึกการขอบคุณ ขอโทษ ชื่นชม และแนะนำตักเตือนกันแบบใช้ปัญญากำกับ เป็นการคลายปม แก้ไข และป้องกันปัญหากันอย่างเป็นมิตร เปิดเผย และจริงใจต่อกัน นี่เป็นตัวอย่าง ‘วิชาชีวิต’ ที่เราตั้งใจออกแบบให้เด็กๆ ของเราได้ฝึกฝืน เพื่อให้เขามีสติและปัญญาเป็นที่พึ่งของตนเอง เพราะเรามั่นใจว่าเด็กๆ จะได้ใช้ ‘วิชาชีวิต’ นี้กันไปตราบลมหายใจสุดท้าย ของชีวิตอย่างแน่นอน ไม่เหมือนกับวิชาการ วิชาชีพที่หมดอายุอย่างรวดเร็ว เพราะ เปลี่ยนแปลงตามยุคสมัยและตลอดเวลา”

ครูนอกห้องเรียน

“เรายังมองว่าคนที่เป็นครูของเด็กๆ ต้องไม่จำกัดอยู่แค่ครูในโรงเรียน ผู้ใหญ่ใจงามพร้อมกับความรู้ ความสามารถ ความชำนาญที่หลากหลายมีมากมายเหลือเกินในสังคมไทย ที่ปัญญาประทีปจึงมีกิจกรรมที่เรียกว่า PPS สุดสัปดาห์ เป็นกิจกรรมวันเสาร์ในสัปดาห์ที่นักเรียนไม่ได้กลับบ้าน โดยเราจะเชิญคนจากแวดวงต่างๆ มาสอนให้ความรู้กับเด็กๆ หรือให้เด็กๆ ได้ออกไปเรียนรู้จากท่านทั้งหลาย เช่น ลุงเปี๊ยก โปสเตอร์ ท่านมาช่วยสอนการทำหนังสั้น, ดร.สมเกียรติ อ่อนวิมล ช่วยสอนเด็กๆ เรื่อง Hate Speech และการคิดวิเคราะห์เชิงวิพากษ์ (Critical Thinking), พี่ๆ ทีมงานบริษัททีวีบูรพามาช่วยสอนทำสื่อสารคดี, พี่ต่อ ธนญชัย (บริษัทฟีโนมีน่า) มาสอนวิเคราะห์โฆษณา เพื่อให้เด็กๆ รู้จักคิดเท่าทันสื่อ, คุณครูและผู้ปกครองพยายามช่วยกันหากิจกรรมที่มีประโยชน์กับชีวิตของเด็กๆ มาให้เขาได้เรียนรู้ ได้ใช้เวลาในวันหยุดสุดสัปดาห์อย่างมีคุณค่า”

ทำไมต้อง ‘โตก่อนโต’

“ย้อนกลับไปในวันที่ตัวเราเป็นเด็ก ม.3 ต้องบอกว่าเราไม่ได้รู้ไม่สนใจเท่าไรหรอกว่า เราอยากจะทำอะไรในอนาคต เป้าหมายในชีวิตของเราคืออะไร เรารู้แต่ว่าจบ ม.3 แล้วต้องสอบเข้าเพื่อต่อม.ปลาย แล้วเราก็ต้องเลือกว่าจะเรียนสายอะไร ตอนนั้นเราน่าจะเลือกตามเพื่อนตามกระแส โดยที่ยังไม่รู้ว่าจะเรียนไปเพื่ออะไรด้วยซ้ำ ทีนี้พอเราได้มีโอกาสดูแลทำหลักสูตรให้เด็กๆ ก็สนุกสิ เราเลยจัดให้เด็กๆ ชั้นม.3 ได้ทำแบบประเมินเพื่อให้รู้จักตนเองมากขึ้น เรียกว่า ‘หมอดูตนเอง’ ให้ เด็กๆ เขียนเป็น mind map ว่าตนเองอยากทำอะไรในอนาคต ตอนนี้มีความสนใจอะไร มีความสามารถอะไร และอะไรคือสิ่งที่เราทำอยู่ทุกวัน พอเด็กๆ ได้ลองสำรวจ ทบทวนตนเองและเขียนออกมา  แล้วเราก็ชวนเขามาคุยกันเป็นรายบุคคล ให้เขาลองเลือกที่จะออกไปเรียนรู้จักงาน ด้วยการ ‘เป็นเงาตามงาน’ (Job Shadowing) เด็กๆ จะฝึกการตัดสินใจ ตั้งเป้าหมาย วางแผนงานเรื่องเวลา หัดเขียนอีเมลติดต่อที่เป็นทางการ เขียน cover letter หรือ resume เอง และเดินทางไปฝึกงานด้วยตนเองประมาณหนึ่งสัปดาห์ หลังจากฝึกงาน เด็กๆ จะเขียน proposal ว่าเขาจะทำโปรเจ็กต์อะไรที่ได้ความรู้มาจากการฝึกงาน เช่น เด็กที่ ไปฝึกงานด้านสถาปัตยกรรมก็อาจจะกลับมาทำโปรเจ็กต์เกี่ยวกับการออกแบบ พอจบเทอมก็จะมีการพรีเซนต์ มีทั้งผู้ปกครองและรุ่นน้องในโรงเรียนเข้ามาดู นี่เป็นตัวอย่างกิจกรรมให้ฝึกการเดินแต่ละก้าวของชีวิตตนเองด้วยสติสัมปชัญญะ กำหนดเป้าหมาย วางแผน กำกับตนเองให้ทำสิ่งต่างๆ ตามแผนที่วางไว้ ระหว่างทางอาจต้องเจออุปสรรค ฝึกคิดวิเคราะห์แก้ปัญหาเหมือนผู้ใหญ่ ซึ่งเราคิดว่าเขาควรต้องฝึกตั้งแต่วันนี้ เราจึงเรียกวิชานี้ว่า ‘โตก่อนโต’

โรงเรียนของลูก โรงเรียนของพ่อแม่

“ในกิจกรรมช่วงสุดสัปดาห์ทั้งหมด รวมถึงวันอาทิตย์ในช่วงครึ่งวันเช้าที่เราจะให้เด็กๆ ได้ปฏิบัติธรรม ฝึกสมาธิ พ่อแม่ผู้ปกครองสามารถมาร่วมกิจกรรมด้วยได้ การเรียนรู้ของพ่อแม่เป็นสิ่งสำคัญ เพราะถ้าพ่อแม่อยากให้ลูกรู้จักควบคุมอารมณ์ได้ แต่พ่อแม่กลับทำไม่ได้ ไม่อยากให้ลูกติดเกม แต่พ่อแม่ติดมือถือเสียเอง คิดว่าจะเกิดอะไรขึ้น ซึ่งความเป็นจริง ครูและพ่อแม่ก็ยังต้องเรียนรู้ ต้องพัฒนาตนเองอยู่เช่นกัน นักเรียนของปัญญาประทีปจึงมีสองระดับ ทั้งระดับเด็ก และระดับผู้ใหญ่ คือผู้ปกครอง และครู และตามหลักพระพุทธศาสนา คุณจะจบการศึกษาได้ก็ต่อเมื่อคุณนิพพานแล้วเท่านั้น”

ความภูมิใจของปัญญาประทีป ไม่ใช่ผลสอบเข้ามหาวิทยาลัย

“เราบอกผู้ปกครองที่มาเยี่ยมชมโรงเรียนในวัน Open House เสมอว่า ที่เด็กของเราสอบติดคณะและมหาวิทยาลัยนั่นนี่ไม่ใช่สิ่งสำคัญเท่ากับการที่เด็กๆ แต่ละคนได้ไปตามทางที่เขาเลือก ที่สนใจ และพยายามกำกับตนเองไปให้ถึงที่หมายนั้น นักเรียนมากกว่า 95% ได้ไปในทิศทางที่ตรงกับสิ่งที่ตัวเองฝึกงานตอนม.3 หรือ ม.6 แล้วเด็กๆ เองก็ไม่ต้องกลัวว่าถ้าเขาเข้ามหาวิทยาลัยไม่ได้ หรือเลือกที่จะไม่ไปต่อในมหาวิทยาลัย แล้วครูหรือโรงเรียนจะผิดหวัง เพราะเราเชื่อว่าการเรียนรู้ของมนุษย์เกิดได้ทุกที่ ทุกเวลา การเรียนในมหาวิทยาลัยเป็นแค่รูปแบบหนึ่งเท่านั้นเอง และก็ไม่แน่ว่า เข้ามหาวิทยาลัยได้แล้วจะได้เรียนรู้ ขอเพียงแค่เด็กๆ รักที่จะทำดี และไม่หยุดที่จะเรียนรู้”

สิ่งที่ยากที่สุดคือ ตัวเอง

“ในการสอนเด็ก สิ่งที่ยากที่สุดคือตัวเอง เพราะการที่เราจะพัฒนาใครสักคน เราต้องพัฒนาตัวเองไปด้วย การพัฒนาตัวเองก็อย่างเช่น เราจะมานั่งติดกรอบว่า ทำไมเด็กยุคนี้ไม่เห็นเหมือนตอนเราเป็นเด็กเลย ไม่ได้ เราต้องฝึกคิดใหม่ อยู่กับปัจจุบัน ยอมรับสิ่งที่เขาเป็น และหาทางว่าจะช่วยเขาได้ยังไงบ้าง เด็กยุคนี้เจออะไรที่ตื่นเต้น เขาเจอสิ่งเร้าจากภายนอกเยอะมาก เราก็ต้องคอยอัพเดทและอัพเกรดตัวเองอยู่ตลอดเวลา ต้องมองอย่างใจเป็นกลาง และเปิดตา เปิดหู เปิดใจ มองว่าท่ามกลางสิ่งแวดล้อมสภาพสังคมแบบนี้ เราจะช่วยส่งเสริม ‘พลังงาม’ ของพวกเขาแต่ละคนให้งอกงามขึ้นได้ยังไง โดยเราต้องทำงานร่วมกับผู้ปกครอง นี่คือความท้าทายที่มีคุณค่าอย่างยิ่งสำหรับชีวิตแจ๊ด”

สุขอย่างเดียวไม่พอ ต้องเป็นประโยชน์ด้วย

“หลังจากที่ได้มีโอกาสทำงาน ‘ครู’ มาจนกำลังจะเข้าสู่ปีที่ 20 สิ่งที่ยังคงอยากทำมากที่สุดในวันนี้ก็ยังคงเป็นการได้ขัดเกลาตนเองไปพร้อมกับเด็กๆ เด็กๆ นี่ล่ะคือครูของเรา ตัวแจ๊ดเองรู้สึกมาตลอดว่าเรามีบุญมากเหลือเกินท่ีได้ทำงานนี้ งานที่ได้พัฒนาตนเองอยู่เสมอ ได้มีครูบาอาจารย์คอยชี้แนะ มีหัวหน้าและเพื่อนร่วมงานที่น่ารักที่สุดในโลก นี่คือความสุข เป็นงานที่สร้างสรรค์อย่างแท้จริง เพราะสำหรับแจ๊ด สร้างสรรค์ ไม่ได้มีความหมายเท่ากับแปลกใหม่เท่านั้น แต่สร้างสรรค์คือความ คิด การกระทำที่ดีงามและเป็นประโยชน์ การใช้ชีวิตที่สร้างสรรค์ จึงเป็นการใช้ชีวิตที่มีประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่น ทำแล้วมีความสุขอย่างเดียวไม่พอ ต้องมีประโยชน์ด้วย”

ภาพถ่ายบุคคล: ศรันย์ แสงน้ำเพชร
ขอบคุณภาพถ่ายกิจกรรมการเรียนรู้ในโรงเรียนปัญญาประทีปจาก: Facebook: PanyaprateepSchoolPage

ธันยพร ห.

อดีตคนทำงานนิตยสาร (HOW-To, Vaczine, Esquire, Wallpaper* Thailand, art4d) ในยุคสื่อสิ่งพิมพ์รุ่งเรือง ปัจจุบันเป็นนักเขียน/นักแปล/บรรณาธิการอิสระ มีผลงานทั้งบทความศิลปะ งานออกแบบ สุขภาพกาย-ใจ สิ่งแวดล้อม และวรรณกรรม

See all articles